"เจิมศักดิ์"จับสัญญาณนักวิชาการลุกฮือรวมพลังค้านการเมืองครอบงำแบงก์ชาติ ชี้เป็นวิธีคิดของนักการเมืองที่สนใจแต่ประโยชน์ระยะสั้น ทั้งที่ธปท.ต้องมีความเป็นอิสระ ย้อนถามถ้าธนาคารกลางของประเทศไทยไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ สัมพันธ์การเงินกับทั่วโลก การลงทุน การเงิน จะเป็นอย่างไร?
31 ต.ค. 2567 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ในประเด็นกลุ่มนักวิชาการนับร้อยคนออกมารวมตัวกันคัดค้านการที่ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เจาะจงไปที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นการเฉพาะ แม้นายกิตติรัตน์ จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก็ตาม คือไม่ได้สนใจเรื่องตัวบุคคลมากเท่าหลักการ
กล่าวคือ กลุ่มการเมืองมักสนใจประโยชน์ที่รวดเร็ว หรือประโยชน์ระยะสั้น (Quick-Win) เพราะกลุ่มการเมืองโดยเฉพาะในประเทศไทยรู้ว่าจะอยู่ได้ไม่ยาว มีการพลิกไป-มา ดังนั้นใครที่มาเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ย่อมแสวงหาโครงการที่รู้สึกว่าทำให้รายได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ธปท. หรือนักเศรษฐศาสตร์จะไม่อยากเห็นผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สูงขึ้น แต่ต้องสูงขึ้นเทียบเท่าศักยภาพของปัจจัยการผลิตในประเทศ เพราะหากสูงเกิดศักยภาพ นั่นคือฟองสบู่ เป็นของปลอมไม่ใช่ของจริง
ดังนั้น ธปท. จะเห็นต่างในจุดนี้ เพราะต้องดูเสถียรภาพในระยะยาว เดินได้ระยะยาวอย่างมั่นคงปลอดภัย ซึ่งนี่เป็นหลักของธนาคารกลางในทุกประเทศ แต่ทางการเมืองก็อยากให้ฟู่ฟ่ารวดเร็วทันใจ ธนาคารกลางกับฝ่ายการเมืองจึงขัดแย้งกันเป็นประจำในทุกประเทศ จึงได้มีกติกาอยู่ว่าธนาคารกลางต้องเป็นอิสระ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าใครก็แตะต้องไม่ได้ ธนาคารกลางต้องทำสัญญากับรัฐบาล หมายถึงสัญญาเรื่องการดูแลเสถียรภาพด้านราคา หมายถึงราคาสินค้าหรือเงินเฟ้อต้องไม่สูงเกินเท่าใด
อย่างปัจจุบันของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 1-3 แต่หากเกินกว่านี้ ธปท. อาจต้องขึ้นดอกเบี้ย หรือทำอะไรบางอย่างเพื่อกดราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป หรือในทางกลับกัน หากเงินฝืดก็ไปก็จะมีวิธีการ ดังนั้นหากเงินเฟ้อเป้าหมายยังอยู่ในกรอบร้อยละ 1-3 จะไปกดดัน ธปท. เขาก็ไม่ทำอะไร เพราะถือว่าได้ทำตามกติกาหรือตัวชี้วัดแล้ว เพราะหากฝ่ายการเมืองสามารถกดดันให้เพิ่มหรือลดดอกเบี้ยได้ ใครก็ตามที่รู้ล่วงหน้าเพียง 1-2 วัน ก็มีช่องทางที่จะร่ำรวยขึ้นมาได้ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีธรรมาภิบาล ต้องแยกหน้าที่ออกจากกัน
ทั้งนี้ ธปท. เป็นหน่วยงานอิสระ ดังนั้นทำอย่างไรจะทำให้ประธานคณะกรรมการ ธปท. ไม่ถูกอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง อีกทั้งคณะกรรมการ ธปท. ยังสามารถแต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่ง กนง. จะมีทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็นผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ธปท. รวม 3 คน บวกกับผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน อีกทั้งรองผู้ว่าฯ ธปท. แม้ผู้ว่าฯ ธปท. จะเป็นผู้เสนอ แต่คนรับรองคือคณะกรรมการ ธปท. ดังนั้นผู้ว่าฯ ธปท. ก็อาจหัวเดียวกระเทียมลีบได้
ขณะที่คณะกรรมการคัดสรร หรือคณะกรรมการสรรหา จำนวน 7 คน กฎหมายระบุว่าให้มาจากอดีตปลัดกระทรวง หรืออดีตเลขาฯ สภาพัฒน์ อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ อดีตเลขาฯ กฤษฎีกา รวม 10 หน่วยงาน ซึ่งตนเป็น สว. ในช่วงที่มีการร่างกฎหมาย ธปท. ที่ คกก.สรรหา คัดจากอดีตบุคคลเหล่านี้ 30 คน เหลือ 10 คน และ 7 คน ตามลำดับ แต่ในความเป็นจริงก็สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกอดีตคนใด เช่น คนที่รู้จักกัน คนที่คุยกันได้ หรือคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน เพราะไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้
“ทีนี้พอ 7 คนนี้คัดสรร เขาให้กระทรวงการคลังเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นประธานบอร์ด คราวนี้เขาเสนอมา 1 คน กฎหมายเขียนว่าถ้าคลังเสนอมา 1 ให้แบงก์ชาติเสนอมา 2 เท่า คือ 2 ดูเผินๆ ก็ดี แบงก์ชาติมีตั้ง 2 คน คลังเสนอ 1 คน แล้วคณะกรรมการคัดสรรจะเลือกคนไหนก็ได้ พอเห็นแบบนี้ถ้าคณะกรรมการคัดสรรเอนเอียง จะเลือกใครก็ได้ใช่ไหม? 2 คนนี้ไม่มีความหมายเลย เผลอๆ เสียงแตกอีก ในบรรดากรรมการสรรหา 7 คน คุณลงคะแนนกัน 2 คนที่มาจากแบงก์ชาติอาจจะเสียงแตก อาจจะแพ้ก็ได้” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ธปท. ยังมีคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) คอยกำกับดูแลธนาคารต่างๆ ซึ่งสัดส่วนของ กนส. คนของ ธปท. ก็เป็นเสียงส่วนน้อยไม่ต่างจาก กนง. ที่ฝั่งจากบอร์ดตั้งมาจะมีมากกว่า ถามว่าน่าเป็นห่วงหรือไม่ห่วงบอร์ดมีอิทธิพลทางการเมืองหรือมีแรงจูงใจบางอย่าง ลองคิดดูว่าเรื่องสถาบันการเงินมีผลประโยชน์เยอะหรือไม่ ซึ่งตนในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เข้าไปอยู่ใน ธปท. ไม่ได้รู้เรื่องราวละเอียด ดังนั้นทำอย่างไรจะให้ ธปท. มีอิสระในการบริหาร ไม่ใช่อิสระ 100% แต่อิสระภายใต้สัญญาที่ทำไว้และต้องทำตามนั้น
ทั้งนี้ ตนพูดในนามกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าอดีตผู้ว่าฯ ธปท. 4 ท่าน มายุยงหรือครอบงำให้พวกตนทำ แต่ทั้ง 4 ท่าน เห็นพวกตนทำแล้วเป็นสิ่งที่ดีก็มาร่วมลงชื่อด้วย คือพวกตนเป็นคนริเริ่ม แต่พอสื่อมวลชนเห็นชื่อ 4 ท่าน ก็ไปชูรายชื่อเหล่านั้นก่อน ดังนั้นจึงไม่มีการพูดกันว่าพวกตนอยากได้ใคร แต่พูดกันด้วยความเป็นห่วง ธปท.
และไม่ใช่ห่วงการสรรหาประธานบอร์ดหรือบอร์ดเท่านั้น อย่างในวันที่ 30 ก.ย. 2568 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งก็จะต้องสรรหาผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ก่อนหน้านั้น 90 วัน ซึ่งที่มาของคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ ธปท. ก็จะเหมือนกับคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. จะมีความน่าเป็นห่วงอย่างไรตนก็ไม่ต้องพูดซ้ำ ซึ่งหาก ธปท. ถูกการเมืองครอบงำทั้งบอร์ด ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางของไทยจะมีปัญหาหรือไม่
“ถ้าธนาคารกลางของประเทศไทยไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เราสัมพันธ์การเงินกับทั่วโลก การลงทุน การเงิน ทุกคนจะรู้สึกว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยสั่งได้ อัตราการแลกเปลี่ยนสั่งได้ ถูกสั่งเรื่องสถาบันการเงินได้ เพราะผลประโยชน์ระยะสั้นหรือผลประโยชน์ส่วนตัวของบางกลุ่มบางก้อน ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร?” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ระบุ
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า เคยมีงานวิจัยว่าด้วยอิทธิพลทางการเมืองต่อ ธปท. ยุคก่อนและยุคหลัง ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งเป็นคุณูปการที่อาจารย์ป๋วยพยายามวางหลักการให้ ธปท. เป็นธนาคารกลางอย่างแท้จริง และหลังจากนั้นก็มีการปรับแก้กฎหมาย กำหนดให้ ธปท. เป็นอิสระมากขึ้นจากการเมือง หากไปดูประวัติศาสตร์จะพบว่า หลังจากนั้นผู้ว่าฯ ธปท. จะดำรงตำแหน่งได้ยาวนานขึ้น จากเดิมก่อนหน้านั้นที่มักถูกการเมืองแซะ
อย่างกฎหมายองค์การกระจายเสียงสาธารณะ หรือกฎหมาย ThaiPBS ที่มีบอร์ดและผู้อำนวยการ ก็ล้อมาจากกฎหมาย ธปท. เพราะระยะหลังๆ กฎหมาย ธปท. กันไว้ค่อนข้างดี แต่ถึงจะกันอย่างไรก็ยากที่จะทำให้องค์กรเป็นอิสระอย่างแท้จริง อย่างตนเป็น สว. ในปี 2543 ซึ่งเป็น สว. ที่มาจาการเลือกตั้ง ยุคนั้นก็มีองค์กรอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ใครที่ได้เห็นกรรมการองค์กรอิสระชุดแรก ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต. ก็ดูมีความหวัง แต่หลังจากนั้นก็ถูกแทรกแซงตลอด ถ้าให้เวลาตนก็พูดได้เป็นชั่วโมงว่ามีวิธีแทรกแซงกันอย่างไร
ทั้งนี้ ตนไมได้หมายความว่าเมื่อการเมืองไม่เข้าไปแล้วจะทำได้ดี แต่การที่การเมืองเข้าไปความน่าเชื่อถือจะตกก่อน ส่วนคำถามว่า ภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. ตั้งแต่ยุคอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน น่าเป็นห่วงหรือไม่ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายที่ต้องดูแลการเงิน ตนว่าน่าเป็นห่วง เหมือนคนของพรรคเพื่อไทยโฉ่งฉ่าง จริงๆ ทำกันหลังบ้านก็ได้ เชิญมาคุยกันไม่ต้องให้เป็นข่าวก็ได้
หรืออย่างสมัยที่นายกิตติรัตน์ เป็น รมว. คลัง ก็เคยบอกว่าหากปลดผู้ว่าฯ ธปท. ได้คงปลดไปแล้ว ลักษณะท่าทีแบบนี้คือการแสดงออกว่ามีอำนาจเพราะมาจากการเลือกตั้ง เรามาดูแลประเทศดังนั้นคุณจะมาใหญ่กว่าผมไมได้ แต่ในแง่โครงสร้างฝ่ายบริหารไม่ควรไปแตะต้องตรงนั้น ธปท. เป็นสถาบันที่ต้องดูเสถียรภาพระยะยาวเพื่อความยั่งยืน รัฐบาลในฐานะกระทรวงการคลังก็ทำไป ซึ่งเป็นคนละเครื่องมือกัน (ชมคลิปต้นฉบับที่นี่ )
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี