“ถ้าจำได้เมื่อรัฐบาลเข้ามาจะบริหารประเทศ หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่พูดมาแล้วยังทำไม่ได้เลยคือราคาพลังงาน ราคาพลังงานเป็นปัจจัยที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2566 แล้วรัฐบาลถือเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งในเรื่องราคาพลังงาน แต่มาถึงวันนี้ผมคิดว่าเรื่องราคาพลังงานยังไม่ได้ตอบโจทย์ของการบริหารจัดการของรัฐบาลอย่างแท้จริง”
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ตั้งข้อสังเกตถึงรัฐบาลในประเด็น “นโยบายด้านราคาพลังงาน” ซึ่ง ณ ปัจจุบัน รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร
โดยหากไปดูท่าทีของ พีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน คนปัจจุบัน ก็จะพูดเรื่องการรื้อโครงสร้างพลังงานของประเทศ ทั้งกลไกราคา โครงสร้างต้นทุนต่างๆ แต่หากย้อนไปดูวันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งก็เป็นคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องราคาพลังงาน กลับบอกว่าการทำให้พลังงานมีราคาถูกนั้นเป็นไปไม่ได้ กลายเป็นมีภาพความขัดแย้งภายใน ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน เพราะทำให้คิดได้ว่าตกลงแล้วนโยบายที่หาเสียงไว้จะเป็นอย่างไร
ดังนั้นในมุมมองของตน “รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องราคาพลังงานที่หาเสียงไว้ ทิศทางที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร” เพราะเอาเข้าจริงๆ “รัฐบาลชุดนี้ทำงานมาแล้ว 1 ปีเศษๆ” แม้จะเปลี่ยนตัวนายกฯ จาก เศรษฐา ทวีสิน มาเป็น แพทองธาร ชินวัตร ก็ตาม แต่นโยบายด้านพลังงานยังเพียงการบอกว่าจะทำ อย่างเท่าที่ติดตาม แม้จะเห็นนายพีระพันธ์ุ พยายามจะรื้อกฎหมายแต่เป็นการทำเฉพาะภายในทีมกฎหมายของนายพีระพันธ์ุ ยังไม่เห็นการไปพูดคุยกับกระทรวงพลังงาน คำถามคือ ตกลงกฎหมายที่นายพีระพันธ์ุร่างขึ้นกับกระทรวงพลังงานจะไปด้วยกันหรือไม่?
“จริงๆ เรื่องพลังงานมีเรื่องคุยกันเยอะเลย พลังงานโดยพื้นฐานก่อน พลังงานเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องใช้แน่ๆ คือพลังงาน ตื่นมาใช้ไฟฟ้า ขับรถใช้น้ำมัน หุงอาหารใช้ก๊าซ มันอยู่ในลมหายใจของชีวิตประจำวัน ต้องบอกว่าอยู่ในลมหายใจค่าใช้จ่ายของชีวิตเลย ฉะนั้นการบริหารพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้มีแหล่งพลังงานอย่างก๊าซหรือน้ำมันที่เพียงพอในการใช้งาน
ในสิ่งที่เราพอจะมีคือในเรื่องของไฟฟ้า ก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนเราแพงกว่าประเทศอื่น อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นโจทย์ของรัฐบาลว่าทำไมมันถึงแพง? แล้วทำไมมันถึงจะทำให้ประเทศไทยมีต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้า ให้เราสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะไม่เช่นนั้นการลงทุนเขาก็มาดูในสิ่งเหล่านี้เช่นกัน ดังนั้นผมว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่อาจต้องคุยกันยาวๆ เรื่องหนึ่งเลย” นายสนธิรัตน์ กล่าว
จากเรื่องพลังงาน นายสนธิรัตน์ มองภาพรวมเกี่ยวกับ “นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล” ว่า รัฐบาลมุ่งมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” อันเป็นนโยบาย “เรือธง”แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำแต่ไม่สำเร็จ หากมองย้อนไปก่อนที่รัฐบาลจะแจกเงินสด 10,000 บาท ก็ถือว่ารัฐบาลผิดพลาดในการบริหารที่ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายนี้ออกมาได้ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปี กระทั่งในเดือนก.ย. 2567 จึงมีโครงการเร่งรัด แต่ก็เปลี่ยนมาแจกเงินสดจากเดิมที่บอกจะแจกแบบดิจิทัล วอลเล็ต
และหากให้พูดตรงๆ ก็คือโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพราะอยู่ในโครงสร้างของกลุ่มเปราะบาง และโครงสร้างฐานข้อมูลเดิมของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เคยทำไว้ เพียงแต่มีการจ่ายเงิน 1 หมื่นบาทครั้งเดียวขึ้นมา อีกทั้งรัฐบาลก็ยังไม่เรียกว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แต่ใช้คำว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยกับการแจกเงินสดให้กลุ่มเปราะบาง เพราะไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนและลงไปถึงกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เนื่องจากโครงสร้างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ถูกพิสูจน์แล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าลงไปถึงกลุ่มดังกล่าวได้จริง
“โครงสร้างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกิดขึ้นในปี 2561 ตอนนั้นพวกผมเป็นทีมเศรษฐกิจ นี่คือการเอาเงินลงไปข้างล่างโดยที่แท่งไอติมไม่ละลาย สังเกตเวลาเราเอาเงินลงข้างล่างมันต้องผ่านกลไกของรัฐ ผ่านกลไกของส่วนราชการ ของท้องถิ่น-ท้องที่ อะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเวลาไอติมออกจากกระทรวงการคลังมันเต็มแท่ง แต่กว่าจะไปถึงคนกินมันเหลือครึ่งแท่ง ตอนนั้นเราถึงคิดวิธีการในการที่ทำการแจกเงินยิงตรงเข้าไปสู่บัญชีธนาคารของกลุ่มเปราะบางเลย ก็ไม่มีใครไปแตะต้องตรงนี้ได้” นายสนธิรัตน์ เล่าที่มาของนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
แต่สิ่งที่ต้องบอกเกี่ยวกับคำถามว่า “ทำอย่างไรถึงเศรษฐกิจดี?” เมื่อรัฐบาลหาเสียงมาแล้วว่าจะใช้โครงการดิจิทัล วอลเล็ต เป็น “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนพูดเสมอว่าพายุหมุนต้องเป็นก้อนใหญ่มาก อย่างที่เห็นรัฐบาลประกาศในตอนต้นว่าใช้งบประมาณมากถึง 5 แสนล้านบาท แน่นอนตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ เม็ดเงินที่ลงไปไม่ว่าขนาดใดก็มีผลต่อการหมุนทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่หากวันนั้นรัฐบาลสามารถทำได้ด้วยงบฯ 5 แสนล้านบาทจริงๆ เชื่อว่าจะเป็นพายุหมุนที่พลิกเศรษฐกิจขึ้นมาได้
ในขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลใช้งบฯ ในการแจกไปประมาณ 1 แสนล้านบาท กับกลุ่มเปราะบางราว 14.2 ล้านคน และยังไม่รู้ว่า 1.การแจกครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด? อย่างที่ตนได้ฟังมาคือน่าจะเป็นก่อนเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 ซึ่งหากนับจากเดือน ก.ย. 2567-เม.ย. 2568 ก็ห่างกันถึง 6 เดือน 2.การแจกครั้งต่อไปจะหาเงินมาจากไหน? โดยกลุ่มที่ 2 ที่รอการแจกอยู่จะมีประมาณ 22 ล้านคน จะใช้งบฯ ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท
3.การแจกครั้งต่อไปจะเป็นรูปแบบใด? ในกรณีรัฐบาลมีแหล่งเงินพร้อมแจก คำถามคือจะแจกแบบดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่? และ 4.แจกแล้วจะได้ผลตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่? เพราะทุกครั้งที่รัฐมีนโยบายอัดฉีดเงินลงไปข้างล่าง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือผลของการอัดฉีด ไม่เช่นนั้นเงินออกไปแล้วก็จบ อย่างเรื่องที่น่าติดตามหลังจากการแจกเงินรอบแรกกับกลุ่มเปราะบาง 14.2 ล้านคน
“ผมว่าต้องไปตามดู สมมุติถ้าแจกแล้วไปจ่ายหนี้ แจกแล้วไปเอาของจำนำไว้ออกมา แจกแล้วไปทำอะไรที่มันไม่ได้มีผลต่อการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลอยากได้ เช่น ไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของ ตรงนี้ผมคิดว่าทีมของพรรคพลังประชารัฐกำลังติดตาม กำลังดูตัวเลขนี้อยู่ว่าลงไปแล้วจริงๆ มันไปหมุนเศรษฐกิจได้กี่เปอร์เซ็นต์” นายสนธิรัตน์ ระบุ
เมื่อเทียบกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า มีการขีดกรอบไว้ชัดเจนว่าให้ใช้กับอะไรได้บ้าง โดยตนที่เป็น รมว.พาณิชย์ ในเวลานั้น ได้กำหนดไว้ว่าต้องใช้บัตรกับร้านธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น ไม่ให้ใช้กับร้าน Modern Trade (ห้างหรือร้านค้าแบบสมัยใหม่) แม้จะแจกให้เพียง 300-400 บาทต่อเดือนแต่ไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐใกล้บ้าน ก็ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนลงไปข้างล่าง
และเมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ โจทย์ใหญ่คือ “จะทำอย่างไรให้คนข้างล่างแข็งแรง?” เพราะหากคนข้างล่างไม่แข็งแรงก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่มาก เกิดกลุ่มทุนที่ปกครองประเทศ ทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนตัวเล็กกับคนข้างบนยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น ตนพูดเรื่องนี้อยู่เสมอ “การส่งออกต้องโต..แต่ต้องโตให้มากที่ SMEs (กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม)” เพราะบริษัทขนาดใหญ่ขอเพียงอย่าเป็นอุปสรรคกับเขา ที่เหลือเขาไปด้วยตนเองได้
ประการต่อมา “ความพยายามของรัฐบาลที่จะเร่งรัดการลดอัตราดอกเบี้ย” ประเด็นนี้ นายสนธิรัตน์ อธิบายว่าไม่ว่าที่ไหนในโลก นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังมีโอกาสขัดแย้งกันเสมอ โดยตามระบบแล้ว ธนาคารกลาง (เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย-ธปท.) จะเป็นผู้รักษาเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่รัฐบาลจะใช้นโยบายทางการคลังในการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ อย่างปัจจุบันที่เห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. คือเรื่องอัตราดอกเบี้ย ธปท. ต้องการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่รัฐบาลต้องการให้ลดดอกเบี้ยลง
“ผมว่าทั้ง 2 ฝ่ายอยู่คนละมิติ รัฐบาลต้องการให้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่จะให้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยต่ำมันกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คงจะเป็นทิศทางเดียวกัน ก็คือแจกเงินเสร็จ ดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะได้เติบโตขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันเวลาเรามองเรื่องของแบงก์ชาติบ้าง แบงก์ชาติก็มีเหตุผลเรื่องของการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หรือกังวลใจในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ อย่างนี้เป็นต้น” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายสนธิรัตน์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือรัฐบาลกับ ธปท. พูดคุยกัน เพราะในความเห็นที่ไม่ตรงกัน รัฐบาลต้องการอย่างหนึ่ง แต่ ธปท. มีจุดยืนอีกอย่างหนึ่ง จะเกลี่ยเข้ามาหากันได้อย่างไร? เพราะต่างคนต่างก็มีเหตุผล แต่การมีภาพออกมาว่ารัฐบาลพยายามกดดัน ธปท. ให้ทำตามความต้องการของรัฐบาลนั้นไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล เนื่องจากความเป็นอิสระของธนาคารกลางนั้นเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าใครผิด-ใครถูก แต่รัฐบาลกับ ธปท. ต้องทำงานด้วยกัน และควรประชุมกันเงียบๆ ไม่ต้องพูดออกสื่อ
ทั้งนี้ การปล่อยเวลาให้เนิ่นนานก็กลายเป็นแรงกดดันต่อภาคธุรกิจและฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพูดคุยกัน หารือว่ารัฐบาลต้องการเป้าหมายแบบนี้ แต่หาก ธปท. ยังเป็นอยู่แบบนี้รัฐบาลอาจไปไม่ถึงเป้าหมาย จะมีวิธีที่ช่วยกันได้อย่างไรบ้าง แล้ว ธปท. กังวลใจอะไร แจกเงินแล้วกลัวกระทบวินัยการคลังหรือไม่ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ต้องคุยกัน
ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวของ พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ คนปัจจุบัน ในการวิพากษ์วิจารณ์ ธปท. อย่างต่อเนื่อง ตนเข้าใจว่านายพิชัยคงมองในมิติของการส่งออก เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็งส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ก็ไม่ควรจะให้กระทบกับความรู้สึกและความสัมพันธ์ ตนมองว่าต้องใช้การบริหารร่วมกันที่ดี อาจต้องนั่งหารือ เปิดใจคุยกัน รู้ว่าหากจะเกิดอะไรขึ้นเกิดได้อย่างไร ส่วน รมว.พาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องการส่งออก ก็ต้องไปดูว่าจะแก้เกมอย่างไรหรือต้องปรับอะไรให้การส่งออกไปต่อได้
ส่วนกรณีที่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแนะนำ ธปท. ว่า การแก้ความผันผวน ซึ่งปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาจากการแทรกแซงค่าเงินเท่านั้น แต่ต้องแก้ที่ต้นตอคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยที่แตกต่างจากนโยบายการเงินของโลกโดยเฉพาะของประเทศมหาอำนาจ ตนมองว่า แต่ละประเทศมีปัจจัยไม่เหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไม่ลดดอกเบี้ย ซึ่งก็ต้องไปดูว่าเหตุใดจึงเลือกไม่ลด?
นอกจากนั้นยังต้องไปดูอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 5 กว่าๆ ตนมองว่าสหรัฐฯต้องลด ส่วนไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เรื่องนี้ต้องไปคุยกัน เพราะมีเรื่องของเงินทุนหมุน (Fund Flow) ซึ่งมีทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยและเรื่องค่าเงิน ตนมองว่าสิ่งที่ ธปท. กังวลคือเงินที่จะออกนอกประเทศ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วปรับอัตราดอกเบี้ยไม่ลงตัว ทั้งนี้ ตนคาดการณ์ว่า ธปท. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจกำลังประเมินอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งตนไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ว่าฯ ธปท. จึงไม่รู้ว่าลึกๆ คิดอย่างไร แต่เชื่อว่าประเมินอยู่ตลอด
เพราะขณะนี้ ธปท. เหมือนตกเป็นจำเลย ทุกฝ่ายกดดันให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย หากลดได้ก็คงลด แต่หากลดไม่ได้แสดงว่าต้องมีเหตุ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลกับ ธปท. ต้องไปคุยกัน เรื่องที่ ธปท. กังวล รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร เพราะบางครั้งก็เป็นเรื่องนโยบายการคลังที่กระทบต่อนโยบายการเงิน ส่วนที่นายเผ่าภูมิ แนะนำว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เรื่องนี้มี 2 ขา เพราะเงินบาทอ่อนด้านหนึ่งผู้นำเข้าก็เหนื่อยแถมยังทำให้ต้นทุนพลังงานสูง แต่อีกด้านก็ช่วยให้การส่งออกทำได้ดี
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถูกพูดถึงมานานแล้ว แต่ตนเห็นว่าค่าเงินที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร และยังแตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนายเผ่าภูมิอาจมีข้อมูลจากที่ไปประเมินและศึกษามา คงต้องตามไปดูว่าเป็นค่าเงินที่เหมาะสมหรือไม่? อย่างไร? แต่ในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจเขาต้องการเสถียรภาพที่ไม่แกว่งตัวมากนัก ตนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในปัญหานี้ เพราะหากค่าเงินแกว่งมากผลกระทบก็มาเร็วจนอาจปรับตัวไม่ทัน การทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ ไม่แกว่งตัวเกินไปก็เป็นเรื่องสำคัญ
อีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ “นโยบายค่าจ้างแรงงาน” ซึ่งรัฐบาลพยายามจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวันนายสนธิรัตน์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการบนเศรษฐกิจที่เปราะบาง รายใหญ่นั้นไม่มีปัญหาเพราะมีผลเพียงกำไรลดลง แต่ที่น่าห่วงคือรายกลางและรายเล็กเพราะจะกระทบหนักมาก” ในขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายกระตุ้น SMEs ที่เป็นเศรษฐกิจฐานราก แต่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวทำได้ยากขึ้น จึงถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในเวลานี้
“แต่สิ่งที่ขาดมาเสมอคือไม่ได้เอาเรื่องค่าแรงไปผูกกับคุณภาพของแรงงาน ในความคิดของผมคือค่าแรงควรจะผูกกับการ Upskill (เพิ่มทักษะ) ของแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานบอกว่าทำอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ผมว่าเป็นสิ่งที่ต้องสร้างเป็นมาตรฐานให้ได้ แล้วอยู่มาตรฐานที่ถ้าแรงงานมีฝีมือไม่มีใครไม่จ้าง ต้องมีวิธีการ เพราะเราอย่าลืมว่าการเพิ่มทักษะเป็นเรื่องสำคัญมาก สิงคโปร์แจกเงินให้คนไปเพิ่มทักษะ คือยกระดับความรู้ความสามารถไปทางที่จะเท่าทันการเปลี่ยนแปลง
หรืออีกคำคือการ Reskill (เรียนรู้ใหม่แทนของเดิม)ก็คือคนที่เคยทำงานเดิม สมมุติคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ของยานยนต์ รถยนต์มันเปลี่ยนเป็น EV (ยานยนต์ไฟฟ้า) Spare Part (ชิ้นส่วนอะไหล่) มันเปลี่ยนหมด วันนี้ต้อง Reskill เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์มีแต่ลงกับลงตราบใดที่รถยนต์ไฟฟ้ามันมา เมื่อต้อง Reskill รัฐต้องเข้ามาช่วย ไม่เช่นนั้นเขาก็จะตกงานไม่มีงานทำ ดังนั้น Upskill - Reskill มันควรเป็นส่วนหนึ่งที่มาผูกเป็นสมการกับค่าแรง” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝากข้อคิด
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี