'บุญญ์พัชรเกษม' อดีตนักการทูต ลั่น 'ศาลาไทย' ในเอ็กซ์โป 2025 ตั้งโจทย์ผิด ชีวิตเปลี่ยน ชี้ผิดพลาดเรื่องใดบ้าง
วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลต่อการจัดสร้าง "อาคารนิทรรศการไทย" หรือ ศาลาไทย (Thailand Pavilion) ในงานนิทรรศการโลก World Expo 2025 Osaka Kansai จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน - 13 ตุลาคม 2568 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการเข้าร่วมงานดังกล่าว
ล่าสุด นายบุญญ์พัชรเกษม เสริมวัฒนากุล อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ผลิตสารคดีเทิดพระเกียรติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเรื่องดังกล่าวว่า Thai Pavilion in Expo 2025 Osaka ว่า ศาลาไทย..ตั้งโจทย์ผิด..ชีวิตเปลี่ยน
ขอสมมุติให้ตัวเองเป็นคนดูที่พอมีความรู้และประสบการณ์ในการเห็นมาเยอะ คงพอจะวิพากษ์เชิงวิชาการโดยยึดโยงกับทฤษฎีในการนำเสนองานวัฒนธรรมของ Alexander Vuving ที่มีองค์ประกอบด้วย 3 ประการ คือ Beauty, Brilliance และ Benignity ซึ่งน่าจะเป็นแนวคิดหลักในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ผ่านงานด้านวัฒนธรรมในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก
ก่อนอื่นใดคงต้องมาดูคำศัพท์และความหมายขององค์ประกอบทั้ง 3 ประการเพื่อเป็นกรอบอ้างอิงในการวิพากษ์ กล่าวคือ Beauty แปลตรงตัวคือ ความงดงาม หรือขยายความให้ตรงประเด็นคือ เสน่ห์ความงาม เพราะบางสิ่งบางอย่างจะมองว่างดงามก็เป็นอัตวิสัย ต่างคนต่างใจ ต่างคนต่างคิด แต่ถ้าหลายคนมองความงดงามแล้วเห็นพ้องต้องกันว่ามีความงดงามเหมือนกัน นั่นน่าจะเป็นเพราะเป็นความงดงามที่น่าประทับใจโดยรวม มีเสน่ห์ในความงดงาม จึงน่าจะตรงกับคำว่า Beauty ในบริบททางวัฒนธรรม
เพราะสิ่งนั้นประการนั้นสามารถสื่อถึงความสวยงามของศิลปะ วัฒนธรรม หรือรูปแบบการแสดงที่ตรึงใจผู้ชม #Brilliance แปลตรงคำคือ ความฉลาดเฉลียว แต่เมื่อนำมาตีความในบริบทด้านการจัดงานด้านวัฒนธรรม น่าจะหมายถึง ความเปล่งประกายทางปัญญา #เสน่ห์ภูมิปัญญา หมายถึง สามารถสื่อถึงความลึกซึ้ง ฉลาด นวัตกรรมทางวัฒนธรรม หรือความคิดสร้างสรรค์ที่น่าทึ่ง น่าประทับใจและน่าจดจำ
Benignity หากแปลตามพจนานุกรมคือ ความเมตตา หรือหมายถึง ความเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารี ก็อาจดูว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับงานวัฒนธรรม แต่ถ้ามองบริบทของการจัดงานด้านวัฒนธรรมแล้ว หากงานนั้นๆ สามารถสื่อถึงความอบอุ่น มิตรภาพ และความปรารถนาดี ผ่านเนื้องานด้านวัฒนธรรม คำๆ นี้น่าจะตรงกับคำว่า #เสน่ห์ความเป็นไทย เห็นปุ๊บชัดปั๊บ เห็นรอยยิ้มสยามทันที และจะสามารถสื่อถึงระบุตำแหน่งภูมิภาคหรือพื้นที่บน #แผนที่โลกวัฒนธรรม ได้ทันทีเช่นกัน
กลับมาเข้าเรื่องเมื่อมีแนวคิดไว้ให้จับมั่นในการวิพากษ์ศาลาไทย Thai Pavilion ในงาน Expo 2025 Osaka ซึ่งโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงจนกลายเป็นกระแสในไวรอลว่า ยังไม่สะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศไทยในมิติที่ดีที่สุด ตามแนวคิดของ Vuving ด้วยเหตุผลสำคัญหลายประการ คือ:
1. เนื้อหาในการนำเสนอขาดเอกลักษณ์ของเสน่ห์ความงาม ที่แท้จริงในแบบความเป็นไทยแม้ว่าแนวคิดในการออกแบบศาลาไทยยังคงมีโครงสร้างแบบแผนสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์และแนวคิดการใช้กระจกสะท้อนตัวอาคารก็ยังไม่สามารถสื่อได้ประจักษ์ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับศาลาหรือพาวิเลียนของชาติอื่นๆ โดยเฉพาะในชาติอาเซียน
การนำเสนอรูปแบบของไทยเหมือนย้อนยุค ในขณะที่ธีมของงานเป็นการออกแบบเพื่ออนาคต ดังนั้นจึงไม่สามารถถ่ายทอดเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างลุ่มลึกหรือมีความร่วมสมัยที่น่าจดจำหรือโดดเด่นกว่าของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงรูปแบบและเนื้อหาในการจัดแสดงงานด้านใน ซึ่งเป็นปัญหาหนักสุด เพราะ Media Execution ขาดการออกแบบสื่อภูมิปัญญาไทยเพื่อนำเสนอเนื้อหาให้ชัดเจนได้ ขาดความคิดสร้างสรรค์และสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับอนาคต
และสำคัญที่สุดคือ ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ชมเลย เนื้องานแทบไม่เปิดโอกาสให้มี #interactive นอกจากการดูและฟังเท่านั้น มีการจับต้องบ้างแต่ไม่ "ว้าว" เมื่อเทียบกับสื่อและเทคนิคการนำเสนองานของชาติอื่นๆ
ดังนั้น ผู้ชมสามารถเดินผ่านทุกอย่างได้หากไม่ถูกกำหนดให้กักตัวชมสื่อไว้ จะใช้เวลาเดินผ่านไม่เกิน 2 นาทีและไม่มีอะไรน่าจดจำ สื่อที่นำมาใช้ในการนำเสนอก็ล้าสมัย ขาดการออกแบบในการนำเสนอที่ลุ่มลึก สาระและสื่อที่ใช้ในส่วนนี้ที่สอบตกที่สุดและขาดมากที่สุด คือ ขาดการออกแบบสร้างสรรค์ ที่ละเอียดลึกซึ้ง อะไรคือ เนื้อหาหลัก หรือ key message ที่จะบอกคนดู ที่จะบอกโลก จึงไม่แปลกใจที่ทำให้เกิดการวิจารณ์เป็นไวรอลว่า ดีไซน์เอกชน "คอนเทนต์ราชการ" เพราะ content creator มือไม่ถึง ทำให้งานสื่อที่ผลิตออกมาไม่ตรงปก ตีโจทย์ไม่แตกละเอียด ไม่ตรงประเด็นกับธีมงานหลักและของงานศาลาไทย
และที่สำคัญ คือ มีอาการขาดตกหล่นของเสน่ห์ความเป็นไทย ที่สมควรน่าจดจำและการบอกต่อที่ดี ที่มีที่เห็นและที่เป็นจึงกลายเป็นตีโจทย์ผิดชีวิตเปลี่ยนไป
2. ศาลาไทยยังไม่สะท้อนความเฉลียวฉลาด ไม่มีการขยายความหรือเนื้อหาเหมือนกับสัญลักษณ์ #เฉลว ที่มีลักษณะเป็นตอกสานคล้ายรูปดาวแฉก ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ที่นำมาพาความโชคดีมาให้ ทั้งยังช่วยปัดเป่าโชคร้าย สมัยก่อนมักจะปักไว้ตามหม้อยา หรือบางพื้นที่ก็ใช้ปักไว้ตามไร่นา
ซึ่งหากเดินเข้าไปในศาลาไทย จะบอกแค่ว่ามาสคอตชื่อเฉลว หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือสอดคล้องกับความหมายของเฉลวอีกเลย ไม่ได้นำเสนอศักยภาพด้านนวัตกรรมของภูมิปัญญาไทยที่นำเสนอให้ทันสมัยและน่าติดตาม ทั้งที่ในแวดวงวิชาการระดับนานาชาติ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ แต่ศาลาไทยยังเน้นภาพจำแบบเดิมๆ เช่น การแตะเบาๆ กับเรื่องการท่องเที่ยว อาหาร และรอยยิ้ม มากกว่าการชูจุดแข็งด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Deep Tech สำหรับประชากรในโลกอนาคต
3. ยังไม่สามารถถ่ายทอด "เสน่ห์ความเป็นไทย" หรือซอฟต์พาวเวอร์ของคนไทยให้สัมผัสได้อย่างลึกซึ้ง บริบทของ Soft Power ไม่ได้อยู่แค่คำว่า สวัสดี ไม่เป็นไร ขอบคุณ หรือยิ้มสยามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึง #storytelling คือ เรื่องราว แรงบันดาลใจ และประสบการณ์ที่สามารถส่งต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในโลกอนาคตได้
กล่าวโดยสรุป ศาลาไทยใน Expo 2025 Osaka ยังมีจุดอ่อนในเรื่องการเชื่อมโยงแนวคิด Beauty, Brilliance, และ Benignity ยังขาดเสน่ห์ความงาม เสน่ห์ภูมิปัญญา และเสน่ห์ความเป็นไทย ไม่ผ่าน กระบวนการออกแบบสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้ง ขาดเทคนิคการร้อยเรียงและการเล่าเรื่องสาระเนื้อหาอย่างแยบยล และน่าจะต้องมีกลยุทธ์ในการให้ผู้ชมทุกกลุ่มทุกชนชาติได้มีประสบการณ์ร่วมที่น่าประทับใจมากกว่านี้
หากสามารถนำแนวคิดของ Vuving มาปรับใช้ได้อย่างลงตัวมากกว่านี้ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลกได้อย่างมีพลังสร้างสรรค์ได้มากขึ้นเพื่อคำว่า #เสน่ห์ไทย หรือ Thai SoftPower
หากเริ่มตั้งโจทย์ตั้งไข่ที่ใช่ ต้องระลึกเสมอว่า Soft Power ไม่ใช่เป็นเรื่องผลงาน แต่คือเรื่อง #กระบวนการสร้างสรรค์อย่างแยบยล หากทำได้ยังไงเสน่ห์ไทยก็เลอเลิศสู้ชาติอื่นได้สบายๆ..เสียงเพลงพี่เบิร์ด ดังลอยมาให้ได้ยินทันที
เขียนไปบ่นไปแล้วก็ยืดยาวเช่นเคย
เขียนเองถ่ายเองนักเลงพอ #jengwirlai2025
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี