“มท.2” นำกรมที่ดินลุยบุรีรัมย์รับฟังความเดือดร้อนชาวบ้านปมข้อพิพาท “ที่เขากระโดง” ไร้ตัวแทนการรถไฟฯร่วมถก ชาวบ้านหน่วยงานในพื้นที่ขุดสารพัดข้อมูลแจงยิบ โต้การรถไฟฯ ทำเหมือนชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ ปัญหาล่าสุดแบงก์ไม่รับจำนอง เพราะถือเป็นพื้นที่พิพาทอยู่ ขณะที่ชาวบ้านพากันโชว์โฉนดสุดเก่ายันอยู่มาก่อนการรถไฟฯด้าน สส.บุรีรัมย์ภท. ซัดเกมการเมือง ชอบงัดเขากระโดงมาพูดตอนจะเลือกตั้ง พุ่งเป้าเนวิน “อธิบดีที่ดิน” ยกคดีเพิกถอนสิทธิ์ “อัลไพน์” แตกต่าง
‘เขากระโดง’ ‘อธิบดีที่ดิน’ ยันไม่ฟ้องกลับ‘รฟท.’
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 1 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกระบวนการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินอันเป็นการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของประชาชน ป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐในจ.บุรีรัมย์ โดยเฉพาะกรณีพิพาทเขากระโดง มีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพื้นที่พิพาทเขากระโดง มีประชาชนกว่า 400 คน 12 หน่วยงานราชการที่ได้รับผลกระทบร่วมงาน
นายทรงศักดิ์กล่าวต่อว่า วันนี้พยายามนำข้อเท็จจริงมาสะท้อนปัญหาให้เห็นข้อพิพาท เรื่องที่ดินเขากระโดง ที่เกิดเป็นประเด็นไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่ตนต้องพูดอย่างนี้ เพราะตนเป็นคนบุรีรัมย์ เกิดมาก็เห็นเขากระโดง เห็นประชาชนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เห็นถนนมาจากประโคนชัยมายังบุรีรัมย์ไปมาหาสู่กัน เป็นคนในจังหวัดเดียวกัน และเป็นประเด็นผิดพลาดมาจะเป็นเรื่อง มีคนเข้าใจคลาดเคลื่อนทั้ง เรื่องที่ดินเป็นของการรถไฟหรือไม่ และมีข่าวที่ออกไป จนเป็นประเด็นปัญหาทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน
ปชช.งัดโฉนดเก่าแทบขาดโต้อยู่ก่อนรฟท.
ทั้งนี้ จากการรับฟังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5,000 ไร่ รวมไปถึงศูนย์ราชการและวัดที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว หากฟังทั้งหมดตนเข้าใจว่า เหมือนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะไปก้าวล่วงสิทธิ์ของประชาชน ตนเชื่ออย่างนี้ เพราะการได้มาซึ่งที่ดินของการรถไฟมีกฎหมายเฉพาะ ไม่น่าจะเป็นที่ดินของการรถไฟ เป็นที่ดินที่มีความพิพาทเรื่องของความคิดเห็นประชาชนที่รับฟังจากสื่อมวลชน ที่นำเสนอ น่าจะมีความเข้าใจไปในทำนองว่าประชาชนไปอยู่ในที่ของการรถไฟ ฉะนั้นวันนี้ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ ที่กรมที่ดินและผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการได้เชิญประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียมาพบกัน หลายคนก็แสดงเอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนด ซึ่งบางคนเห็นได้ว่าโฉนดเก่ามากแทบขาด
“ผมในฐานะเป็นรมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายจากรมว.มหาดไทยให้ดูแลกรมที่ดิน ผมย้ำอธิบดีกรมที่ดิน อยู่เสมอว่าเรื่องพิพาทที่เป็นการริดรอนสิทธิ์แบบนี้ ต้องมีหลักฐานมีข้อมูล ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะกระทบกับสิทธิ์ของประชาชนไม่ใช่น้อย 5,000 กว่าไร่ 900 กว่าแปลง ต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพิ่งนำมาสู่การนำเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เรื่องของทุน วันนี้พอมีเรื่องข่าวของความไม่ชัดเจนเรื่องที่ดิน ทำให้ประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิ์ ไม่มั่นใจ พร้อมระบุว่าการไถ่ถอนเอกสารสิทธิ์จากธนาคาร หากต้องการยื่นต่อธนาคารอีกครั้ง เราทำต่ออีกไม่ได้ เนื่องจากธนาคารจะไม่รับเอกสารที่ดินที่มีกรณีพิพาท จึงจำเป็นต้องเร่งทำให้เกิดความชัดเจน” รมช.มหาดไทย กล่าว
เปิดข้อมูลตรวจแนวเขตไม่ใช่ที่รถไฟ
ด้านนายเจนกิจ เชฏฐวาณิชย์ รองอธิบดีกรมที่ดินชี้แจงว่าเหตุผลที่กรมที่ดินมาวันนี้เพราะยังมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ จึงมีนโยบายนำเรื่องนี้มาชี้แจงให้ประชาชนทราบ ซึ่งภารกิจของกรมที่ดินคือ การออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชน ในพื้นที่เขากระโดงมี 2 ตำบลคือ เสม็ด และอิสาน ซึ่งออกไปแล้ว 995 แปลง ยืนยันว่าเราไม่ได้ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว มีหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้อง เช่นท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ รวมถึงส.ป.ก. และในเขากระโดงมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้ามาเป็นคู่ความกับกรมที่ดินในปัจจุบัน จากการตรวจสอบพบว่ามีการระวางชี้แนวเขต ที่การรถไฟรับรับรองว่า ไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟ ตรวจสอบจากข้อมูลในสารระบบ 2 ตำบล 271 แปลง เป็นข้อเท็จจริง ที่ยังไม่เคยปรากฏในข่าว ยืนยันว่ากระบวนการเราตรวจสอบแล้ว ครบตามกฏหมายที่ดิน จนปี 2539 มีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับการรถไฟ จึงเป็นที่มาของทำแผนที่ปี 2539 ที่แก้ปัญหาสมัชชาคนจน จึงนำแผนที่ฉบับนี้ไปใช้ต่อสู้ในคดีของประชาชน จึงเป็นที่มาของคำพิพากษาทั้ง 3 คดี
ชี้ข้อมูลรฟท.ไม่ชัดพอถอนโฉนดปชช.
ขณะที่นายสมบัติ ลาอ่อน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ชี้แจงว่า ในส่วนที่ศาลมีคำพิพากษามีอยู่ 3 คำพิพากษา ทั้งการรถไฟฟ้องไล่ราษฎร และราษฎรฟ้องกรมที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินทำตามคำพิพากษาเป็นอย่างครบถ้วน เป็นการพิพาทระหว่างประชาชน 35 รายกับการรถไฟ ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นกรณีสำคัญการรถไฟได้อาศัยข้อเท็จจริงจากศาลคดีนั้นมาให้กรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ที่ได้วินิจฉัย พร้อมระบุว่าไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะใช้อำนาจเพิกถอนหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้อธิบดีกรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 พิจารณาดำเนินการในส่วนที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งจากการพิจารณาตามพยานหลักฐานประกอบคำพิพากษา ที่มาจากพิจารณาจากทุกภาคส่วน
นายสมบัติกล่าวด้วยว่า กรณีที่การรถไฟกล่าวอ้างไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะเอามาใช้เพิกถอนโฉนดที่ดินของประชาชนได้ ฉะนั้นในส่วนนี้คณะกรรมการตามมาตรา 61 เสนอให้ยุติดำเนินการในส่วนนี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามที่ประชาชนต่อสู้ ส่วนปัจจุบันการดำเนินการการรถไฟก็อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ ฉะนั้นขณะนี้กรมที่ดินก็อยู่ระหว่างการรอผลพิจารณาการอุทธรณ์ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาและจะดำเนินต่อไปคงต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอ จึงจะดำเนินการ ในส่วนของกลุ่มที่ดินได้
สส.บุรีรัมย์ชี้เกมการเมืองพุ่งเป้าเนวิน
นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนให้พี่น้องที่ถือครองที่ดิน นำโฉนดที่ตนถือครองมาแสดง ทำให้เห็นว่าโฉนดที่ดินที่พี่น้องถือครองอยู่นั้นเป็นเอกสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่ออกโดยกรมที่ดิน และโฉนดของพี่น้องบางคน ถือครองมาตั้งแต่ในสมัย ปู่ ย่า ตา ยาย
“เรื่องที่ดินเขากระโดงสำคัญคือ เรื่องการเมือง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สมัยก่อนมีก็มักมีนักการเมืองนำเรื่องเขากระโดงมาหาเรื่องและมาโจมตีผู้ครอบครองที่ดิน โดยเฉพาะนายเนวิน ชิดชอบ และเมื่อเลือกตั้งเสร็จทุกอย่างก็เงียบ และขอยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ว่าประชาชนที่อยู่อาศัยได้รับโฉนดได้รับเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนพอดี 35 แปลงที่ศาลมีคำสั่ง กรมที่ดินก็ทำตามคำสั่งศาลไปแล้ว แต่อีก 7,000 แปลงที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย”นายสนองกล่าว และย้ำว่า พวกเราทั้งหมดเราไม่เคยบุกรุกที่หลวง ที่การรถไฟ แต่เป็นที่ดินที่เรามี นส.3 มีเอกสารสิทธิ์ ที่เราครอบครอง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคนบุรีรัมย์เคารพกฎกติกาและทำตามกฎหมายทุกประการ
เจ้าอาวาสโอดกระทบจุดเผาศพ
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าอาวาสจากวัดป่าศิลาทอง ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ที่ดินที่ก่อสร้างวัดได้ผ่านการพิจารณา โดยได้รับอนุญาตให้สร้างวัดตั้งแต่ปี 2528 พอมาถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2567 การรถไฟฯได้มาปักเสาตรงมุมวัด ส่งผลกระทบอย่างมาก ถ้าลากตามเส้นนั้น เพราะเป็นมุมที่สำหรับเผาศพ มีกระดูก และเป็นของบรรพบุรุษชาวบ้านอยู่มาเก่าก่อน
จากนั้นนายทิวา การกระสัง ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า การสำรวจพื้นที่เขากระโดงตามพระราชกฤษฎีกาปี 2462- 2463 ถูกยกเลิกไปแล้วตามพระราชกฤษฎีกาปี 2464 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับไม่ใช่กฎหมายที่จะให้ที่ดินดังกล่าวเป็นสิทธิ์ของการรถไฟฯ ฉะนั้น จะมาบอกว่าที่ดินตรงนี้เป็นของการรถไฟฯได้อย่างไร ตอนที่จะมีการวางรางรถไฟ มีการเขียนแผนที่ไว้ก่อนว่าทางรถไฟจะออกไปทางไหนบ้าง ซึ่งทางผ่านจังหวัดบุรีรัมย์เขียนแผนที่ส่วนแยกไว้สองส่วนคือ ส่วนเขากระโดงกับส่วนแยกบ้านตะโก ซึ่งเขียนไว้ก่อนที่จะสำรวจในปี 2462 แต่เพิ่งมีการเริ่มอ้างสิทธิ์ในปี 2517 เรื่องเขากระโดงทุกคนอ้างตัวหนังสือ ตะแบงเอากฎหมายใกล้เคียงมาตัดสิน ไม่มองความเป็นธรรม ไม่ให้ความยุติธรรมกับพวกเราเลย
แช่งรฟท.เมินส่งตัวแทนร่วมถก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายทิวาให้ชาวบ้านปรบมือแช่งการรถไฟฯที่จะมาเอาที่ดินเขากระโดง ขณะเดียวกันให้ชาวบ้านปรบมือให้อธิบดีกรมที่ดิน เพราะถ้าไม่มีอธิบดีกรมที่ดินคนนี้ ชาวบ้านคงไม่มีที่อยู่กันแล้ว พร้อมบอกว่าถ้าอธิบดีกรมที่ดินถูกฟ้อง ขอให้แจ้งชาวบ้าน เราจะไปเป็นจำเลยด้วยกัน ทั้งนี้ ทางกรมที่ดินได้ทำหนังสือเชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ในวันนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีการส่งตัวแทนมาร่วมแต่อย่างใด หลังการสัมมนานายทรงศักดิ์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดสิ้นสุดของทางรถไฟที่กิโลเมตร 6.2 และพบปะประชาชนที่ครอบครองที่ดินที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2462
ผญบ.ยันไม่ใช่ที่รถไฟอยู่ก่อนปี2460
นายทรงศักดิ์ให้สัมภาษณ์หลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเขากระโดงจังหวัดบุรีรัมย์ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนที่ประชาชนอาจสับสน กรมที่ดินดำเนินตามกฏหมายเคร่งครัด วันนี้เชิญการรถไฟฯมาด้วย เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงจากประชาชน และหน่วยราชการในพื้นที่ แต่การรถไฟฯไม่มา และจากการพบประชาชนก็ได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟ เป็นที่ที่ประชาชนอยู่ได้ ตนดูข้อมูลที่ผู้ใหญ่บ้านแจ้งมาว่าอยู่ตั้งแต่ปี 2460 ก่อนออกกฤษฎีกา สำรวจแนวเขตของการรถไฟ ซึ่งหากการรถไฟฯ ประสงค์ที่ดิน ก็ต้องออกกฏหมายพระราชบัญญัติกฤษฎีกา เพื่อจัดซื้อจัดหาที่ดินการรถไฟให้ชัดเจน ยืนยันว่าเราเชิญไปแล้วการรถไฟฯต้องมา เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการพิพาท
ซัดน่ารังเกียจโยงการเมืองรุกสิทธิ์ปชช.
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่การรถไฟฯมาขยับเช่นนี้มีการเมืองหนุนหรือไม่ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่าตนยังยืนยันไม่ได้ว่ามีพรรคการเมืองหนุนหลังหรือไม่ สังเกตดูว่าทุกครั้งที่ออกมาจะเป็นช่วงเลือกตั้ง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนของการเมือง และเป็นที่ดินที่เกี่ยวข้องกับคนการเมือง ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็คงเป็นไปไม่ได้ คงเกี่ยวบ้างเล็กน้อย การหยิบยกการเมืองมารุกสิทธิ์ประชาชน เป็นเรื่องน่ารังเกียจ เพราะสิทธิ์ที่ทำมาวันนี้กระทบประชาชนไม่ใช่รายเดียว จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจน การได้มาซึ่งที่ดินของประชาชนในการครอบครองนั้น ถูกต้องตามกฏหมายทุกประการ มาตามประมวลกฎหมายที่ดินทุกอย่าง ถ้าการรถไฟบอกว่าเป็นที่การรถไฟฯ ก็เป็นหน้าที่การรถไฟฯ ไม่ใช่หน้าที่ประชาชน ที่ต้องพิสูจน์สิทธิ์การได้มาซึ่งที่ดิน ตามกฎหมายของการรถไฟ และที่ทราบมาการรถไฟยังหาหลักฐานแผนที่ท้ายกฤษฎีกาไม่ได้เลย
จี้รฟท.แจงอย่ายึดแค่คำสั่งศาล
และว่า ตนพบข้อพิรุธจำนวนมาก ทั้งสัดส่วนและระยะ และความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินต่างจากทางรถไฟฯกว่า 1 กิโลเมตร ทั้งที่พื้นที่อื่นนั้นไม่มี และพื้นที่ทางแยก ตนมองว่าที่ไหนก็มีพระราชกฤษฎีกาหมด ดังนั้น พื้นที่ทางแยกเขากระโดงเป็นเพียงพื้นที่เดียวหรือที่ได้รับการยกเว้น ส่วนกรมที่ดินจะฟ้องร้องกลับหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของกรมที่ดิน แต่ตนในฐานะที่กำกับดูแลก็ได้กำชับอธิบดี ว่าต้องทำตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับ ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนข้อเสนอที่ให้กรมที่ดินและการรถไฟฯเปิดโต๊ะพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนนั้น นายทรงศักดิ์กล่าวว่า วันนี้รวมหลักฐานไว้แล้ว เพราะกระทบประชาชนจำนวนมาก สองฝ่ายต้องคุยกัน การรถไฟฯต้องนำพยานหลักฐานมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่ยึดเพียงว่าเป็นคำสั่งของศาลแล้วจะเป็นที่ของการรถไฟ
อธิบดีที่ดิน’ ยันไม่ฟ้องกลับ‘รฟท.’
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบริเวณที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ถึงการดำเนินการหลังจากนี้กรมที่ดินจะฟ้องร้อง รฟท.หรือไม่ ว่า ขณะนี้ กรมที่ดินทำหนังสือแจ้งไปยัง รฟท.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างรอแก้อุทธรณ์ตามขั้นตอนต่างๆ ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่ ยืนยันว่าคงไม่ฟ้อง เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่หน่วยงานนั้นยึดถือ ฉะนั้นคงไม่ถึงขั้นต้องนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานราชการ
เมื่อถามถึงกรณีที่ชาวบ้านบอกว่าหากอธิบดีกรมที่ดินถูกฟ้องร้องก็พร้อมที่จะไปเป็นจำเลยร่วม อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า การดำเนินการทุกอย่างยึดตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง และรายงานผลการดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 ภายใน 15 วัน นำมาซึ่งการตั้งข้อสังเกตเรื่องการรังวัดพื้นที่ข้อพิพาท โดยขณะนี้ทำเสร็จทั้งหมด และได้รายงานกลับไปยังศาลปกครองกลางแล้ว จึงขึ้นอยู่กับศาลปกครองกลางว่าจะพิจารณาเป็นอย่างไร ซึ่งกรมที่ดินยืนยันว่าจะดำเนินการต่อไปไม่ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบ
ยกคดี‘อัลไพน์’แตกต่าง‘เขากระโดง’
“ในมุมมองของผม พอมีกระบวนการที่ชัดเจนก็น่าจะโอเค ขอเน้นย้ำว่าตามประมวลกฎหมายกฎหมายที่ดินตามมาตรา 61 เรื่องการยกเลิกเพิกถอนของเอกสารสิทธิ์ หรือ การดำเนินการที่ไม่ถูกต้องนั้น ต้องปรากฏอย่างชัดเจนว่าไม่ถูกต้อง หากมีความคลาดเคลื่อนแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว และดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองไปประชาชนก็จะเดือดร้อน เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ปรากฏอย่างชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสมควรเพิกถอนหรือไม่ อย่างกรณีของสนามกอล์ฟอัลไพน์ คือ การทำนิติกรรมที่ไม่ถูกต้อง จะมองแค่ว่าอัลไพน์ทำไมถึงทำภาพรวมได้ทั้งหมด เพราะนั่นเป็นเรื่องของนิติกรรม ไม่ใช่เรื่องของการเพิกถอน” อธิบดีกรมที่ดิน ระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี