บุกเขย่าประตูรั้วรัฐสภา-จุดพลุ
ม็อบส้มเดือด!
รวมพลชุมนุมอนุสาวรีย์ปชต.
เปิดเวทีปราศรัยถล่มสว.-กกต.
ป่วนปีนขึ้นผูกป้ายเชียร์‘พิธา’
ชู‘นายกฯฉันทามติประชาชน’
ไม่พอใจ‘พิธา’วืดเก้าอี้นายกฯ
กลุ่มผู้ชุมนุมที่ให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล ยกพลเข้าเขย่าประตูรั้วอาคารรัฐสภา จุดพลุแฟร์สีส้ม โปรยกระดาษยื่นใบลาออกให้ สว. พร้อมตะโกนแสดงความไม่พอใจ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อไอทีวีโดยมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่ช่วงเย็นจะมีการชุมนุมอีกครั้งที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จัดกิจกรรมโจมตี สว. และนำป้ายข้อความเชียร์พิธา
เป็นนายกฯ ขึ้นไปผูกบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานมาตรการในการรักษาความสงบในการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกวันที่ 13 ก.ค.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีเสียงสนับสนุนเพียง 324 เสียง ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง
โดยตั้งแต่ในช่วงดึกของคืนวันที่ 18 ก.ค. เจ้าหน้าที่ได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาปิดล้อมบริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา และมีการปิดถนนสามเส้นหน้าอาคารรัฐสภาทั้งหมด ส่วนบริเวณแยกเกียกกาย ซึ่งเป็นอีกจุดนัดหมายของมวลชนที่จะมาร่วมรับฟังการโหวตนายพิธา เจ้าหน้าที่ได้มีการ ตั้งแผงเหล็กกั้น พร้อมทั้งนำลวดหนามหีบเพลง แผ่นเหล็กกั้นปิดทางขึ้น-ลง สะพานลอยคนข้าม พร้อมปิดป้ายประกาศ พื้นที่ห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากอาคารรัฐสภา ตามคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ 2558 มาตรา 7 วรรคท้ายผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิด ต้องวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปรวมตัวที่ศูนย์ราชการเกียกกาย ถนนทการที่ทางเจ้าหน้าที่จัดพื้นที่รองรับไว้ให้เท่านั้น
วางกำลัง2,400นายดูแลรอบสภาฯ
สำหรับกำลังพลที่เจ้าหน้าที่ จัดไว้ดูแลความสงบเรียบร้อย ใช้กำลังพลควบคุมฝูงชน จำนวน 16 กองร้อย 2,400 นาย ตรึงกำลังบริเวณรอบอาคารรัฐสภาทั้งภายในและภายนอก พร้อมรถฉีดน้ำแรงดันสูง และ รถควบคุมผู้ต้องหาไว้รองรับหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
เวลา 11.30 น.ได้มีกลุ่มผู้สนับสนุนนายพิธา เข้ามาจับจองพื้นที่ภายในศูนย์ราชการเกียกกายมีเพียงไม่กี่คน ส่วนมากจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่นำสินค้าอย่างเช่น เสื้อ หมวก หรือร่มซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคก้าวไกลมาจำหน่ายเท่านั้น
ม็อบยกพลบุกประชิดรั้วสภาฯ
ต่อมา เวลา 12.15น.ที่หน้ารัฐสภา ฝั่งซอยวัดแก้วฟ้า ผู้สื่อข่าวรายว่า ระหว่างการประชุมรัฐสภา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ ITVและมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ทำให้ มวลชนที่เฝ้าติดตามการประชุมสภาเพื่อพิจาณาการโหวตนายกฯอยู่ในพื้นที่รอบรัฐสภาต่างแห่กรูกันมาเกาะประตูรั้วและเขย่าประตู พร้อมตะโกนแสดงความไม่พอใจบริเวณหน้ารั้วรัฐสภา ต่างรู้สึกโกรธและไม่พอใจคำวินิจฉัยของศาล บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาร้องไห้ปล่อยโฮออกมาอย่างหนัก บางคนร้องไห้ เป็นลมล้มพับกับที่ ต้องปฐมพยาบาลกันยกใหญ่
ทางด้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้เครื่องขยายเสียงแจ้งผู้ชุมนุมห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตร เพราะเป็นพื้นที่หวงห้ามไม่สามารถชุมนุมได้ โดยมีการนำรถติดเครื่องขยายเสียง และรถฉีดน้ำมาเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้สวมหมวกกันน็อคและถือโล่ได้ออกมาตั้งแนวตรึงกำลังชั้นในและมีการเจรจาแจ้ง ไม่ให้มวลชนเข้ามาภายในพื้นรัฐสภา โดยสถานการณ์เริ่มสงบลง แต่ยังคงมีมวลชนบางส่วนตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่อยู่ด้านนอก
ป่วน!จุดพลุสีส้มประท้วง
เวลา 13.20น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน้าประตูทางเข้า อาคารรัฐสภา ฝั่งถนนทหาร กลุ่มโมกหลวงริมน้ำและกลุ่มทะลุแก๊สได้จัดกิจกรรม ประท้วงไม่พอใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. โดยผู้ชุมนุมได้จุดพลุแฟร์สีส้ม พร้อมโปรยกระดาษยื่นใบลาออกให้ สว. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศขอความร่วมมือไม่ใช้พลุแฟร์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ชุมนุมคนอื่น ขอให้ชุมนุมโดยสงบ และได้ขึ้นรถปราศรัยขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดการกระทำเพราะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ห้ามชุมนุมบริเวณรอบอาคารรัฐสภา 50 เมตรขอให้กลับไปอยู่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้
ขณะเดียวกัน นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขับรถเข้ามาที่หน้าอาคารรัฐสภา พร้อมลงไปเจรจาต่อรองขอให้เปิดประตูเพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม
จากนั้นเวลา 13.40 น.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เข้าพูดคุยกับตำรวจ โดยขอให้ถอยกำลังกลับไปยังที่ตั้ง เพราะการตรึงกำลังเผชิญหน้าทำให้เกิดความตึงเครียด และเสี่ยงเผชิญหน้ามากขึ้น โดยรับปากจะไปคุยกับผู้ชุมนุมให้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบของกฎหมาย มั่นใจว่าจะไม่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ของรัฐสภา
“#ศาลรัฐธรรมนูญ”กระหึ่มโซเชียล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องที่ กกต.ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(6)ประกอบมาตรา 98 (3)หรือไม่จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น ไว้พิจารณาวินิจฉัยและมีมติ 7 ต่อ 2 สั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.นับตั้งแต่วันนี้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ทำให้ในโซเชียลมีเดีย #ศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนทวิตเตอร์ทันที
โดยนอกจากจะการแชร์ข่าวมติศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับมติศาลที่ออกมาด้วยคำหยาบคาย รวมทั้งมีการโพสต์ภาพตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ทั้งนี้ ยังพบว่าหัวข้อเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรียังได้รับความสนใจติดใน5อันดับเทรนทวิตเตอร์ไม่ว่าจะเป็น#เศรษฐา #โหวตนายกรอบ 2 #ม็อบ19กรกฎา66 เชิญชวนทุกจังหวัดจัดกิจกรรมคู่ขนานใส่ชุดดำไว้อาลัยให้กับประเทศ
แนวร่วม มธ.ฯ นัดระดมมวลชน
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration โพสต์ข้อความระบุว่า...ประชาชนไม่อาจทนอีกต่อไป วันนี้ ร่วม ณาปนกิจ สว. และศาลรัฐธรรมนูญผู้ไม่เคารพเจตจำนงของประชาชนร่วมกัน ใครมีกระดาษ เตรียมกระดาษ ใครมีดอกไม้จันทน์ เตรียมดอกไม้จันทน์ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 17.00 น. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน พร้อมติด แฮทแท็ก #19กรกฎาวันฌาปนกิจ(ส.ว.)#โหวตนายก #โหวตนายกรอบ2#ปิดสวิตช์สว #ม็อบ19กรกฎา66 #RespectMyVote
แสดงพลังหน้าอนุสาวรีย์ ปชต.
จากนั้น เวลา 16.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมแต่งกายด้วยเสื้อสีดำและส้มได้ทยอยรวมตัวอย่างต่อเนื่องบริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ หัวมุมถนนดินสอฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา โดยตั้งจุดปราศรัยบนผิวจราจรหน้าร้านแมคโดนัลด์ และมีบางส่วนรวมตัวกันบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งบางส่วนเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากการชุมนุมหน้ารัฐสภา เกียกกาย มีการชูป้ายข้อความ“ราษฎร” โบกสะบัดไปมา รวมถึงชูป้ายผ้าข้อความต่างๆ เช่น ให้กูเลือกตั้ง แต่พวกแต่งตั้ง ปล้นอำนาจไป, เลือกตั้งได้ที่ 1 แต่โดนปล้นทุกอย่าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงถึงความไม่พอใจอันเนื่องมาจากนายพิธาไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เวลาประมาณ 17.00 น. มีการกั้นรั้วเหล็กปิดการจราจรบางส่วนบริเวณบริเวณวงเวียนอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีประชาชนร่วมกันนั่งชุมนุมบนถนนเพื่อรอฟังปราศรัย จากแกนนำที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวที
ผูกป้ายเชียร์“นายกพิธา”
ต่อมา นายธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎรขึ้นเวทีปราศรัย โดยแจ้งกับผู้ชุมนุม ว่าที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรอบที่ 2 ทำให้มวลชนส่งเสียงโห่ร้องและแสดงความไม่พอใจ
เวล 17.17 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำป้ายข้อความว่า ‘นายกพิธาฉันทามติประชาชน’ ปีนขึ้นไปผูกโอบล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี