หมากกระดานการเมืองที่เคลื่อนตัวขยับไปข้างหน้าแต่ละตา แต่ละย่างขุมล้วนมีท่วงทำนองในตัว หลังผ่านพ้น 1เดือน นับจากวันหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าสัปดาห์หน้า หรือเต็มที่ไม่เกินปลายเดือนมิถุนายนนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.จะประกาศรับรองส.ส.ครบ 95 % ตามไทม์ไลน์ 60 วัน หลังวันเลือกตั้ง
แต่ก่อนที่ว่าที่ส.ส. 500 คน ทั้งแบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อจะไปถึงฝั่งฝันปลายทางที่เก้าอี้สภาผู้แทนราษฎร ก็มีคิวคั่นระหว่างทางให้ตื่นเต้นกันล่วงหน้า โดยเฉพาะส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คนจะเผชิญอารมณ์ตึกตักๆกว่าใคร
เมื่อปรากฎเอกสารจากกกต.หลุดออกออกมาปลิวกระฉ่อนว่อนในโลกโซเชียล จังหวะคิวนี้ มองเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก"จงใจ" มีผู้กำกับการแสดงปล่อยคิวอยู่เบื้องหลัง
เอกสาร 3 หน้ากระดาษ เนื้อหาเป็นการประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีการรับรองว่าที่ส.ส. 329 คน ขณะที่ 71 คน จาก 8 พรรค ใน 37 จังหวัด ยังไม่ถูกรับรอง ด้วยเหตุถูกร้องคัดค้านผลเลือกตั้ง
71 ราย ที่เอกสารอ้างว่าถูกแขวน ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 21 คน มากที่สุดจาก 8 พรรค พรรคเพื่อไทย 20 คน พรรคพลังประชารัฐ 14 คน พรรคก้าวไกล 7 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคไทยสร้างไทย 2 คน และพรรคเพื่อไทรวมพลัง 1 คน
ตัวเลข 71 ราย หากจำแนกแยกสายแบ่งขั้ว จะแบ่งเป็นขั้วรัฐบาลเดิม 41 คน และขั้ว"ว่าที่"รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล 30 คน
ไม่ว่าฝ่ายไหน ถ้าเสียงหายไปใน"หลักสิบ"เช่นนี้ ล้วนอยู่ในอาการ"ผวา"กันไม่น้อย ที่ต้องลุ้นทั้ง ใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ความรุนแรงจะระดับไหน ก็อยู่ที่กกต.และผลจากการกระทำในช่วงหาเสียง
โฟกัสไปที่"ผู้ชนะ" ในส่วนพรรคก้าวไกล ที่นำโดย"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 แม้เลือกตั้งมาได้อันดับหนึ่ง มีว่าที่ส.ส. 151 เสียง จากโหวตเตอร์ 14 ล้านเสียง และเดินเกมรุกจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 313 เสียง รวบรวมเสียงแล้วจะเกินกึ่งในสภาล่าง แต่ขั้นตอนการโหวตนายกฯต้องใช้เสียงทั้งหมดในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งจากส.ส.และส.ว.ให้ได้กึ่งหนึ่ง 376 เสียง จาก 750 เสียง
63 เสียงจากสภาสูง ที่ว่าที่รัฐบาลขั้วก้าวไกลยังขาด เพื่อมาเติมเต็ม 376 เสียง เข็น"พิธา"ไปสู่เก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหาร แม้จะเดินสายเชื่อมไมตรีขอเสียงสนับสนุนมาตลอด แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายในการได้มา และยิ่งมีกระแสว่าที่ ส.ส.จ่อถูกแขวนเข้ามาอีก หากเสียงแหว่งวิ่นไปอีก 30 เสียง ก่อนวันเปิดสภาโหวตเลือกนายกฯ ก็จะเพิ่มภาระความลำบากไปอีกเท่าตัว
แต่ตามขั้นตอนก่อนไปสู่เก้าอี้เบอร์หนึ่งทำเนียบรัฐบาล เมื่อมีการประชุมรัฐสภาต้องมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยตามธรรมเนียบต้องมีผู้เป็นประธานชั่วคราว เพื่อควบคุมการประชุมโดยจะคัดเลือกจากส.ส.ที่มีอายุอาวุโสมากที่สุด โดยล่าสุดรัฐสภาได้เชิญ"วิโรจน์ เปาอินทร์" ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธานชั่วคราว ในวัย 89 ปี เพื่อเลือกประธานสภา โดยให้ที่ประชุมเสนอชื่อ และมีผู้รับรอง 20 คนขึ้นไป
เก้าอี้"ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ"ที่ยังคงเป็นปัญหาพิพาท "ชักเย่อ"กันไปมาระหว่าง"ก้าวไกล" กับ"เพื่อไทย"
"พรรคสีส้ม"ที่ยืนยันแข็งขันว่าต้องการ"ตำแหน่งนี้" เพื่อผลักดันกฎหมาย และวาระต่างๆที่ชู และใช้หาเสียงมาตลอด โดยเฉพาะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ที่เคยถูกเบรกจากประธานสภาชุดที่แล้ว "ชวน หลีกภัย"
ขณะที่"พรรคสีแดง" ก็เสียงแข็งเช่นกันว่า เมื่อพรรคเบอร์หนึ่งได้เก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารไปแล้ว ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นของพรรคอันดับสอง เพื่อสร้างความสมดุลในพรรคร่วมรัฐบาล
แต่เหนืออื่นใดต่างล้วนเป็น"เกม" ที่หากใครชิงเบอร์หนึ่งรัฐสภามาได้ ก็จะมีข้อได้เปรียบในการควบคุมเกมในรัฐสภา ซึ่งก็รวมไปถึงการเสนอชื่อ"นายกรัฐมนตรี" เพราะด้วยวิบากกรรมของ"พิธา" ในปมถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ก็ยังไม่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นนักว่านายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะชื่อ"พิธา"หรือไม่
แต่แล้วข้อพิพาทตลอดเดือนที่ผ่านมา ก็ส่อยุติลางๆ เมื่อสองแกนนำเพื่อไทย "ประเสริฐ จันทรรวงทอง และ ภูมิธรรม เวชชยชัย" ประกาศหลักการจุดยืนพรรคเพื่อไทยว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จะให้พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่ง แต่มีวงเล็บด้วยว่ารอความชัดเจนจากการรับรองผลเลือกตั้งจากกกต.
"คำถาม ?"ตัวเบ้อเร่อจึงเกิดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับ"เพื่อไทย" ที่เคยมีแต้มต่อ"ก้าวไกล" ในฐานะพรรคอันดับสอง ที่พรรคอันดับหนึ่ง""ขาดไม่ได้" ด้วย 141 เสียง หากจะตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ
แต่สองคีย์แมนเพื่อไทย"ประเสริฐ - ภูมิธรรม" กลับเลือกที่จะ"หมอบไพ่" ปล่อยความได้เปรียบดีดกลับไปหา"ก้าวไกล"แทน
หรือนัยหนึ่งอาจจะมองไปที่ 20 ส.ส.ที่อาจถูกแขวนจากกระแสในอ้างเอกสารกกต.หลุด ซึ่งมากที่สุดในขั้วพรรคร่วมฯใหม่ และจาก"ตัวได้เปรียบ" เพื่อไทยจะกลายเป็น"ตัวปัญหา" ที่เพิ่มอุปสรรคในการสะสมเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีทันที
แต่หากเป็นการมองข้ามช็อท ว่า"เก้าอี้ประธานรัฐสา"จะเป็นของก้าวไกลหรือไม่ ก็ไม่มีผลใดๆ เพราะที่สุดเสียงสนับสนุนจะไปไม่ถึง และอาจมีการชิงเสนอชื่อนอกเหนือกว่านั้น เพราะ"ดีลลับ"ซ่อนเงื่อน เพื่อนขั้วตรงข้าม "ปิดจ๊อบ"แล้ว แต่ฉากหน้ายังคงต้องทอดไมตรีให้เกียรติเอ็มโอยู เพื่อเลี้ยงกระแสมวลชน ที่"พิธา" และก้าวไกลเดินสายสร้างความชอบธรรมอย่างต่อเนื่อง
เกมนี้วัดใจ"เพื่อไทย"จะไปกับมวลชน และจับมือ"ก้าวไกล"ให้แน่น หรือ ปล่อยมือทิ้งพรรคสีส้ม"สลับขั้ว"ตามที่มีกระแสมาตลอด
เกมนี้"สีแดง"กับ"สีส้ม" ใครจะอยู่หรือไป ?
นับถอยหลังเจ้าของพรรคเพื่อไทย"ตัวจริง" จะกล้ากลับบ้านในเดือนกรกฎาคมตามที่ประกาศไว้หรือไม่ เพราะเป็นช่วงเดียวกันกับที่จะเลือก"ประธานรัฐสภา" และนำไปสู่โหวตเลือก"นายกรัฐมนตรี" แน่นอน
งานนี้ถาม"ลุง" เพื่อนขั้วตรงข้าม ยิ้มเงียบๆแต่แต่งตัวรอแล้ว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี