กมธ.ป.ป.ช.” เรียกผู้ว่าฯสตง.-ตัวแทนก.แรงงาน แจงปมโครงการก่อสร้าง “อาคาร สตง.” จี้ต้องสร้างความกระจ่างต่อสภาฯ-ประชาชน ยันไม่มีใคร“ปรักปรำ-ทำร้าย”ได้ ด้าน “ผู้ว่าฯสตง.”เปิดวาจาแจงยิบตั้งแต่ปมเฟอร์นิเจอร์สุดแพง เก้าอี้ตัวละ 9 หมื่น แค่สำหรับผู้บริหาร ส่วนเจ้าหน้าที่ทั่วไปนั่งเก้าอี้ราคาปกติ หมื่นต้นๆ ยันไม่มีห้องดูหนัง เป็นเพียงลักษณะห้องประชุม ยืดอกพร้อมรับผลสอบ ‘ตึกถล่ม’ ทุกทาง ลั่นถ้าพบ ‘เอกชน-ข้าราชการ’ เป็นต้นเหตุ ดำเนินคดีไม่เว้น ยันชื่อวิศวกรที่ถูก ‘ปลอมลายเซ็นต์’ มีอยู่ในบัญชี ‘ผู้ควบคุมงาน’
เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่รัฐสภา นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ(ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม กมธ.ฯ กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งวันนี้ได้เชิญ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่า สตง. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม และตัวแทนกระทรวงแรงงาน เข้าชี้แจง ซึ่งได้รับการยืนยันว่าผู้ว่า สตง.จะเดินทางมาด้วยตัวเอง
รอฟังข้อเท็จจริงจากปากผู้ว่าสตง.
นายฉลาดกล่าวว่า การประชุมวันนี้ เพื่อสอบหาข้อเท็จจริง เชื่อว่าข้อมูลที่เราคาดการณ์ไว้ทั้งหมดนั้น จะได้ฟังจากปาก ผู้ว่า สตง. นอกจากนี้ ยังเชิญอดีตผู้ว่า สตง. มาเป็นที่ปรึกษาด้วย บุคคลที่มาต้องให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากหน่วยงานรัฐ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็อยู่ระหว่างสืบหาข้อเท็จจริง วันนี้ข้อมูลทั้งหมดจะรวมกันอยู่ที่เดียวว่า ผู้ว่า สตง.จะให้คำตอบอย่างไร ซึ่งคำตอบนั้นคือข้อเท็จจริง ทั้งนี้ มีการแจ้งว่า สามารถพูดความจริงในกมธ. บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น ไม่มีใครปรักปรำ หรือทำร้ายได้ สิ่งที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะ ก็สามารถพูดในกมธ.ฯได้ ในทางลับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กมธ.ปปช.วันนี้ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มาชี้แจงด้วยตัวเอง เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าเตรียมข้อมูลมาชี้แจงอะไรหรือไม่ และครบ 1 เดือนที่ตึกถล่มแล้วจะแถลงอะไรหรือไม่ แต่นายมณเฑียรไม่ตอบคำถาม เดินเข้าห้องรับรองทันที ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ให้ถ่ายภาพเบื้องต้น แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนฟังการชี้แจง
อดีตผู้ว่าสตง.ปัดไม่เกี่ยวออกแบบตึกสตง.
ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าฯสตง. ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.ปปช.กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า ขั้นตอนก่อนที่ตนจะพ้นตำแหน่ง เมื่อเราได้ที่ดินจะนำแบบแปลนที่เคยออกแบบไว้มาใช้หรือออกแบบใหม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารชุดต่อมา เดิมเราตั้งใจเมื่อหาที่ตั้งเหมาะสมได้แล้ว หนีปัญหาน้ำท่วมเดินทางไกลได้แล้ว ก็นำพื้นที่กว้างมาลงแปลนที่ได้ออกแบบ ก็พอใจ ขั้นตอนหลังจากนั้นไม่สามารถดูแลได้ เนื่องจากตนพ้นตำแหน่งไปแล้ว ที่ตนมาชี้แจงต่อกมธ.ฯวันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องเก่าทั้งก่อนที่จะออกแบบก่อสร้าง จากผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน ตนในฐานะอดีตผู้ว่าสตง. ปี 2557-2560 ก็มีส่วนเลือกและกำหนดให้ใช้ที่ดินแปลงนี้ ใช้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่
“ยืนยันเรื่องการออกแบบ ผมไม่เกี่ยวข้อง เพราะพ้นตำแหน่งตั้งแต่เลือกพื้นที่ก่อสร้างตึกเสร็จ แต่การออกแบบเกิดในปี 2561-2562 มีการทำสัญญาปี 2563-2564 ซึ่งต้นเองได้พ้นจากตำแหน่งไป 3-4 ปีแล้ว”นายพิศิษฐ์กล่าว และว่า ช่วงที่พูดถึงคือช่วงที่ได้ผู้รับจ้างที่เป็นกิจการร่วมค้าแล้ว ซึ่งกิจการร่วมค้าอยู่ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ สามารถมีกิจการร่วมค้าได้ แต่บริษัทต้องมีผลงานไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณ แต่ผู้ร่วมค้าต้องเป็นบริษัทคนไทย จดทะเบียนในประเทศไทยทำสัญญาร่วมค้ากันได้และนำมาเสนอราคาต่อได้ ส่วนจะมีนอมินีแอบแฝงในกิจการค้านี้หรือไม่ ในขณะนั้นยังไม่มีระเบียบว่าต้องไปตรวจสอบลึกถึงกิจการของนอมินีขนาดนั้น ซึ่งถ้าจะตรวจสอบเรื่องนอมินีไม่ใช่จะตรวจได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องพิสูจน์เส้นทางการเงิน เพราะตามระเบียบกำหนดว่า ผู้แข่งขันประมูลโครงการ มีการฮั้วงานลักษณะสมยอม เอื้อถือหุ้นไขว้ไปมา เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแล้วมาแข่ง เชื่อว่าดีเอสไอต้องตรวจสอบเรื่องเหล่านี้แน่นอน
ผู้ว่าสตง.เปิดปากแจงยิบปมเฟอร์ฯแพง
ด้านนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แถลงหลังประชุม กมธ. ปปช. โดยชี้แจงในหลายประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัย ตั้งแต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โครงการก่อสร้างตึก สตง. ใช้เฟอร์นิเจอร์ราคาสูงว่า สตง.มีหน้าที่ตรวจการออกแบบและคุรุภัณฑ์นั้นเหมาะสมและเชื่อถือได้หรือไม่ กรณีที่เป็นข่าวเป็นครุภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ แต่จะเป็นครุภัณฑ์จริงได้ ต้องสร้างเสร็จและนำมา โดยกมธ.ถามว่าจะปรับลดราคาจริงหรือไม่ โดยหลังก่อสร้างเสร็จก็ต้องดูว่าเหมาะสมตามแบบราชการหรือไม่ ในส่วนราชการหากปรับแบบ เพิ่มงานเท่ากับเพิ่มเงิน ลดงานก็เท่ากับลดเงิน ซึ่งปัจจุบันแบบของ สตง.ได้ลดเงิน ส่วนกรณีฝักบัวราคากว่า 30,000 บาท เก้าอี้ห้องประชุมตัวละ 90,000 บาทนั้น นายมณเฑียร ชี้แจงว่า สตง.มีเจ้าหน้าที่ 2,400 คน เก้าอี้ตัวละ 1-2 หมื่นบาท การสร้างบริษัทโดยปกติจะกำหนดชั้นสูงที่เป็นพื้นที่ผู้บริหาร ดังนั้นคุรุภัณฑ์จะมีการออกแบบตามฐานะ เก้าอี้แพงมีเพียงชุดเดียว ก็คือเก้าอี้ของประธาน และเก้าอี้ของกรรมการในห้องประชุม หลายคนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ สตง.ทุกคนต้องนั่งเก้าอี้ตัวละ 90,000 บาท แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ส่วนฝักบัวนั้น ปัจจุบันทุกบริษัทต้องมีห้องน้ำ หากไปดูแบบของฝักบัวมีอยู่ 2 แบบ เมื่อทำจริงเอาทั้ง 2 แบบมารวมกัน ฝักบัวจึงแพง
ยันไม่มีห้องดูหนังแค่ลักษณะห้องประชุม
นายมณเฑียรอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ออกแบบเสนอราคาคุรุภัณฑ์มา สตง.มีหน้าที่ดูว่าเหมาะสมหรือไม่ และดูว่าบริษัทผู้ออกแบบได้อ้างอิงคุรุภัณฑ์ชิ้นดังกล่าวมาจากร้านใด ราคาถูกต้องหรือไม่ ย้ำว่าเป็นขั้นตอนการออกแบบไม่ใช่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนที่พูดกันว่ามีห้องฉายภาพยนตร์ ในอาคารสำนักงาน สตง.นั้น ขอชี้แจงว่า ทั้งหมดเรียกว่าห้องประชุม ย้ำว่าเป็นห้องประชุม หลังห้องประชุมจะเขียนว่าเป็นห้องแบบใด เช่น ห้อง class room และห้อง theater ย้ำว่าไม่มีห้องฉายภาพยนตร์ เป็นเพียงลักษณะห้องประชุม จึงขอแก้ข่าวว่า สตง.ไม่มีห้องดูหนัง
ยันวิศวกรที่ถูกปลอมลายเซ็นมีชื่อคุมงาน
นายมณเฑียรยังกล่าวถึงการก่อสร้างหลักๆ มีอยู่ 3 เรื่องคือ การจ้างบริษัทออกแบบ จ้างบริษัทก่อสร้าง ในวงเงินที่ดำเนินการ 2.1 พันล้านบาท และการก่อสร้างดำเนินไปทั้งหมด 22 งวด เป็นเงิน 966 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 เป็นสัญญาหลักคือ สัญญาจ้างผู้ควบคุมงาน คือ บริษัท PKW เพราะฉะนั้นประเด็นที่มีอยู่ตอนนี้คือ เรื่องการออกแบบ ที่มีคนบอกว่าการออกแบบไม่มีการเซ็นรับรอง วันนี้นำเอกสาร มาให้กมธ.ดูว่าเราถามบริษัทผู้ออกแบบแล้ว ซึ่งบริษัทผู้ออกแบบยืนยันว่า บุคคลที่เซ็นรับรองยังทำงานอยู่กับบริษัทที่ออกแบบอยู่ ส่วนเรื่องการจ้างควบคุมงาน เราให้งบริษัทยืนยันว่ายังเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทอยู่หรือไม่ ก่อนอื่นต้องชี้แจงให้ตรงกันว่า บุคคลที่อ้างว่าไม่ได้เซ็นควบคุมงานนั้น มีวิศวกรอยู่ 2 ประเภท คือ วิศวกรที่ปรึกษากับวิศวกรที่ควบคุมงาน ฉะนั้นวิศวกรที่คุมงานต้องมาคุมงาน แต่วิศวกรที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องมาควบคุมงานแต่ต้องรับรองเอกสาร
“สำหรับบุคคลที่เป็นข่าวอยู่คือวิศวกรที่ปรึกษา ฉะนั้นการวิศวกรที่ปรึกษาไม่ต้องมาคุมงาน แต่เอกสารที่จะเซ็นรับในฐานะบริษัท ที่เป็นผู้คุมงานที่เราจ้างมา ต้องผ่านการรับรอง ของวิศวกรที่มี วอย. (วุฒิวิศวกรโยธา) ในส่วนข้อมูลทั้งหมดทั้ง บริษัทผู้ออกแบบและบริษัทที่ปรึกษาก็ตาม ที่แจ้งรายชื่อวิศวกรมาให้เรา ในทางปฏิบัติถ้าจะเปลี่ยนตัววิศวกร ไม่ว่าบริษัทผู้ออกแบบหรือบริษัทที่ปรึกษาก็ตาม จะทำหนังสือมาถึงเราว่าขอเปลี่ยนตัว แต่ทั้ง 2 ท่านที่เป็นข่าว ไม่มีเอกสารเปลี่ยนบุคคลแต่ประการใด” นายมณเฑียร และว่า ได้มอบข้อมูลทั้งหมดให้กมธ.และพร้อมเปิดให้ตรวจสอบทั้งหมดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะของรัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานสอบสวน และหน่วยงานต่าง ๆ ตรวจสอบ
ยันบ.ผู้ออกแบบรับรู้การแก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทผู้ออกแบบรับทราบการแก้ไขและมีผู้เซ็นรับทราบจริงหรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ยืนยันตามเอกสาร ในการก่อสร้าง การออกแบบ และตอนนั้นยังไม่มีตึก ฉะนั้น ในการอกแบบเหมือนเราไปจ้างคนที่เราอยากได้บ้าน 3 ชั้นและมีฟังค์ชั่นต่างๆ เขาก็เขียนมาในแบบรวมคุรุภัณฑ์ในบ้าน 3 ชั้น จากนั้นเราก็ไปหาผู้รับจ้าง และเมื่อผู้รับจ้างมารับจ้างจริงในทางปกติตอนออกแบบเราไม่รู้ว่าสถานที่จริงเป็นอย่างไร เมื่อสร้างจริงก็ปรับแบบเป็นปกติของตึกขนาดใหญ่ นี่คือสิ่งที่ต้องแก้แบบอยู่แล้ว แต่แบบนั้นต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและวิศวกรรม ฉะนั้น ของเราเมื่อเราจ้างคนออกแบบ และคนก่อสร้างเห็นว่าการก่อสร้างขัดกับแบบ หรือก่อสร้างแบขัดต่อกฎหมายหรือก่อให้เกิดความเสียหาย เขาก็หยิบประเด็นนั้นขึ้นมาเสนอผ่านผู้ควบคุมงาน เมื่อผู้ควบคุมงานเห็นว่าการทำงานจริงขัดต่อกฎหมายบ้าง หรือต้องปรับแบบบ้างเขาไม่มีอำนาจตามกฎหมาย นี่คือมาตรฐานกฎหมายทางวิศวะ เขาจึงต้องส่งไปให้คนออกแบบ บริษัทออกแบบจึงต้องเป็นคนมาดูว่าแบบที่ออกไว้ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อการทำงานจริง และขัดต่อหลักวิศวกรรม เขาก็ต้องแก้พร้อมเซ็นรับรองกลับมา ของเราเมื่อเซ็นรับรองกลับมาในสัญญาเขียนเพิ่มเติมว่า ผู้คุมงานก็ต้องมาเซ็นรับรองด้วย ฉะนั้น วิศวกรขอผู้คุมงานต้องมารับรองให้เราด้วย ซึ่งเป็นสัญญาที่เราเขียนขึ้นมา และเมื่อรับรองเสร็จเราก็เห็นชอบให้ไปแก้ไขตามแบบตามที่ผู้ออกแบบดำเนิการปรับแก้ แล้วผู้ควมคุมงานรับรองมา ผู้ก่อสร้างก็เอาไปก่อสร้างตามแบบที่แก้ไข ซึ่งเป็นไปตามสัญญาและข้อกฎหมาย
ยันมีชื่อ“สมเกียรติ”วิศวกรคุมงานตั้งแต่แรก
เมื่อถามว่าการที่สตง.ออกมาชี้แจงเรื่องปล่องลิฟท์ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใช่หรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ใช่ ถามย้ำว่ากรณีวิศวกรที่ถูกระบุชื่อรับรองเป็นชื่อเดิมหรือถูกแอบอ้าง นายมณเฑียร กล่าวว่า ตอนที่บริษัทเสนอชื่อมา เขาเสนอชื่อและรายละเอียดของวิศวกรทั้งหมดว่าจะมีที่ปรึกษา ควบคุมงานกี่คน ซึ่งการควบคุมต้องแยกอีกว่าเป็นงานโครงสร้าง งานสถาปัตย์ ต้องกำหนดแต่ละประเภทมา ฉะนั้น ถ้าเขาเปลี่ยนวิศวะต้องแจ้งเรามา แต่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรผู้ควบคุมงาน ไม่เคยเปลี่ยน มีชื่อนายสมเกียรติแต่แรก และรับรองแต่แรก และไม่ใช่มีชื่ออย่างเดียว วิศวกรแต่ละคนต้องมีหนังสือยินยอมว่าจะมารับผิดชอบงานนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ มีหลักฐานวุฒิบัตร บัตรประชาชน และวันแรกเขาจะรับรองว่า เขาจะควบคุมงานก่อสร้างนี้จนกว่างานจะแล้วเสร็จ เราต้องยึดตามเอกสารนี้ก่อน และการที่นายสมเกียรติบอกว่าไม่รับรู้ด้วยก็ต้องไปดำเนินคดีกัน
ลั่นสตง.พร้อมรับผลตรวจสอบทุกรูปแบบ
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อสงสัยในการแก้แบบและวัสดุต่างๆ ผู้ว่าสตง.กล่าวว่า ตอนนี้คณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งกำลังตรวจสอบอยู่ เราต้อรอผลดำเนินการ แต่เราต้องยอมรับว่ามีการแก้ไขจริง แต่การแก้ไขนั้นมีผลกระทบขนาดไหนอย่างไร ขอเรียนว่าผลเป็นอย่างไร สตง.รับได้หมด ใครผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย ส่วนเรื่องฮั้วหรือนอมินี ได้มอบเอกสารให้ดีเอสไอแล้ว เราพร้อมให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ และกำลังตรวจสอบถึงการเข้ามาร่วมรับจ้างก่อสร้างของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ด้วย
เมื่อถามว่า ถ้าบริษัทคู่สัญญาทำผิด ไม่ว่าเป็นการออกแบบ คุมงานหรือก่อสร้าง ทางสตง.มีสิทธิ์ที่ฟ้องดำเนินคดีหรือไม่ ผู้ว่าสตง.กล่าวว่า ทำตามกฎหมาย เพราะบริษัทก่อสร้างเขาทำประกันไว้ คือบริษัทอิตาเลียนไทย ที่จะมีประกันตัวตึกกว่า 2.1 พันล้านบาท และประกันบุคคลที่สามอีกร้อยกว่าล้าน และประกันของอีกประมาณ 5 กว่าล้านบาท ถ้าเป็นความผิดของอิตาเลียนไทยก็ครอบคลุม แต่ถ้าเป็นเรื่องออกแบบแล้วอิตาเลียนไทยทำตามแบบ ก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายนิดหน่อย แต่ทั้งนี้ ใครทำผิด ไม่ว่าใครก็ตามสตง.เป็นผู้เสียหาย ก็จะดำเนินคดีอาญา และแพ่งให้ถึงที่สุด
ไม่ว่าเอกชน-ขรก.ต้นเหตุดำเนินคดีถึงที่สุด
เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรอยต่อตำแหน่งผู้ว่าสตง.หรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึงปี เพราะตั้งแต่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ต่อด้วยนายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่า สตง. ถึงจะมาเป็นตน ถามว่า สตง. ในฐานะเจ้าของโครงการ จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร นายมณเฑียร กล่าวว่า เป็นความผิดของใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนที่มารับจ้างหรือข้าราชการสตง. เราดำเนินคดีถึงที่สุด ทุกคนไม่เว้น ถามถึงที่อยู่ใหม่ของสตง. ผู้ว่าสตง.กล่าวว่า ขอคิดเรื่องตึกพัง คนเสียชีวิตก่อน จากนั้นสตง.ต้องประชุมว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ผู้สื่อข่าวพยายามถามต่อเรื่องการบอกเลิกสัญญาตอนต้นปี แต่สัญญาไม่ได้ถูกยกเลิก เพราะอะไร ผู้ว่าสตง.ชี้แจงว่า อยู่ในกระบวนการ การบอกเลิกสัญญาของราชการ จะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1 ปี จริง ๆ แล้ว บริษัทนี้ ทำงานแล้วมีปัญหา เขาจะบอกเลิกสัญญาอยู่หลายหน่วยงานแล้ว แต่กระบวนการบอกเลิก มันนาน ต้องให้เวลาชี้แจง
ลุยเจาะชั้นใต้ดิน-2สัปดาห์เคลียร์ได้หมด
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) แถลงความคืบหน้าปฎิบัติการรื้อซากตึกสตง.และค้นหาผู้สูญหายว่า เมื่อวาน (29 เมษายน)พบร่างผู้เสียชีวิตบริเวณโซน D2 เป็นร่างที่อยู่ใต้แผ่นพื้นที่ถล่มลงมา 5 แผ่นทับซ้อนกัน พอรื้อแผ่นแรกออกก็พบมีร่างผู้เสียชีวิตถูกทับอยู่ด้านใต้ สอดรับกับการวิเคราะห์ว่า ตัวชั้นใต้ดินมีชั้นเดียวลึก 4 เมตร และแผ่นปูนที่ถล่มมา 5 แผ่นนั้นถูกทับลงไปในชั้นใต้ดิน เนื่องจากแผ่นที่ 5 จะอยู่ระดับเดียวกับพื้นของชั้นที่ 1 ของอาคาร โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 29 เมษายน เวลา 18.00 น. จำนวนผู้ประสบเหตุ 103 ราย ยืนยันผู้เสียชีวิต 66 ราย อยู่ระหว่างติดตามค้นหา 28 ราย รอดชีวิต 9 ราย ทั้งนี้ ในการรื้อซากอาคารนั้น มีการเปลี่ยนแผนใหม่ มุ่งเป้าไปจุดชั้นใต้ดิน ที่คาดว่ามีผู้ประสบภัยติดอยู่คือ โซนช่องบันได D2 มุ่งตรงไปโซน A โดยระหว่างโซน D2 กับ C1 วันนี้เปิดพื้นที่ให้ลงถึงชั้นใต้ดินและเจาะให้ทะลุไปเรื่อยๆ จนถึงโซน A และโซน B มุ่งเป้าไปสู่ช่องบันไดหนีไฟ ที่คาดว่าจะพบผู้ติดค้างอยู่ และดำเนินการไปพร้อมกันที่โซนเชื่อมอาคารด้านหลังกับลานจอดรถที่พังยุบลงมา การดำเนินการรื้อซากอาคารชั้นใต้ดินให้เสร็จทั้งหมด ยังยึดแผนเดิมคือ 2 สัปดาห์ หากไม่มีปัญหาอุปสรรคที่เป็นปัจจัยแทรกซ้อน คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี