พรรคการเมืองร่วมลงนาม‘จรรยาบรรณหาเสียง’ หวังเลือกตั้ง‘สุจริต-สร้างสรรค์’
29 มีนาคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นซาทา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ มีการจัดพิธีลงนาม “จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566” โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง จำนวน 35 พรรค ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคคนงานไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคช่วยชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติรุ่งเรือง พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล พรรคไทยพร้อม พรรคไทยภักดี พรรคไทยรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาไทย พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเป็นธรรม พรรคเปลี่ยนอนาคต พรรคแผ่นดินธรรม พรรคพลัง พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลังเพื่อไทย พรรคสังคมสังคม พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคภราดรภาพ พรรคภาคีเครือข่ายไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคมิติใหม่ พรรคแรงงานสร้างชาติ พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคเสมอภาค พรรคเสรีรวมไทย และพรรคใหม่ เข้าร่วม
นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้เป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรมและสร้างสรรค์ จึงเชิญตัวแทนพรรคการเมืองร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าจะเคารพบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ตลอดจนระเบียบ ประกาศและคำสั่งของ กกต. ประกอบกับในปัจจุบันนี้ สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้งในประเทศไทย จรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้งฉบับนี้จึงครอบคลุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างรับผิดชอบ รวมถึงให้ความสำคัญกับการหาเสียงที่เป็นมิตรกับบุคคลทุกเพศสภาพ ดังนั้นการที่มีตัวแทนพรรคการเมืองร่วมลงนามในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งจึงเป็นนิมิตหมายอันดี ในการแสดงออกอย่างเห็นพ้องต้องกันของพรรคการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม
“อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานของกระบวนการติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งโดยภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ กกต. ที่เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคนในชาติ เราทุกคนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อธำรงรักษาไว้ และส่งเสริมให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุขงอกงามยิ่งขึ้นไป” เลขาธิการ กกต. กล่าว
ขณะที่ นายธงชาติ รัตนวิชา ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาชาติ เป็นผู้นำคณะตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมกล่าวถ้อยคำในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ระบุว่า เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องปฏิบัติต่อพรรคการเมืองทุกพรรคและผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่ลงนามในจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ ขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะเคารพการตัดสินใจของประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม และจะรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งทางกายภายและทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยปฏิบัติตามหลักการที่เห็นพ้องต้องกัน ดังต่อไปนี้
1.เคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ตลอดจนระเบียบ ประกาศและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
2.ไม่กระทำการใดๆ ที่ทุจริตต่อการเลือกตั้งและที่เป็นการซื้อเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งไม่ใช้กลไกหรือทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง
3.รณรงค์หาเสียงเลือกดั้งอย่างสร้างสรรค์ ใช้สันติวิธี คำนึงถึงความละเอียดอ่อนและความหลากหลายทางเพศภาวะ ไม่ข่มขู่คุกคามหรือสร้างความหวาดกลัว ปฏิเสธและประณามการใช้ความรุนแรง ตลอดจนยืนยันว่าจะไม่รบกวนการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองอื่นๆ
4.ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการกระทำใดๆ ที่ปลุกเร้าความเกลียดชังและความรุนแรง หรือใส่ร้ายด้วยความเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่ การกระทำที่หยาบคาย การใช้ข่าวปลอม การลดทอนคุณค่าเชิงอัตลักษณ์ และการเผยแพร่ข้อมูลด้วยกลวิธีที่หลอกลวงอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความได้เปรียบทางการเมือง
5.ธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมืองที่สำคัญโดยนำเสนอนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกและประชาชน และรับผิดชอบต่อนโยบายที่เสนอนั้น
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายตรวจสอบข้อมูลข่าวสารช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยโคแฟคฯ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคงจะได้เห็นบทบาทของสื่อตั้งแต่วิทยุ โทรทัศน์ มาจนถึงสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีทั้งด้านบวกคือเปิดพื้นที่ให้กับสังคม และด้านลบคือสร้างความเกลียดชังอย่างลึกซึ้งในสังคม
“เราหวังว่าวันนี้ทุกฝ่ายจะได้รับบทเรียนว่าการใช้การสื่อสารเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือสร้างความเกลียดชัง ไม่ได้นำไปสู่สิ่งที่ดีเลย แต่เราควรจะช่วยกันอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณในวันนี้ ที่เราก็อยากให้ทุกฝ่ายหาเสียงหรือผลักดันนโยบายบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และหลีกเลี่ยงการใส่ร้ายป้ายสีหรือบิดเบือนข้อมูล” น.ส.สุภิญญา กล่าว
-005