‘รองปธ.วิปรัฐบาล’ ชี้ทุกพรรคต้องรักษาองค์ประชุมสภาฯ มั่นใจแม้ ‘ภท.’ ขู่ไม่ร่วมสังฆกรรม แต่ด้วยความรับผิดชอบต้องประคองทำหน้าที่ เตรียมแปะชื่อประจานบรรดา ‘ผู้แทนฯโดดร่ม’ เผยเห็นด้วยดัน ‘ญัตติฝ่ายค้านอุ้มตะวัน-แบม’ ขึ้นมาพิจารณา
1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยื่นคำขาดหากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกิดปัญหาองค์ประชุมอีกในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กัญชา กัญชง พ.ศ. …พรรคภูมิใจไทยก็จะไม่เป็นองค์ประชุมอีกต่อไป ว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาล ยังคงย้ำว่าการรับผิดชอบองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และในฐานะวิปรัฐบาลยืนยันว่า เห็นด้วยที่ต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาฯให้แล้วเสร็จ และมั่นใจว่าแม้พรรคภูมิใจไทยจะแถลงจุดยืนดังกล่าวแต่ด้วยความรับผิดชอบ ก็จะยังคงช่วยให้สภาฯทำหน้าที่ต่อไปได้
เมื่อถามว่าก่อนการเริ่มพิจารณา ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …ฝ่ายค้านจะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องการหาทางออกให้ผู้ต้องขังทางการเมือง อย่างน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และน.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) แกนนำกลุ่มทะลุวัง ในคดีอาญามาตรา 112 ที่อดอาหารประท้วง นายชินวรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของวิปรัฐบาลเมื่อได้รับการประสานมาคิดเห็นตรงกันว่า การใช้พื้นที่สภาฯเพื่อปรึกษาหารือเป็นเรื่องที่สมควร และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนเสนอญัตติแล้วสภาฯจะเห็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง
“ส่วนตัวในนามพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันพรรคก็เห็นด้วยที่จะให้เสนอญัตติเข้ามา และได้ประสานกับพรรคร่วมก็ไม่ขัดข้อง ถ้าฝ่ายค้านจะหยิบยกก็เป็นสิทธิ์และเป็นไปตามข้อบังคับ ถ้าหากสภาได้มีมติเป็นอย่างอื่นคือสามารถเลื่อนญัตติขึ้นมาได้ก็สามารถดำเนินการได้ แต่วิปรัฐบาลเห็นว่าเนื่องจากปลายสมัยแล้วจึงได้ต่อรองฝ่ายค้านว่า ให้ใช้เวลาอภิปรายไม่เกิน 2 ชม. แต่การที่จะลงมติให้รัฐบาลนำไปพิจารณาดำเนินการต่อหรือไม่นั้น ก็จะต้องรอฟังรายละเอียดการอภิปรายก่อน เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลกังวลว่า จะมีรายละเอียดอื่นที่นอกเหนือจากการประท้วง” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯได้ทำหนังสือ ไปยังใหม่นายอนุชานาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรี เพื่อช่วยกันหารือดูแลรักษาองค์ประชุมให้ครบ ใน 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่สภาฯจะปิดสมัยประชุม ตนได้ให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลได้ 4 ข้อ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรี หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลกำชับและส่งรายชื่อส.ส.เข้าร่วมประชุม เพื่อมห้ครบองค์ 213 คน 2.ขอให้รัฐมนตรีที่เป็นส.ส.15 คนจะต้องเข้าร่วมประชุมด้วยเพราะหากรัฐมนตรีลงพื้นที่ก็จะมีส.ส.ไปลงพื้นที่คอยต้อนรับด้วย 3.วิปรัฐบาลได้ประสานวิปฝ่ายค้านขอความร่วมมือร่วมเป็นองค์ประชุมด้วยใน3 สัปดาห์สุดของการประชุมนี้ส่วนมติจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับแต่ละพรรค และ4.ได้มีการเสนอว่าเนื่องจากฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียนว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศรายชื่อส.ส.ที่ขาดประชุม มาแสดงหน้าห้องประชุมแล้ว เพื่อให้สื่อมวลชนได้ติดตามทำข่าวว่าใครมาบ้างไม่บ้างในช่วง 3 ครั้งสุดท้ายเพื่อเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังส.ส.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ให้ช่วยกันรักษาองค์ประชุมให้สภาฯ เดินหน้าต่อไปได้จนปิดสมัยประชุม เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เป็นครั้งแรกที่สภาล่มซ้ำซากบ่อยครั้ง เพราะตามปกติ ทุกพรรคการเมืองจะให้ความสำคัญต่อการประชุมในช่วงเวลาโค้งสุดท้าย ก่อนที่สภาจะครบวาระ ขณะเดียวกันยังเกิดความเปลี่ยนแปลงที่นายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนบทบาทไปเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ มีเสียงส.ส.ในสภา 1 เสียง จึงขาดเสียงสนับสนุนผู้นำรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ ยังมีการแตกเป็น2พรรค ดึงความสนใจของส.ส. จึงเป็นจุดที่แตกต่างจากอดีต ดังนั้นก็ขอเรียกร้องให้ส.ส.ทำหน้าที่ของตนเองด้วย
นายชินวรณ์ กล่าวย้ำถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ของฝ่ายค้านตามมาตรา152 ของรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลมีสปิริต และความรับผิดชอบที่แม้จะเป็นญัตติของฝ่ายค้านแต่รัฐบาลก็ยินดีที่จะร่วมเป็นองค์ประชุม เพราะรัฐบาลก็กังวลว้าหากไม่ครบองค์ประชุม หรือการอภิปรายต้องสะดุดลงก็จะเกิดความเสียหายต่อรัฐบาลเช่นเดียวกัน
-005