16 มกราคม 2564 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom หลังตัดสินใจเดินทางไปบ้านแม่เกิบ ต.นาเกียม อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อเผยความจริงของหมู่บ้านแห่งนี้ โดยระบุว่า หลังจากที่มีกระแสดราในโลกโซเชียล เกี่ยวกับบ้านแม่เกิบ และนักเรียนในโครงการศศช.บ้านแม่เกิบ ผมได้เข้ามาค้นหาความจริงในพื้นที่ พบว่า
1.เส้นทางเดินทางสู่บ้านแม่เกิบ เป็นเส้นทางที่ลำบากมากๆ แม้แต่รถของคณะร่วมเดินทาง ไม่สามารถมาถึงได้ 1 คัน ต้องจอดทิ้งไว้บ้านชาวบ้านกลางทาง ใช้เวลาเดินทางจากตัวอำเภออมก๋อยประมาณ 5 ชั่วโมง คนที่สามารถเดินทางมาที่นี่ได้ ต้องมีแรงบันดาลใจมากพอสมควร
2.บ้านแม่เกิบ เป็นหย่อมอาศัยของประชาชนของหมู่ที่ 15 ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย ซึ่งหมู่บ้านนี้มี 3 หย่อม แต่ละหย่อมห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร บ้านแม่เกิบอยู่ห่างไกลที่สุด
3.ตลอดเส้นทางการเดินทาง สามารถสื่อสารอินเตอร์เน็ตได้ แต่ละหมู่บ้านส่วนใหญ่มีไฟฟ้า ยกเว้นหมู่บ้านห่างไกล เช่น บ้านแม่เกิบ แต่ก็มีโครงการไฟฟ้าแผงโซลาร์ ช่วยเหลือประชาชนมาก่อนแล้ว เพียงแต่มีปัญหาเรื่องการบำรุงรักษา ชำรุด และไม่ทั่วถึง ไม่ใช่ไม่เคยมี
4.ศศช.บ้านแม่เกิบ มีไฟฟ้าโดยแผงโซลาร์มาก่อน มีโครงการไวไฟของ กสทช.มาก่อน มีทีวีจอเล็กมาก่อนหน้านี้เช่นกัน แต่ใช้การได้ไม่เต็มร้อย มีประสิทธิภาพลดลง
5.โครงการแผงโซลาร์ที่เป็นดรามา มีส่วนช่วยเติมเต็มระบบไฟฟ้าของศศช.บ้านแม่เกิบ ทำให้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ไฟฟ้าได้ทั้งคืน รวมทั้งสามารถใช้ตู้เย็น เพื่อเก็บอาหารสด สำหรับนักเรียนได้
ประเด็นสำคัญคือโครงการแผงโซลาร์นี้ มีกลุ่มจิตอาสากลุ่มหนึ่ง เป็นผู้เริ่มริเริ่ม และเริ่มต้นโครงการนำมาก่อน ไม่ใช่การเริ่มต้นของโครงการดรามา
6.ประชาชนบ้านแม่เกิบ จะทำข้าวไร่ ปีละ 1 ครั้งในฤดูฝน และถือโอกาสหว่านเมล็ดผักไปด้วย ปกติจะไม่ได้ปลูกผักในฤดูอื่นเพราะขาดแคลนน้ำ แต่เก็บผักตามฤดูกาล
การปลูกผักของโครงการดรามา จึงไม่ใช่วิถีชีวิต แต่ก็มีส่วนช่วยโครงการผักอาหารกลางวันแก่นักเรียน ปัญหาคือ การนำผักสลัดขึ้นมาให้ปลูกนั้นไม่ใช่ผักที่ประชาชนและเด็กบริโภค เหมาะสำหรับประชาชนในเมือง ที่สำคัญคือ โครงการผักที่นำเข้ามาตอนนี้ ไม่มีระบบน้ำรองรับ ต้องใช้การรดน้ำตามวิถีปกติ
7.ปกติแล้วนักเรียน ศศช.บ้านแม่เกิบ ได้ใส่รองเท้ามาโรงเรียนตามปกติ แต่คุณภาพแตกต่างกัน มีชำรุดบ้าง เก่าบ้างตามกาลเวลา ไม่ใช่ไม่เคยใส่รองเท้ามาก่อน
8.อาหารกลางวันของเด็กที่นี่ถือว่าคุณภาพใช้ได้ มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์และไข่ ส่วนใหญ่เป็นไข่ต้ม และมีไข่ทอดบ้าง(ไข่เจียว)วัฒนธรรมการกินไข่ของประชาชนที่นี่คือ ไข่ต้ม และไข่คั่ว และอาหารส่วนใหญ่ไม่ใช้น้ำมัน เน้นต้ม และแกง ในชีวิตปกติจึงไม่คุ้นกับไข่เจียว
9.การที่บอกว่าที่นี่คือมนุษย์ถ้ำคงไม่ถูกต้อง เพราะที่นี่มีสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต 3 จี แต่ต้องใช้ซิมของทีโอทีเท่านั้น ซึ่งมีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่มีปัญหาประสิทธิภาพเรื่องการบำรุงรักษาแผงโซลาร์ ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานลดลง
10.ต้องขอขอบคุณโครงการดรามาบ้านแม่เกิบ ที่ทำให้สังคมไทยตื่นตัว ในการพัฒนาพื้นที่ห่างไกล แต่ก็สร้างบาดแผลในหัวใจของครูในพื้นที่ พวกเราทุกคนต้องช่วยกันส่งแรงใจให้คุณครู ไม่เพียงแต่คุณครู กศน.ของศศช.บ้านแม่เกิบ แต่รวมถึงครูศศช.ทั่วประเทศ
11.โครงการศศช.มีส่วนพัฒนาการเรียนรู้แก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล และมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาความสามารถอ่านออกเขียนได้ อบรมอาชีพ และสุขอนามัยของประชาชน ได้รับทราบว่าสมเด็จพระเทพฯ พระองค์ท่านให้ความสำคัญมากกับโครงการนี้ พระองค์ท่านได้เสด็จเยี่ยมเป็นประจำ ในพื้นที่ต่างๆ
12.สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการการช่วยเหลือที่ยั่งยืนจากราชการ รัฐบาลนั่นคือ ถนน ไฟฟ้าและระบบน้ำประปา #ช่วยให้กำลังใจครูศศช.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี