‘ภูมิธรรม’สั่งจนท.ทำงานเชิงรุก
ส่ง‘บิ๊กเล็ก’เก็บข้อมูลดับไฟใต้
“ภูมิธรรม” พบจุฬาราชมนตรี คุยดับไฟใต้ เห็นพ้องการเข่นฆ่าไม่ใช่หลักศาสนา สั่งทำงานเชิงรุก ด้าน “บิ๊กเล็ก” ลงพื้นที่ถกด่วน ทัพภาค 4-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับแผนทำงาน ยึดหลักทำให้ประชาชนปลอดภัย ส่วน มท.1 สั่งผู้ว่าฯ ผนึกกำลังให้ความคุ้มครองชาวบ้าน ขณะที่ กมธ.สันติภาพฯ แถลง 5 จุดยืน
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ในวันเดียวกันนี้ ว่าได้พูดชัดเจนถึงจุดยืนของรัฐบาลแล้ว ส่วนที่มีข้อเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.ต่อต้านการก่อการร้าย นั้น ยังไม่มีแนวคิด ขณะนี้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ สามารถดูแลได้อยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะปรับเปลี่ยนหรือมีแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคตอย่างไร นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องมีกลไก มีกฎหมายให้ความมั่นใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ต่อข้อถามว่าได้เน้นย้ำเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่มากขึ้นหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลเน้นย้ำอยู่แล้ว ขณะนี้ได้ให้ผู้บังคับบัญชาไปให้ความมั่นใจ ส่วนที่ให้ทำงานเชิงรุก ก็ไม่ได้หมายถึงให้ออกไปสู้รบหรือเข่นฆ่าผู้ก่อเหตุ แต่การทำงานต้องไม่นั่งอยู่ในที่ตั้ง เป็นการไปตรวจตรา ตั้งด่านต่างๆ ให้มากขึ้น ไม่ให้คนร้ายเคลื่อนย้ายอาวุธได้ง่าย รวมทั้งจัดกำลังดูแลประชาชนทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่เป็นกลุ่มเปราะบาง
ช่วงเที่ยงวันเดียวกัน ที่สำนักจุฬาราชมนตรี นายภูมิธรรม ได้เข้าพบนายอรุณ บุญชุม จุฬาราชมนตรี โดยหารือกันประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนที่นายภูมิธรรม เปิดเผยว่า เรื่องทางภาคใต้ สำนักจุฬาราชมนตรี มีความห่วงใย และได้ถามถึงมุมมองของจุฬาราชมนตรี ซึ่งมีความชัดเจนว่า ไม่อยากเห็นการเข่นฆ่ากัน เนื่องจากไม่ตรงกับหลักศาสนา นอกจากนี้ได้มีการพูดถึงปัญหาหลายอย่าง และพูดถึงทางออก โดยมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาด้วย แต่เป็นอะไรบ้างนั้น ขอยังไม่ลงรายละเอียด ย้ำว่าตนยังต้องพูดคุยกับทุกภาคส่วนให้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการปรึกษาหรือได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับหลักศาสนา อย่างไร หรือไม่ เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบมีการนำข้อมูลไปบิดเบือน นายภูมิธรรม กล่าวว่า หลักศาสนาอิสลาม ไม่มีการแนะนำให้เกิดการฆ่าใคร และการฆ่านั้นไม่ใช่หนทาง แต่เป็นบาป และหลักศาสนา ก็ไม่ได้มีปัญหาในส่วนนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นการอยู่ร่วมกันของชุมชนมุสลิมกับชุมชนไทยพุทธ เป็นเรื่องที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อยู่แล้ว
“จุดยืนของจุฬารัฐมนตรี คืออยากเห็นสันติสุขเกิดขึ้น และอยากเห็นการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติสุข จึงได้ประณามการกระทำที่โหดร้ายที่กระทำต่อมนุษย์ ร่วมกันย้ำว่ มันผิดหลักศาสนา นอกจากนี้เชื่อว่า ทุกหลักศาสนา ไม่นิยมหรือผลักดันใครให้ไปฆ่ากัน เรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนที่ทุกคนอยากหาสันติสุขและความสงบ และทุกคนอยากเห็นการเคารพนับถือซึ่งกันและกัน” นายภูมิธรรม กล่าว
วันเดียวกัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 และหน่วยงานด้านความมั่นคง ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานสถานการณ์ รวมถึงความคืบหน้าด้านคดีและแนวทางการปฏิบัติ จากนั้น พล.อ.ณัฐพล เรียกประชุมหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เน้นปรับยุทธวิธีการปฏิบัติให้เข้มข้น มีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมการพูดคุยสร้างสันติสุขในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ รมช.กลาโหม กล่าวย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน และพร้อมรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันหาทางออกและคลี่คลายปัญหา เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้มีความอ่อนไหว ต้องทำงานอย่างมีเอกภาพ ยึดหลักความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง รัฐบาลต้องการเห็นความร่วมมืออย่างจริงจัง และผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนในการคลี่คลายปัญหา ต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายต่อไป
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าช่วงนี้มีการพุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ ได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แบ่งหน้าที่เพื่อให้รองผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ไปอยู่กับประชาชน และใช้เวลาสร้างความมั่นใจให้เกิดความอุ่นใจ ให้เตรียมพร้อมในเรื่องของการช่วยเหลือทุกอย่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่าคนไทยในภาคใต้ มีความกังวลใจกับเหตุการณ์รุนแรง กระทรวงมหาดไทย จะทำอย่างไรให้ประชาชนยังรู้สึกปลอดภัย และรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ทิ้งเขาไว้ นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง รัฐบาลต้องยึดกฎหมาย และข้อสั่งการของนายกฯ ครอบคลุมไปถึงฝ่ายความมั่นคง นอกจากนี้ในภาคใต้ ยังมีกองทัพภาคที่ 4 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และฝ่ายปกครอง พร้อมให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือประชาชนแบบบูรณาการร่วมกัน
ที่รัฐสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวภายหลังประชุม กมธ.ว่า การจัดทำข้อเสนอของ กมธ.เป็นข้อเสนอในเชิงภาพรวม เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว ที่ผ่านมา เราจึงไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นเฉพาะเรื่อง หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่กรณีความรุนแรงครั้งนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจและประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กังวลในความปลอดภัย
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้ สะท้อนว่าการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ใน 20 ปีที่ผ่านมา ยังแก้ไม่ตก แก้ไขไม่สำเร็จ ทั้งที่ในช่วง 20 ปี เราทุ่มเททรัพยากรมหาศาลราว 4-5 แสนล้านบาท ลงไปในพื้นที่ และยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งเติบโตช้า มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำที่สุด กระบวนการยุติธรรมก็อ่อนแอ ไม่มีระบบที่ทำให้ประชาชนเชื่อถือในการพิสูจน์ว่าเป็นฝีมือของใคร จึงทำให้เกิดการแก้แค้นไปมา ถือเป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่เดียวที่ใช้กฎหมายพิเศษถึง 3 ฉบับ รวมถึงกฎอัยการศึก
ต่อข้อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความไม่ชัดเจนของรัฐบาล นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้เห็นต่างในทางลับ มีมาโดยตลอด ซึ่งการพูดคุยอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในปี 2556 มีการตั้งคณะพูดคุยของทั้งสองฝ่าย และยังคงมีอยู่ แต่ระบบการบริหารของเรา คณะพูดคุยตั้งโดยนายกญ เมื่อเปลี่ยนนายกฯ คณะเดิม ก็ต้องยกเลิกไป ตอนนี้ยังไม่มีการตั้งคณะพูดคุย ไม่ใช่ไม่มีการพูดคุยแล้ว แต่ กมธ.ไม่ขอก้าวล่วง ว่าเหตุใดยังไม่มีการตั้งคณะพูดคุย
เมื่อถามว่าคณะพูดคุยในสมัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ จะตั้งได้เมื่อไหร่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของกลยุทธ์ของฝ่ายบริหาร แต่ตอนนี้สถานการณ์มีความซับซ้อนมากขึ้น จะสรุปว่าเป็นเพราะไม่มีการพูดคุยก็เป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป เพราะปัญหาทับถมกันมาหลายสิบปี ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นฝีมือของใคร ถ้าเจรจาแล้วต้องแก้ไขปัญหาได้หมด ไม่ถูกมองว่าใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน บังคับรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่าการสรุปรายงานของ กมธ.อยู่ในช่วงความรุนแรงพอดี จะต้องปรับเนื้อหาใส่ไปในรายงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กมธ.จะไม่เสนอทางออกเฉพาะเหตุการณ์ เพราะไม่ใช่โจทย์ที่ได้รับจากสภาฯ แต่เมื่อเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ ก็จะนำมาเป็นปัจจัยประกอบในการพิจารณาเสนอข้อสังเกตุ แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือการเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแล้วก็ยังยืดเยื้อเรื้อรังไปเรื่อยอย่างที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กมธ.ได้ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืน ดังนี้ 1.คณะกรรมาธิการฯ ขอประณามการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกความสูญเสีย เราขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันที เพราะการใช้ความรุนแรงไม่เพียงขัดต่อหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน หลักการทาง มนุษยธรรม แต่ยังบ่อนทำลายกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างรุนแรง 2.คณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ต้องมีการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด และดำเนินการตามหลักนิติธรรมและความโปร่งใส การให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกสู่การคลี่คลายสถานการณ์ลดความหวาดวิตก ไม่ไว้วางใจกันในพื้นที่
3.คณะกรรมาธิการฯ ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ความคุ้มครองและความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 4.คณะกรรมาธิการฯ ขอสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ เพื่อยุติความรุนแรงและสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกันอย่างสันติภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และ 5.คณะกรรมาธิการฯ ตระหนักว่าปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความซับซ้อนและต้องการแนวทางการสร้างสันติภาพในหลากหลายมิติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน คณะกรรมาธิการฯ เร่งจัดทำรายงานที่ครอบคลุมข้อเสนอทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสันติภาพชายแดนใต้อย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี