ศาลรัฐธรรมนูญ รับตีความคำร้อง ปมเสนอร่างแก้ไขรธน.“หมอเปรม-วิสุทธิ์”สั่ง หน่วยงานเกี่ยวข้อง ชี้แจงภายใน 15 วัน แกนนำ พท.“ชูศักดิ์”ชี้ศาลรธน.รับวินิจฉัย ปมแก้รธน.ถือเป็นเรื่องดีเพื่อความชัดเจน ยันอยากได้ 2 ครั้ง หาก 3 ครั้ง หาเจ้าภาพทำครั้งแรกยาก ฝันจบในสมัยสภานี้
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญกรณีประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) (เรื่องพิจารณาที่ 9/2568) ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568 พิจารณาญัตติด่วนกรณีที่ เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ และหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ โดยผลการลงมติในญัตติดังกล่าว ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามญัตติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ประธานรัฐสภาส่งเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ศาลรัฐธรรมนูญให้ ผู้ร้องจัดส่งสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันที่ 17 มีนาคม 2568 (ฉบับชวเลข) ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และวันที่ 3 เมษายน 2568 ผู้ร้องจัดส่งสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ผลการพิจารณา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการ พิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและเคยให้ถ้อยคำหรือให้ความเห็นในฐานะพยาน ผู้เชี่ยวชาญต่อศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 4/2564 และที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอนุญาต
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง เอกสารประกอบคำร้อง และสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 แล้ว เห็นว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และมีมติโดยเสียงข้างมากให้ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้วตามรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติโดยเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องตามข้อ1ที่ผู้ร้องเสนอซึ่งถามว่า“รัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีการเพิ่มหมวด15/1การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยที่ยังไม่มีการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่เสียก่อนได้หรือไม่”เนื่องจากไม่ปรากฏว่าเป็นญัตติที่มีการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติโดยเสียงข้างมาก (5 ต่อ 3) มีคำสั่งรับคำร้องตามข้อ 2 ที่ นายเปรมศักดิ์ เป็นผู้เสนอญัตติ ซึ่งถามว่า “หากรัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้แล้ว การดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สามารถกระทำภายหลังที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยทำพร้อมกับการทำประชามติว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ได้หรือไม่ อย่างไร”
และรับคำร้องตามข้อ 3 ที่นายวิสุทธิ์ เป็นผู้เสนอญัตติ ซึ่งถามว่า “รัฐสภาจะพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่ได้มีการทำประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่”ไว้พิจารณาวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่ง สำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน15วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ช่วงบ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้อง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.และคำร้องของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยที่เสนอญัตติให้วินิจฉัยว่าทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ศาลรับไว้แล้ว ถือเป็นเรื่องดี ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล สาเหตุที่ศาลรับไว้พิจารณาตนคิดว่า การยื่นครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะครั้งที่แล้วไม่มีการบรรจุในระเบียบวาระและไม่มีการพิจารณาในสภา แต่ครั้งนี้บรรจุในระเบียบวาระแล้วและมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว การรับไว้วินิจฉัย จึงเป็นเรื่องดี
เมื่อถามถึงที่ศาลรัฐธรรมนูญให้จัดทำความเห็นส่งต่อศาลภายใน15วันนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่ายังไม่เห็นรายละเอียด ไม่สามารถตอบได้ ทั้งนี้ ตนคิดว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัยแล้ว ต่อไปการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเกิดความชัดเจน เพราะจากที่เห็นในสภาที่ผ่านมา ฝ่ายหนึ่งก็ไม่เข้าประชุม ฝ่ายหนึ่งเดินหนี อย่างนู้นอย่างนี้เป็นต้น สาเหตุที่เขาทำอย่างนั้น เพราะเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญ จะทำไม่ได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าทำได้
“เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้เกิดอุปสรรคทำให้วนอยู่แบบนี้ ซึ่งการที่ศาลรับไว้ และให้เราพิจารณาว่าจะทำประชามติ 2หรือ3 ครั้ง เพื่อที่เราจะได้เดินต่อถูก จึงถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ตนหวังว่าจะมีข้อยุติ”นายชูศักดิ์ย้ำ
เมื่อถามว่าส่วนตัวหวังไว้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะให้ทำประชามติกี่ครั้ง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หวังไว้ 2ครั้งเพื่อที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จภายในสมัยสภานี้ เมื่อถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญให้ทำ 3 ครั้ง นายชูศักดิ์ กล่าวว่าไม่เป็นไร3ก็บอกมาว่า3จะได้ทำถูก แต่หากทำ 3 ครั้ง เคยพูดในสภาไว้แล้วว่าใครเป็นเจ้าภาพ เพราะจะหาเจ้าภาพไม่เจอ ส่วนครม.จะเป็นเจ้าภาพก็ไม่ได้ เพราะเป็นร่างของพรรคการเมือง ตนจึงหวังให้ทำประชามติ 2 ครั้งก็จะไปได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี