'สุทิน'โกอินเตอร์ รับรางวัลสันติภาพโลก World Peace Award กล่าวสุนทรพจน์ ชูบทบาททหารไทย เป็น Peacekeepers และ Developers ทั้งรักษาสันติภาพ-นักพัฒนา
เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2567 World Award Stockholm ประเทศสวีเดน มอบรางวัลสันติภาพโลกให้แก่นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยนายสุทิน ได้เดินทางไปประเทศสวีเดนตั้งแต่คืนวันที่ 22 ส.ค. เพื่อรับรางวัลในวันที่ 24 ส.ค.2567
โดยการพิจารณารางวัลดังกล่าว พิจารณาจากนายสุทิน เป็นนักการเมืองที่มีภูมิหลังจากชาวบ้าน จากครูบ้านนอก เติบโตเข้าสู่การเมืองจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพลเรือนคนแรกที่เป็น รมว.กลาโหมโดยไม่ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสะท้อนแนวในการสร้างความปรองดอง และสันติภาพ สร้างความรักในหมู่ประชาชนคนไทย รวมทั้งพยายามสร้างความรักระหว่างประชาชน และกองทัพด้วย
โดย นายสุทิน กล่าวสุนทรพจน์ ด้วยภาษาอังกฤษ ระบุว่า "การพัฒนา เนื่องจากสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ และมีสิทธิทางการเมือง และสังคมอย่างเท่าเทียม
ซึ่งประเทศไทย โดยเฉพาะทหารไทยเรานั้นมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว สามารถทำหน้าที่ได้ ทั้งการรักษาสันติภาพ พร้อมกับการเป็นนักพัฒนา โดยเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ จากที่ได้แสดงศักยภาพในการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพที่ ติมอร์-เลสเต และดาร์ฟูร์ ในซูดาน และสำหรับภายในประเทศนั้น กองทัพไทยมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยใช้ศักยภาพ และทรัพยากรที่มี สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของความมั่นคงแบบองค์รวม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายสุทิน กล่าวว่า การที่พวกเรา มารวมตัวกัน ณ ที่นี้นั้น ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะร่วมเป็นฟันเฟือง ผลักดันให้เกิดวัฒนธรรม และชุมชนแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ในทุกระดับ
ทุกท่านในที่แห่งนี้คงจะมีความเห็นเช่นเดียวกับผม ว่าบริบทของโลกเราในยุคปัจจุบันนั้น อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยตกอยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบาง ซับซ้อน และไม่อาจคาดการณ์ได้ ทั้งจากความตึงเครียดระหว่างประเทศ
รวมทั้งความท้าทายรูปแบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศ โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนประเด็นด้านความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบ
ต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของโลก
ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดความขัดแย้ง ที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ได้ส่งผลกระทบทั้งต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของโลก รวมถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และห่วงโซ่อุปทาน โดยความไม่มั่นคง และการขาดเสถียรภาพ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนใดของโลก ย่อมส่งผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต่อพื้นที่ส่วนอื่นที่เหลือเช่นกัน
ซึ่งหากว่าปราศจากเสถียรภาพและความมั่นคงแล้ว การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรือง ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้
เมื่อผมมีโอกาสได้มาเยือนสวีเดน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำของการการขับเคลื่อน การสร้างสันติภาพของโลก ผมขออ้างถึงคำกล่าวที่สำคัญของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ชาวสวีเดน
ท่าน “แดก ฮัมเมอร์สโชลด์”ที่ว่า “เราไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกกรอบชะตากรรมของเรา แต่สิ่งที่เราทุ่มเทลงไปนั้น เป็นของเรา”
ซึ่งผมขอใช้โอกาสนี้ กล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์สันติภาพที่ยั่งยืน
เรื่องแรก คือ การพัฒนา เนื่องจากสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี มีปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ และมีสิทธิทางการเมือง และสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งประเทศไทย โดยเฉพาะทหารไทยเรานั้น มีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว สามารถทำหน้าที่ได้ ทั้งการรักษาสันติภาพ พร้อมกับการเป็นนักพัฒนา โดยเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ จากที่ได้แสดงศักยภาพ ในการเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพที่ติมอร์-เลสเต และ ดาร์ฟูร์ ในซูดาน
และสำหรับภายในประเทศนั้นกองทัพไทย มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาประเทศ โดยใช้ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของความมั่นคงแบบองค์รวม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เรื่อง การศึกษา โดยส่งเสริมค่านิยมต่าง ๆ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การเคารพในความหลากหลาย และการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งจะต้องเริ่มต้นในสถาบันการศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อปลูกฝังอุดมคติเหล่านี้ ให้กับคนรุ่นต่อไป
ในฐานะที่ผมทำงานด้านการศึกษา มาเป็นเวลานาน จึงทราบดีถึงความสำคัญของการศึกษามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทัศนคติและพฤติกรรม ที่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างบุคคลและชุมชน ผมจึงให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และพยายามผลักดันสนับสนุน ให้เกิดความรัก ความปรองดองระหว่างพี่น้องประชาชน
การพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นแนวคิดและวิธีการของท่านพระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ ใช้เผยแพร่คำสอนเพื่อส่งเสริมการสร้างสันติภาพ ให้กับสังคมในทุกระดับ โดยสันติภาพ เกิดจากบุคคล จึงต้องจัดการที่ความยึดมั่น ถือมั่นของมนุษย์ เริ่มจากการเข้าถึงหัวใจศาสนาของตนเองทำความเข้าใจระหว่างศาสนา และการลดละความโลภ
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “กับดัก ธูสิดีดีส” ที่ว่า การตัดสินใจทำสงครามหรือสร้างสันติภาพนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ ความหวาดกลัว และเกียรติยศ
พระคุณเจ้า และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน อย่างที่ผมได้เรียนในตอนต้น ว่าโลกในยุคปัจจุบันของเรานั้น กำลังเข้าสู่ห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ มีความท้าทายที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่มากมาย การได้มาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนนั้นไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว จำเป็นที่จะต้องมีความมุ่งมั่นในระดับสูงสุด เพื่อร่วมมือกัน และก้าวไปด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ดังที่ท่านอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเส้นทางที่จะนำไปสู่สันติภาพ แต่สันติภาพนั้นคือหนทาง”
ขอขอบคุณคณะกรรมการรางวัลสันติภาพโลกอีกครั้ง ที่ได้พิจารณามอบรางวัลแห่งสันติภาพ ให้กับผมในครั้งนี้
ขอยืนยันคำมั่น ที่จะทำหน้าที่ผลักดันการสร้างสันติภาพความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในทุกระดับ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก
นายสุทิน จะกลับถึงไทยในเช้าวันที่ 26 ส.ค. จากนั้นช่วงบ่ายมีกำหนดการจะเดินทางไปเยี่ยมประชาชนที่ประสพภัยน้ำท่วมที่จังหวัดภาคเหนือต่อ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี