"ผู้ว่าฯกทม."ยันพร้อมคุย"มท.1"ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอรอ"ครม."เคาะทางออกต่อสัญญาปี 72 หลัง"ม.44"ยังมีผลใช้บังคับ รับนโยบายรัฐ"20 บาทตลอดสาย"ยังไม่คุ้ม เหตุติดสัญญาเอกชนแบบตายตัว
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าพบหารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยว่า วันนี้ตนมาหารือเรื่องทั่วๆ ไป ส่วนจะคุยเรื่องอะไรก็ขึ้นอยู่กับนายอนุทิน
เมื่อถามว่า จะคุยเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า หากนายอนุทินถาม ก็พูดคุยได้ ส่วนปัญหาไม่มีอะไร เราตอบจดหมายกระทรวงมหาดไทยเรื่องที่มีหนี้ค้างอยู่
เมื่อถามว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะกระทบกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องไปดูความหมายก่อนว่า 20 บาทคืออะไร เหมือนว่าเส้นใดเส้นหนึ่ง 20 บาท แต่ถ้าเป็นสายสีเขียวก็ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่ม เพราะจนถึงปี พ.ศ.2572 เรายังมีสัมปทานอยู่ ซึ่งเอกชนมีสิทธิ์ในการจัดเก็บค่าโดยสารตามที่เขาต้องการ แต่หลังจากนั้น กทม.ก็สามารถจัดเก็บเองตามที่เรากําหนด
"ตอนนี้มีสัญญาในเรื่องการจ้างเดินรถกับเอกชนอยู่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแบบตายตัว ถ้าจัดเก็บ 20 บาทตอนนี้ก็ไม่น่าจะคุ้ม เพราะต้องเก็บ 33 บาทเฉพาะช่วงไข่แดง ฉะนั้น ถ้าเป็นนโยบาย 20 บาทของรัฐบาล ก็ต้องจ่ายค่าส่วนต่างให้ กทม.เพราะ กทม.ต้องเอาไปจ่ายค่าเดินรถ" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
เมื่อถามว่า ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และบริษัทที่รับจ้างเดินรถ จะกระทบกับนโยบาย 20 บาทหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า คงจะเป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะ ป.ป.ช.ชี้มูล และยังไม่มีคำตัดสินของศาลที่ชัดเจน และต้องดูว่าอัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องหรือไม่ ฉะนั้นเราต้องดูขั้นตอนตามกระบวนการอีกทีหนึ่ง แต่เชื่อว่านายอนุทินมีข้อมูลที่ละเอียดอยู่แล้ว เพราะพิจารณาเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว
เมื่อถามว่า จะมีการยกเลิกมาตรา 44 หรือไม่ เพราะเป็นอีกปัญหาใหญ่ของเรื่องดังกล่าว นายชัชชาติ กล่าวว่า ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะเรื่องค้างอยู่ เป็นเรื่องที่ให้อำนาจรัฐบาลต่อสัญญาให้ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอ และหากทำไม่สำเร็จก็ให้กระทรวงมหาดไทยเสนอทางออก ซึ่งขณะนี้เรื่องยังค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในส่วน ครม.ถามว่ามีปัญหาอะไรนั้น คือมาตรา 44 กำหนดให้เอาหนี้ทั้งหมดไปรวบเพื่อเป็นเงื่อนไขในการต่อสัญญาชำระหนี้ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ชำระหนี้ ก็รออยู่ว่า ครม.จะเอาอย่างไร จะเดินต่อหรือไม่ ซึ่งคงจะหารือกับนายอนุทินอีกทีหนึ่ง
"อำนาจของมาตรา 44 ยังไม่หมดนะ เพราะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่วนจะแก้ไขด้วยการยกเลิกผ่านการออกกฏหมายในสภาหรือไม่ ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเสนอให้ ครม.อย่างไร ผลก็เป็นเช่นนั้น เพราะมาตรา 44 บอกว่าสุดท้ายถ้าไม่เป็นไปตามที่บอก คือให้รวบหนี้แล้วต่อสัมปทาน ก็ให้กระทรวงมหาดไทยเสนอในทางที่เหมาะสม ให้ ครม.พิจารณาอีกที" นายชัชชาติ กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯ มีบัญชาว่าให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาคำสั่ง คสช.ที่ไม่จําเป็นทาง กทม.จะเสนอให้ยกเลิกมาตรา 44 หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนเป็นแค่ท้องถิ่นเล็กๆ ก็ต้องแล้วแต่ทาง ครม.แต่มาตรา 44 มีศักดิ์เทียบเท่า พ.ร.บ.ฉะนั้น เราก็ต้องปฏิบัติตาม
- 006