1.ในระบบราชการโดยเฉพาะข้าราชการพลเรือน เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 จะพบว่าจะมีหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่เลย แต่บางกรณีพ้นจากหน้าที่แต่ยังคงดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ นอกจากนั้นบางกรณีก็พ้นจากตำแหน่งและหน้าที่เป็นการชั่วคราว ดังปรากฎในมาตรา 69 การสั่งให้ประจำส่วนราชการ มาตรา 70 การสั่งให้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทนและ มาตรา 101 การสั่งพักราชการหรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
2.นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ยังมีกรณีที่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถใช้อำนาจของตนในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของส่วนราชการนั้น สั่งให้ข้าราชการในสังกัดไปช่วยปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นของส่วนราชการนั้น หรือส่วนราชการอื่นก็ได้ ดังปรากฎความเป็นผู้บังคับบัญชา ตามมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 28 และมาตรา 32 แห่งพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
3.ประเด็นปัญหาการสั่งให้ข้าราชการไปช่วยปฏิบัติราชการนั้น ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไว้ความโดยสรุปว่า บทบัญญัติมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจที่จะสั่งให้ข้าราชการในบังคับบัญชาไปช่วยปฏิบัติราชการในหน้าที่ราชการอื่นในกรมเดียวกันได้ในเมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องให้ข้าราชการผู้นั้นไปช่วยปฏิบัติหน้าที่มีความสำคัญเป็นภารกิจเฉพาะที่ต้องใช้ข้าราชการซึ่งมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านหรือมีประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เหมาะสมกับภารกิจนั้นหรือกรณีเป็นภารกิจที่มีความเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการของกรมและการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่การบรรจุแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่โดยให้พ้นจากตำแหน่งเดิม และไม่ใช่การสับเปลี่ยนหน้าที่ ย้าย หรือโอนข้าราชการซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีลักษณะบริหาร แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องมุ่งประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญและดำเนินการโดยมีเหตุผลสุจริต ไม่บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง อีกทั้งต้องชอบด้วยรูปแบบ ขั้นตอนสำหรับกรณีนั้นด้วย
เมื่อปรากฎว่า การสั่งให้ผู้อำนวยการสำนักหนึ่งไปช่วยปฏิบัติราชการตามที่รองอธิบดีมอบหมายโดยให้พ้นจากหน้าที่ราชการเดิมโดยไม่ระบุกรอบอำนาจและภาระกิจ จึงเป็นการสั่งให้ไปช่วยปฏิบัติราชการโดยไม่ถูกต้องและไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 30 วรรคสอง(1) แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จึงต้องให้โอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งด้วยพร้อมกันนั้นคำสั่งจะต้องแสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วยตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่สั่งให้ไปช่วยปฏิบัติราชการโดยไม่ได้ระบุกรอบอำนาจหรือภารกิจและเหตุผลจึงเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่ง (ศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.270/2555)
4.ก็หยิบมาเป็นอุทธาหรณ์สำหรับผู้บังคับบัญชา อย่าคิดเพียงว่าตนเองมีอำนาจอยู่ในมือจะใช้อย่างไรก็ได้นะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี