7 ต.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และนักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2554 ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวที่ใช้ username ว่า “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นความโหดร้ายมากเพียงใด พร้อมกับบันทึกเรื่องราวในวันที่ 6 ต.ค.20 หรือ 1 ปีหลังจากวันสังหารหมู่นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง บริเวณที่มีการแขวนคอด้วย
ข้อความที่นายวันชัยโพสต์ลงเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/WanChayTantiWithyaPhithaks
บันทึก 6 ตุลาคม 2519
ก่อนคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นผู้เขียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญชั้น ม.ศ.3 (ม.4 ปัจจุบัน )ทุกเย็นหลังจากเลิกเรียน ผู้เขียนก็มาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนรถเมล์เที่ยวสุดท้ายถึงได้กลับบ้าน เรื่อยมาถึงคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 สถานการณ์เลวร้ายลง มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการทำรัฐประหารจะมีการล้อมปราบปราบนักศึกษาการ์ดทำงานวางแผนรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งเครียดผู้เขียนนั่งอยู่ในสนามฟุตบอลจนใกล้เที่ยงคืน ได้พบพี่สาวคนโต (มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาคนจน)ได้ไล่ให้กลับบ้านเพราะไม่ปลอดภัยผู้เขียนจึงคิดจะกลับไปเปลี่ยนชุดนักเรียนที่บ้านเพื่อจะกลับมาร่วมชุมนุมใหม่ แต่พอกลับเข้าบ้านแล้ว ปรากฏว่าพ่อแม่ไม่ยอมให้ออกจากบ้านเด็ดขาด และเอาเข็มขัดมาเฆี่ยนตีด้วยความเป็นห่วงและลูกสาวคนโตยังไม่กลับบ้าน
ตอนสายข่าวโทรทัศน์ช่อง 4 (ช่อง 9 ปัจจุบัน) ได้รายงานข่าวเพียงช่องเดียว ทำให้ทราบว่ามีการล้อมปราบนักศึกษาอย่างโหดร้ายที่สุดมีข่าวลือมากมายว่านักศึกษาหลายคนที่โดนยิงตายถูกนำร่างไปแทงปอดและทิ้งลงทะเลที่ชลบุรี ตกเย็นพวกผู้นำทหารทำรัฐประหารประกาศเคอร์ฟิวหลังเที่ยงคืนไม่ให้คนออกจากบ้านสิ่งที่ผู้เขียนคิดได้ขณะนั้นคือต้องออกตามหาพี่สาวและเพื่อนหลายคนว่ามีชีวิตอยู่หรือเปล่า
คืนนั้นนอนไม่หลับนอนน้ำตาไหลคิดถึงคนรู้จักว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร วันรุ่งขึ้นผู้เขียนและเพื่อนได้ตระเวนแบ่งกันไปตามโรงพยาบาล เพื่อหาผู้รอดชีวิตหรือไม่ก็ไปดูศพผู้เสียชีวิตว่าจะรู้จักหรือไม่ผู้เขียนนั่งรถเมล์ไปดูเหตุการณ์ที่หน้าธรรมศาสตร์ทหารถือปืนกันไม่ให้คนเข้าไป ผู้เขียนเดินต่อไปที่ท้องสนามหลวงเห็นคนมุงซากไหม้ยางรถยนต์ยังมีควันกรุ่นและเห็นสิ่งของคล้ายกระดูกโผล่ออกมาจึงรู้ว่ามีคนถูกเผานั่งยางตรงนั้นและเย็นนั้นนั่งรถเมล์มาที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน (สโมสรตำรวจในปัจจุบัน)ได้ข่าวว่าผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกจับมาคุมขังไว้ที่นี่พวกเรารอฟังประกาศรายชื่อผู้ต้องหาด้วยความระทึกใจภาวนาให้มีชื่อของคนรู้จัก เพราะอย่างน้อยก็ทราบว่ายังไม่สูญหายหรือเสียชีวิต
เราได้พบชื่อของเพื่อนหลายคนแต่ไม่มีชื่อของพี่วนิดาซึ่งตอนนั้นเป็นแกนนำกรรมกรที่ทางการต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งและเธอก็หนีรอดออกมาได้ ตัดสินใจเข้าป่าในเวลาต่อมา ส่วนผู้เขียนกลับบ้านและคืนนั้นเอาหนังสือฝ่ายซ้ายหลายสิบเล่มมาเผาลงถังสังกะสีไม่ให้เพื่อนบ้านรู้ ทำลายหลักฐานที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และเวลานั้นใครต่อใครสามารถถูกจับกุมขังได้ทันทีข้อหา เป็นภัยต่อสังคม
นั่งเผาหนังสือไป น้ำตาก็นองหน้าด้วยความคับแค้นใจสภาพตอนนั้นเหมือนบ้านแตกสาแหรกขาด คิดถึงคนที่โดนยิงตายหลายคนคิดถึงอีกหลายคนที่ยังตามหาไม่เจอ แต่อัดอั้นตันใจไม่รู้จะทำอะไรได้เพราะทหาร ตำรวจครองเมืองกันหมด ใจหนึ่งก็อยากเข้าป่าเพื่อกลับมาแก้แค้นแต่ก็เป็นห่วงพ่อแม่ ที่กินไม่ได้นอนไม่หลับมาหลายคืนเพราะลูกสาวคนโตหายตัวไปเป็นอาทิตย์แล้ว
ไปไหว้นักศึกษาที่ถูกแขวนคอ 6 ตุลาคม 2520
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผมไปเป็นอาสาสมัครกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม(กศส.) ตอนนั้นมีพระไพศาล วิสาโล (ยังไม่บวช) ลัดดาวัลย์ พี่สาวเป็นกำลังสำคัญ หน้าที่ตอนนั้นคือรณรงค์ไปทั่วโลกให้ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลา และจัดเวรไปเยี่ยมนักศึกษาที่คุกบางขวาง เวลาเดินไปไหนต้องคอยเหลียวหลังว่าจะมีสันติบาลเดินตามหรือไม่ แม้ว่าจะเป็นนักเรียนนุ่งขาสั้นก็ตาม
ครบ 1 ปีเหตุการณ์สังหารโหด บรรยากาศเวลานั้นเสรีภาพมีเพียงน้อยนิด กิจกรรมนักศึกษายังเป็นสิ่งต้องห้ามในมหาวิทยาลัย ไม่มีใครกล้าพูดถึงการนองเลือดที่เพิ่งผ่านไป เช้าวันนั้นผมสวมชุด รด. ออกจากบ้านเพราะมีเรียนวิชาทหาร ก่อนไปเรียนแวะมาท่าพระจันทร์ เพราะนัดเพื่อนกลุ่ม กศส. 3-4 คนมาทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ จำได้ว่าวันนั้นมีเฉพาะพวกเราเท่านั้นมาร่วมไว้อาลัย ช่างภาพสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนมากมารอทำข่าวความเคลื่อนไหวภายหลัง เหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี แต่ไม่มีนักข่าวไทยหรือคนอื่นเลย มีเพียงพวกเราที่มาทำบุญระลึกคนตาย
พอเราตักบาตรเสร็จ นักข่าวฝรั่งพยายามตามมาสัมภาษณ์ เราไม่กล้าพูดอะไร ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเดินไปท้องสนามหลวงพร้อมถือดอกไม้ธูปเทียนไปด้วย เราหยุดใต้ต้นมะขามต้นหนึ่ง ยืนพนมมือสงบนิ่ง ปักธูปและแขวนดอกไม้ไว้บนกิ่งไม้ต้นนั้นที่เมื่อปีก่อนนักศึกษาคนหนึ่งถูก แขวนคออย่างทารุณโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊ค "วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์" และภาพปกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับ 7 ต.ค.19
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี