หมากรุกการเมือง!เกมที่ไม่ได้เล่นแค่ 2 คน-ใครจะยอมให้กินรวบ
27 พฤษภาคม 2566 นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ “หมากรุกการเมือง” ระบุว่า “หากใครเคยเล่นหมากรุกไทยก็จะเข้าใจดีว่าเป็นเกมการเล่นที่ไม่ใช่แค่คนสองคนต่อสู้วางแผนเกมการเล่น เอาแพ้เอาชนะกันอยู่ แต่ยังมีกองเชียร์ กองแช่ง กองยุแยงที่ยืนเกาะกระดานอยู่ข้างๆโต๊ะกระดาน เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งแพ้เร็วๆ กองเชียร์กองแช่งจะได้ลงมานั่งเป็นผู้เล่นแทน”
“กองเชียร์จึงไม่ใช่ผู้หวังดีเสมอไป แต่เป็นผู้หวังร้ายตัวจริง เพราะบางทีกองเชียร์เห็นหมากกลที่ผู้เล่นไม่เห็นหรือคิดวางแผนไว้ในใจ แต่ถูกกองเชียร์เอาเปิดเผยกลางกระดาน คู่แข่งเลยเห็นช่องว่างนั้น ทั้งๆที่ตอนแรกไม่เห็น ต้องขอบคุณกองเชียร์ที่อวดเก่งเหล่านั้นด้วย”
“วันนี้ สังคมไทยมาสู่ยุคที่ชอบสร้างวลีทางการเมือง สู้ไปกราบไป และสู้ไปโกหกไป อันไหนมันจะแรงกว่ากัน”
“การจัดตั้งรัฐบาลไม่มีบทบัญญัติว่า พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.สูงสุดต้องได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคกิจสังคม เคยได้ 19 เสียง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี การได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำอะไรได้ดั่งใจตนเอง โดยไม่ต้องแคร์หรือฟังเสียงคนอื่น การจัดตั้งรัฐบาลเป็นความพยายามในการประนีประนอมนโยบายที่ไปด้วยกันได้”
“วันนี้ การต่อรองมาสู่จุดที่พรรคแกนนำจะเอาทั้งตำแหน่งนายกและประธานสภา ใครจะยอมกันง่ายๆ ใครจะยอมให้กินรวบ คุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาจากพรรคที่ไม่ได้เสียงอันดับหนึ่ง แปลว่า ไม่จำเป็นที่พรรคอันดับหนึ่งต้องได้ทุกอย่างที่ต้องการ”
“แต่ระวังไว้นะ ฟังเสียงคนนอกพรรคชี้นำไม่ให้ยอมแพ้ในการช่วงชิงประธานสภา จะโดนข้อหาให้คนนอกพรรคชี้นำครอบงำพรรค จะโดนฟ้องยุบพรรคอีกข้อหาหนึ่งเพิ่มเติมเข้ามา”
“การได้เสียงมากที่สุด ไม่มากพอที่จะได้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา จำเป็นต้องอาศัยเสียงจาก ส.ว.สนับสนุน แต่ต้องไม่ใช่การข่มขู่ ส.ว. การขู่จะลงถนน หากคิดว่าม็อบลงถนนจะช่วยให้ได้ทุกสิ่งอย่าง ได้ทั้งนายกและประธานสภา แต่ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งจะมีม็อบฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายมีมวลชนผู้สนับสนุนของตนเอง ระวังจะเกิดม็อบชนม็อบ หากมั่นใจว่าม็อบของฝ่ายตนใจถึงกว่า พร้อมชนมากกว่า ก็เชิญเลย”
-005