"ส.ส.ก้าวไกล"อัดนโยบายสิ่งแวดล้อมมีแต่วาทกรรม ติงหานโยบายกำจัดขยะไม่เจอ ด้าน"ศนิวาร"งง"เอลนีโญ"ไม่อยู่ในวาระเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ว่า ไม่มีการกำหนดขั้นตอน และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มีแต่วาทกรรม ปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่มีการพูดถึงแทบทุกวัน คือปัญหาการจัดการขยะที่รัฐบาลที่แล้งพยายามซุกไว้ใต้พรม ซึ่งดูแล้วรัฐบาลใหม่กำลังจะเดินตามรอยนั้น ที่น่ากังวลคือท่านจะเอาพรมมาวางทับไปอีกชั้นหนึ่ง ตนหาข้อติติงนโยบายการจัดการขยะไม่ได้เลย เพราะไม่มีคำว่าขยะอยู่ในนโยบายเลย ซึ่งในรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐบาลต้องจัดการให้มีการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น
นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า ขอฝากการบ้านให้นายกรัฐมนตรี ช่วยกันคบคิดแก้ปัญหา เพราะนโยบายที่ท่านออกมาจับต้องไม่ได้เลย ทำให้ตนไม่เชื่อว่าจะจัดการปัญหาขยะได้ รัฐบาลจะมีมาตรฐานการดำเนินงานในการควบคุมบ่อขยะอย่างไร จะมีระบบอย่างไรที่จะทำให้บ่อขยะเหล่านี้มีระบบควบคุม บำบัด และจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติในปี 2557 ต่อมาปี 2559 มีนโยบายเมืองไทยไร้ขยะ โดยมีแผนแม่บทจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ แต่เราจ่ายเงินไปมากกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2562 ในการติดตั้งระบบจัดการขยะให้กับเทศบาลใหญ่ๆของประเทศ แต่จากการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ น่าเศร้าว่ากว่าครึ่งของระบบที่ติดตั้งใช้ไม่ได้ หรือหยุดดำเนินการ
นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า ท่านจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ของรัฐบาลชุดก่อนอย่างไร เพราะหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการจัดการขยะขณะนี้มี 16 กระทรวง ซึ่งต่างพอใจที่จะจัดการขยะที่ตัวเองรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน อัตรารีไซเคิลของประเทศไม่เพิ่มขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากว่า 10 ปี โดยที่รัฐบาล คสช.เคยผ่านวาระที่หนึ่งมาแล้วแต่จากนั้นถูกปัดตก จนปัจจุบันรัฐบาลหมดวาระไปแล้วยังไม่พบว่ามีการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมายังกระบวนการของรัฐสภาอีกเลย ตนขอใช้โอกาสนี้ตามหาร่างกฎหมายดังกล่าว
จากนั้น น.ส.ศนิวาร บัวบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า น่าแปลกใจที่ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่ได้ถูกบรรจุในวาระเร่งด่วน ทั้งที่เอญนีโญเป็นที่มาของภัยแล้ง อาจสร้างความเสียหายถึง 5.0 - 7.8 หมื่นล้านบาท เพราะ 3 ใน 4 ของพื้นที่การเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้การเพาะปลูกในปีหน้ามีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ตนเชื่อว่า ประชาชนยังอยากเห็นแนวทางป้องกันปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ สุดท้ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครม.เศรษฐา 1 จะเป็น ครม.ที่คิดถึงประชาชน รุก รับ ปรับตัวได้ไว และมีธรรมาภิบาล
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี