เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีการแย่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย ว่า เข้าใจดีทั้ง 2 พรรค เพราะพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มีคะแนนห่างกันไม่มาก พรรคก้าวไกลมี 151 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง แต่เป็นห่วงว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมรัฐบาลด้วยจะเป็นปัญหาจัดตั้งรัฐบาล จะไปหาเสียงใหม่จากไหน จึงต้องคุยกัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน
"ส่วนข้อเสนอของนักวิชาการให้พรรคอันดับ 3 คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นั้น ส่วนตัวเห็นด้วย เพื่อเป็นคนกลาง และเป็นผู้มีความอาวุโส เคยเป็นประธานสภาฯ มาแล้ว รู้กฎระเบียบ อย่างการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 58 เสียง ก็ได้เป็นประธานสภาฯ แต่หากจะให้พรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย แบ่งวาระการดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ คนละ 2 ปีนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะบ้านเมืองไม่ใช่ตัวตลกแบ่งครึ่งประธานสภาฯ หรือนายกฯ ส่วนการแบ่งโควตารัฐมนตรีนั้น ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลจะให้ดำรงตำแหน่งอะไร พูดอะไรมากไม่ได้ เพราะมีแค่ 1 เสียง" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย เชื่อว่า ประเด็นดังกล่าว คงไม่ลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรค น่าจะเจรจาตกลงกันได้ ทุกอย่างจบลงด้วยการพูดคุย โดยจะต้องตกลงให้ได้ภายในวงก่อนที่จะนำมาพูดภายนอก
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้อยากได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นเกมต่อรองเพื่อให้ได้ของที่เยอะกว่า เช่น โควตา ครม.หากนำเก้าอี้ รมว.มหาดไทยมา แลกกับประธานสภาผู้แทนราษฎร อาจจะตกลงกันได้ เพราะพรรคก้าวไกลมองว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ มีความสำคัญ จำเป็นต้องได้มา เพื่อไว้คุมเกมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากต้องไปฟรีโหวตในการเลือกประธานสภาฯ จริงๆ มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นประธานสภาฯ เพราะพรรคอื่นๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะลงคะแนนให้ตัวเลือกจากพรรคเพื่อไทย ในกรณีที่มีการชิงตำแหน่งกันแค่ 2 พรรค ส่วนข้อเสนอให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ มาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แทนนั้น ก็เป็นไปได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องอายุที่นายวันนอร์เองก็มีอายุมากแล้ว
- 006