'ดร.สันติธาร'ฝาก 5 ข้อคิด ถึงบอร์ดเอไอแห่งชาติ เชื่อยุคของ AI มาแน่ หวังใช้ปลอดภัย-สร้างสรรค์-ทั่วถึง
วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 5 ข้อคิดฝากบอร์ด AI แห่งชาติ
ประเทศไทยเพิ่งตั้งคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ขึ้นมาใหม่และเริ่มผลักดันการวาง ยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติอย่างจริงจัง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะการตั้งใจเอา AI มาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย เพราะเอไอควรสอดแทรกเติมพลังให้ทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่อยู่แค่ในภาคเทคโนโลยีเท่านั้น ในฐานะคนที่สนใจและติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ผมมีข้อสังเกต 5 ข้อ ที่อยากฝากไว้เพิ่มเติมเผื่อจะมีประโยชน์ต่อคณะกรรมการ AI แห่งชาติบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ
1. นโยบาย “ปัญญาประดิษฐ์” ควรมาจาก “หลากหลายปัญญามนุษย์” เพื่อให้แผนนี้เป็นของทุกคน และเกิดได้จริง“กระดุมเม็ดแรก” คือ โครงสร้างของคณะกรรมการฯ ควรเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาทร่วมกันออกแบบและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอไอแห่งชาติมากขึ้น
-ภาคเอกชน ที่เข้าใจโอกาส-ความเสี่ยง-อุปสรรคของการใช้ AI ในสนามจริง
-ภาควิชาการ ที่ตามทัน รู้ลึกเทคโนโลยี และประเด็นทางนโยบายที่ถกกันในระดับโลก ยิ่งเรามีนักวิจัยคนไทยเก่งๆอยู่สถาบันระดับโลกในต่างประเทศ ยิ่งควรมีเวทีให้เขามาร่วมคิด (ดูในคอมเมนท์)
-ภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบทั้งในหมวกผู้บริโภคและแรงงาน ทั้งยังมีหลายกลุ่มเสี่ยงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ตัวอย่าง: อังกฤษ และเกาหลีใต้ ล้วนมีคณะกรรมการ AI ที่เปิดให้ภาคเอกชนและนักวิจัยเข้ามาร่วมโต๊ะตั้งแต่ต้น
2. พัฒนาไกด์ไลน์การใช้ AI รายอุตสาหกรรม เพราะ AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่มันคือ “การปฏิวัติทางปัญญา”ถ้าเราใช้ AI แบบกำปั้นทุบดิน หรือทำเพราะ “เขาก็ทำกัน” ผลที่ตามมาอาจเสี่ยงมากกว่าดีหลายเคสทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า...
-ลงทุนแพงแต่คนใช้ไม่เป็น → สูญเปล่า
-ใช้AI แบบไม่รู้จัก “เอ้ะ” → โดนมันหลอน
-ใช้ AI โดยไม่ตรวจสอบ bias → เกิดการเลือกปฏิบัติ เพิ่มความเหลื่อมล้ำ
-ใช้ในงานเสี่ยงสูงแต่ไม่มี oversight → เสี่ยงอุบัติเหตุ-อันตราย
เป็นต้น
สิ่งที่ควรทำคือ “รีดีไซน์กระบวนการทำงาน” ให้ปัญญามนุษย์คนและ ปัญญาประดิษฐ์ ทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรมและวิชาชีพโดยเอกชน-รัฐ-ภาควิชาการ อาจร่วมกันจัดทำ “AI for Industry Playbook” รายอุตสาหกรรม-วิชาชีพ ที่ระบุ
- สิ่งที่ควรทำ
- สิ่งที่ไม่ควรทำ
- สิ่งที่ควรระวัง
เขียนให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง สอดคล้องกับหลักสากล และมีการปรับปรุงอยู่เสมอ โดยอาจมีบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญช่วยพัฒนาคู่มือนี้ด้วย
ตัวอย่าง: สิงคโปร์มีคู่มือ “AI Job Redesign Guide” ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจรู้ว่า AI ควรใช้กับ task แบบไหน และควรหลีกเลี่ยงอะไร
3. Reskill คนไทยให้ “พร้อมสำหรับยุค AI” ไม่ใช่แค่ “เพื่อใช้ AI”AI ไม่ได้แค่เปลี่ยน “เครื่องมือ” แต่กำลังเปลี่ยน “งาน” เกือบทุกประเภท ทั้งบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบหลายอาชีพจะหายไป หลายอาชีพจะถูกออกแบบใหม่ และทักษะที่จำเป็นจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เราจึงควรแยกให้ชัดระหว่าง:
-ทักษะการใช้เอไอ (AI Skills) เช่น การเขียน Prompt, การรู้เท่าทันข้อจำกัดและภัยของ AI ฯลฯ
- ทักษะมนุษย์สำหรับยุคเอไอ (Human-Centered Skills for the Age of AI) เช่น ความคิดสร้างสรรค์, Empathy, Critical Thinking, การสื่อสารและทำงานเป็นทีม ฯลฯ
ในกลุ่ม Global Future Council ของ WEF ที่ผมได้ร่วมงานด้วย หลายคนมองว่า “ทักษะมนุษย์” เหล่านี้อาจยิ่งมีความสำคัญขึ้นในยุค AI ด้วยซ้ำ
การเรียนรู้ในอนาคต จึงไม่ใช่แค่ การใช้เอไอในการศึกษา แต่ควรเป็นใช้การศึกษาเพื่อสร้างคนให้พร้อมกับยุคเอไอ
อย่างน้อยประเทศไทยอาจต้องมีนโยบาย Reskilling ระดับชาติ บ่มสร้างทักษะทั้งสองกลุ่ม โดยมีพร้อมระบบประเมินผล ไม่ใช่แค่เรียนคอร์สแล้วจบ
ตัวอย่าง: สิงคโปร์มี SkillsFuture สำหรับทุกวัย ส่วนแคนาดาก็มีโครงการ Reskill ผู้ได้รับผลกระทบจาก AI อย่างเป็นระบบ
4. ทบทวนระบบนิเวศนวัตกรรมไทย – AI คือโอกาสทองในการ “แก้จุดตัน” ที่เคยถ่วงเราไว้แม้เราจะมีคนเก่ง ทุน และความตั้งใจ แต่สตาร์ทอัพไทยที่ไปไกลระดับภูมิภาคหรือโลกยังมีน้อยมาก
คำถามสำคัญคือ...
-เราสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและเปิดโอกาสให้นักวิจัยต่อยอดงานวิจัยเป็นนวัตกรรมพอไหม
-เรามีทุนที่เข้าใจธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย tech และช่วยพาเขาไประดับโลก-ภูมิภาคไดจริงหรือเปล่า
-เราดึงดูดหัวกะทิจากทั่วโลกได้แค่ไหน
นี่อาจเป็นโอกาสให้กลับมาผลักดันนโยบายที่ทำไว้ยังไม่เสร็จตั้งแต่ยุคดิจิทัล เช่น
-การสร้าง Innovation ecosystem เชื่อม กองทุน VC-มหาวิทยาลัย-สตาร์ทอัพ-รัฐ เข้าด้วยกัน
-การออกนโยบายแบบ Proactive ดึงดูดหัวกะทิด้าน AI เข้าประเทศ ฉกฉวยจังหวะที่ภูมิรัฐศาสตร์ร้อนแรงทำให้อาจมี Talent จำนวนมากย้ายประเทศ
เราอาจทำทุกเรื่องไม่ได้แต่อย่างน้อยน่าจะมีโอกาสในการสร้าง นวัตกรรมที่มาจาก AI x อุตสาหกรรมที่ไทยเก่งอยู่แล้วเช่น สุขภาพ Creative ท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ
5. ยกระดับภาครัฐด้วย AI – โปร่งใส คล่องตัว ตรวจสอบได้ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และคุณภาพของบริการภาครัฐ เป็นหัวข้อที่สังคมให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าเราใช้ AI อย่างมียุทธศาสตร์ อาจช่วยเปลี่ยนบริการภาครัฐให้เป็นแบบที่ประชาชนอยากเห็น:
– เปิดข้อมูลผ่านระบบที่เข้าใจง่าย
– วิเคราะห์ bottleneck ในขั้นตอนอนุญาต
– ตรวจจับความเสี่ยงการทุจริต
ส่วนตัวผมกำลังพยายามคิดต่อว่า เราจะเอา AI มาใช้ต่อยอด พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ใน กมธ.ของสภา (ที่ผมมีส่วนร่วมด้วย) ได้อย่างไรบ้าง
สุดท้ายนี้...ล
ยุคของ AI คงจะมาแน่แต่ส่วนตัวผมอยากเห็นมากกว่าแค่ “การใช้ AI in Thailand”อยากให้ยุทธศาสตร์ชาติก่อให้เกิด “AI for Thailand”คือการพัฒนาและใช้เอไออย่างปลอดภัย (safe) สร้างสรรค์ (productive) และทั่วถึง (inclusive)และเชื่อว่า“ปัญญาประดิษฐ์” จะสร้าง “ปัญญา” ได้เมื่อได้ “ปัญญามนุษย์” จากหลากหลายวงการมาช่วยกันคิดและทำ หวังว่า 5 ข้อนี้จะพอเป็นประโยชน์บ้างกับคณะกรรมการ AI แห่งชาติของไทย และทุกคนที่เกี่ยวข้องครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี