นักวิชาการอธิบาย ทำไมการเพิ่ม‘สงกรานต์’จาก 3 วันเป็นทั้งเดือน ไม่ช่วยดึงดูดให้ นทท.มาเล่นสาดน้ำมากขึ้น
2 ธ.ค. 2566 ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Nattavudh Powdthavee - ณัฐวุฒิ เผ่าทวี” เนื้อหาดังนี้
การทำให้ทุกวันของเดือนเมษายนมี "งานสงกรานต์" ทุกวันเป็นไอเดียที่ดีต่อเศรษฐกิจชาติขนาดไหน
ใกล้วันคริสต์มาสเข้ามาทุกวันแล้วนะครับ และผมเชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนน่าจะเคยฟังเพลงคริสต์มาสของวง Wizzard ที่มีชื่อว่า "I wish it could be Christmas everyday" หรือผมอยากให้มันเป็นวันคริสต์มาสทุกวันกันมาก่อน สำหรับเพื่อนๆที่ไม่เคยฟังเพลงนี้มาก่อน ใจความของเพลงง่ายๆก็คือมันคงจะดีนะถ้าทุกวันเป็นวันคริสต์มาส เพราะเราจะได้ฉลองกันทุกวัน เราจะได้เล่นกับหิมะที่ตกลงมาทุกวัน อะไรประมาณนั้น (ผมแปะลิ้งค์ของเพลงไว้ในคอมเม้นแรกนะครับ)
ฟังแล้วดูดีนะครับ แต่ถ้าเราลองคิดตรองดูดีๆล่ะก็ ผมว่าน้อยคนมากๆคงอยากจะให้ทุกวันเป็นวันคริสต์มาสจริงๆ เพราะถ้าทุกวันเป็นวันคริสต์มาสล่ะก็ ทุกวันก็จะเหมือนๆกัน มันไม่มีวันที่พิเศษจริงๆ
และนั่นก็คือจุดสำคัญที่ทำให้วันคริสมาสต์เป็นวันที่พิเศษมากๆของหลายๆคนในแต่ละปี เพราะหนึ่งปีมันมีวันคริสต์มาสเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ความเป็น scarcity หรือ "มีจำนวนจำกัด" ของวันคริสต์มาสเป็นคุณสมบัติที่ทำให้วันนั้นเป็นวันสำคัญ ถ้าเราทำให้มันไม่มีจำนวนจำกัดอีกต่อไป ความสำคัญของมันก็จะลดน้อยลงไปตามๆกันไปด้วย
ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับวันสงกรานต์ วันสงกรานต์ที่เราสาดน้ำกันแค่สามวันมีความเป็น scarcity ในตัว มันทำให้หลายๆคนตั้งหน้าตั้งตารอสามวันนั้นในแต่ละปี และสำหรับคนที่ไม่ได้ชอบวันสงกรานต์เพราะไม่อยากจะเปียกน้ำ การเสี่ยงถูกสาดน้ำเพียงแค่สามวันในแต่ละปีก็เป็นอะไรที่พวกเขาพอจะทนได้
ถ้าเราทำให้ทุกวันของเดือนเมษาเป็น "วันสงกรานต์" เพราะเราหวังว่ามันจะช่วยเพิ่มให้คนอยากมาเล่นสาดน้ำเมืองไทยล่ะก็ ความสำคัญของวันสงกรานต์ -- ที่เพิ่มจำนวนจากสามวันเป็นสามสิบวัน -- ก็จะลดน้อยลงตามๆกันไป และโอกาสที่คนจะเริ่มรู้สึกเบื่อหรือมี behavioural fatigue (หรือการปรับตัวลงของพฤติกรรมหลังจากต้องทำกิจกรรมนั้นๆนานติดต่อกันจนเกินไป) ก็จะสูงมากขึ้นกว่าเดิม สรุปคือเราอาจจะได้ไม่เท่ากับเสีย
นโยบายที่ดีกว่าก็คือทำให้สามวันสงกรานต์ยิ่งใหญ่กว่าเดิมมากกว่าการเพิ่มจำนวนวันสงกรานต์ การมี build-up to the event หรือการทำให้คนยิ่งรู้สึกตื่นเต้นว่า "เดี๋ยวจะถึงวันสงกรานต์ที่เรารอคอยมานานแล้วนะ" มากกว่าเดิม เป็นต้น
อย่าลืมว่า เวลาที่เราไปซื้อของ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรายิ่งอยากซื้อของที่เราอยากซื้อมากยิ่งขึ้นนั้นไม่ใช่เพราะมันมีของที่เราอยากซื้ออยู่เป็นจำนวนมาก แต่เพราะมันมีของที่เราอยากซื้ออยู่เป็นจำนวนน้อยมากๆ (scarcity) มากกว่านะครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี