รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่วันที่ 30 เม.ย. 2568 ชวนพูดคุยกับ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในประเด็นความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ก็มีข่าวอยู่เนืองๆ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกชักชวนให้กลับไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง รวมถึงสัญญาณ “รอยร้าว” ระหว่างพรรคอันดับ 1 และ 2 ในฝั่งรัฐบาล คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย ในเรื่อง “กาสิโน” ที่จะมาพร้อมกับสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์
“คือถ้าคนมันไปคุยใน ครม. จบแล้วว่าจะเอากาสิโน แล้วในพรรคร่วมรัฐบาล หัวหน้าพรรคก็อยู่ในรัฐบาล เป็นรองนายกฯ จบไปแล้ว แถลงข่าวแล้วจะเอาเข้าสภา มันก็ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว คือถ้าจะเปลี่ยนแปลงมันต้องคุยกันก่อน จะตบจูบอะไรมันต้องตบก่อนผ่าน ครม. แต่ถ้าผ่านนี่คือเอาแล้ว แต่พอเอามาแล้วมันเหมือนวันนี้เดินหน้าแล้วมาหักกันทีหลัง มันเหมือนเดินมาด้วยกันแล้วเอามีดแทง-เตะคว่ำเลย มันไปไม่ได้”
นายชัยวุฒิ มองว่า กาสิโนจะเป็นจุดแตกหักของรัฐบาล ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าพรรคภูมิใจไทยคิดอย่างไรจึงได้เปลี่ยนใจในภายหลัง แต่หากดูจากกระแสของประชาชนเรื่องนี้ก็ไปต่อได้ยาก ตนเชื่อว่าสุดท้ายพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งรัฐบาลทั้งหมดคงไม่เอาด้วย เพราะหากเห็นด้วยคงทำไปแล้ว ส่วนท่าทีของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ยังพยายามจะเดินหน้ากาสิโนต่อไป มองว่าก็คงเห็นเป็นผลงานอย่างที่พูดไว้ แต่สำหรับตนมองว่าผลเสียมีมากกว่า เพราะการพนันเป็นอบายมุข คนไทยเข้าไปเล่นมีแต่เสียหายล่มจมทางเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรมจะตามมามากมาย
ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน นายกฯ คือประคองไป ใช้คำว่ากลืนเลือดก็ได้จากการแทงกันเรื่องกาสิโน แต่เบื้องหลังจะมีการเจรจากันอย่างไรตนก็ไม่ทราบ เพราะเรื่องนี้มีผลประโยชน์เป็นแสนล้าน หากตกลงกันได้คงจะเดินหน้าต่อ แต่ในมุมมองของตน ดูจากท่าทีของ ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 9 เม.ย. 2568 ว่าไม่สนับสนุนกาสิโน แถมประกาศชื่อพ่ออย่าง เนวิน ชิดชอบ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ชัดเจนขนาดนี้พรรคภูมิใจไทยก็คงถอยหรือกลับลำไม่ได้
โดยสรุปความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย ก็อยู่กันไปแบบกลืนเลือดเพื่อรอเวลา แต่สิ่งที่ถามกันมามากกว่าคือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะปรับอย่างไร ซึ่งจะเป็นจุดชี้ทิศทางต่อไปของรัฐบาล เช่น พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว ประกาศแยกทางกัน หรือไม่ทั้ง 2 พรรคก็ยังคงอยู่ประคองกันต่อไปแบบลูบหน้าปะจมูก สุดท้ายสำหรับเรื่องกาสิโน ต้องรอดูร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ในการเปิดสมัยประชุมสภาครั้งหน้า จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ รวมถึงต้องรอดูท่าทีของมวลชนด้วย
ส่วนความเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คู่ขนานไปกับการทำงานของรัฐบาล นายชัยวุฒิ มองว่า ณ เวลานี้ นายทักษิณดูจะเป็นจุดอ่อนเสียมากกว่า เพราะมีคดีความตางๆ อย่างเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ หากผลออกมาในเชิงลบน่าจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่ง หากไปมองคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเขาก็เชื่อมั่นในตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ให้เอาความจริงมาคุยกัน คนเลือกพรรคเพื่อไทยเลือกนายทักษิณ ไม่ใช่ น.ส.แพทองธาร หรือนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งก่อนหน้า น.ส.แพทองธาร
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ – ปากท้อง ได้อย่างที่ประชาชนคาดหวัง บวกกับไปทำสิ่งที่ขัดใจประชาชนอย่างเรื่องกาสิโน ก็ยิ่งทำให้ผู้คนเคลือบแคลงสงสัยว่าจะตกลงแล้วมาเป็นรัฐบาลเพื่อจะทำอะไร ตนจึงมองว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยน่าจะอยู่ยาก หรืออย่างที่ “มูดีส์ (Moody's)” หรือ มูดีส์อินเวสเตอส์เซอร์วิส บริษัทวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเงินชั้นนำของโลก ปรับลดอันดับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยลง ตนก็มองว่า ต้องยอมรับความจริงเรื่องที่รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจให้เห็นเป็นผลงานชัดเจน มีแต่พูดไปเรื่อยแต่ไม่ได้ทำ คืออยู่กันไปวันๆ หนึ่ง
ส่วนคำถามว่า “อดีตนายกฯ ทักษิณ ผิดฟอร์มหรือไม่?” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มองว่า ย้อนไปดูสมัยที่นายทักษิณเป็นนายกฯ ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวหลังลอยตัวค่าเงินบาท สินค้าไทยมีราคาถูก การส่งออกดีขึ้น มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในยุคนั้นโตมาก แต่ปัจจุบันไม่มีปัจจัยเชิงบวกแบบนั้นแล้ว มีแต่ปัจจัยเชิงลบ ก็ต้องพิสูจน์ฝีมือ เพราะตอนสถานการณ์เป็นบวกก็อ้างเป็นผลงาน แล้วเมื่อถึงคราวสถานการณ์เป็นลบจะทำอย่างไร ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีวิสัยทัศน์และทีมงานมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจจนทำให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่น
ขณะที่ข้อสังเกตเรื่องบทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่อาจเกี่ยวข้องกับความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ ประเด็นนี้ตนมองว่า นายทักษิณ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จริงๆ ก็รู้จักกันหมดเพราะเป็นผู้ใหญ่ในทางการเมือง ทางฝั่งทหารกับฝั่งการเมืองเขารู้จักกันอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน ตั้งแต่ยุครัฐบาลรัฐประหาร จนถึงยุคที่พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ทั้ง 2 ฝ่ายต่อสู้กันมาตลอด ตนก็ไม่แปลกใจหากจะมีความแค้นต่อกัน
“ตอนตั้งรัฐบาลเศรษฐา อาจจะเสียงไม่พอ กลัวไม่ได้ พอเขาคิดว่าเสียงเขาพอแล้ว เสียงพอนี่ไม่ใช่เพราะทำตามกติกาด้วยนะ คือใช้วิธีดูด สส. เลย ดูดคนไป ซึ่งมันไม่ใช่กระบวนการที่ถูกต้องในรัฐธรรมนูญ เหมือนขโมยของ – ปล้นกัน คนนี้อยู่พรรคนี้ก็ดึงไปเลย มันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องอยู่แล้ว”
หากให้เดาใจ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค ชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็คงจะอยู่อย่างนี้ ทำหน้าที่ทำการเมืองไป ลองคิดว่าอยู่ดีๆ มีคนมาขโมยของของเราไป เราจะคุยกับคนคนนั้นหรือไม่ ก็ต้องโกรธอยู่แล้ว ส่วนคำถามว่า พล.อ.ประวิตร จะลุกขึ้นมาสู้หรือไม่ ตอนนี้ก็กำลังสู้อยู่แล้ว อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เรื่องตั๋ว PN และการเลี่ยงภาษีของนายกฯ แพทองธาร ก็เป็นทีมงานพรรคพลังประชารัฐที่เตรียมข้อมูลให้ สส. ของพรรค คือ พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ เป็นผู้อภิปราย ก่อนที่ สส. จากพรรคประชาชน อย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จะมาช่วยขยายซ้ำ
ถึงกระนั้น พรรคประชาชนก็ไม่ได้ไปให้สุด ทั้งที่เรื่องนี้สามารถร่วมกันลงชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนในประเด็นจริยธรรมได้ แต่ตนก็ไม่แปลกใจกับท่าทีดังกล่าวของพรรคประชาชน ซึ่งแม้ว่าในส่วนของสมาชิกพรรค ความสัมพันธ์ระหว่างคนของพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทยคงไม่แน่นแฟ้น เพราะต้องต่อสู้กันในการเลือกตั้ง อย่างพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของเสื้อแดง (กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย) ก็มีที่ย้ายไปเสื้อส้ม (กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชน ตามลำดับ) อย่าง จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยก็ยังแพ้
แต่ในส่วนของบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพรรค เชื่อว่าคงมีการคุยกัน ตระกูลของคนเหล่านั้นก็อยู่ร่วมกันมาเป็นสิบๆ ปี ไม่ใช่คนอื่นไกล ดังนั้นที่มีการพูดกันว่าในอนาคตพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนมีโอกาสจับมือกัน เรื่องนี้ก็เป็นไปได้ แต่จริงๆ ทุกพรรคก็มีโอกาสจับมือกันหมด เพียงแต่ตนชี้ให้เห็นว่าวันนี้พรรคประชาชนไม่ได้ค้านจริง ซึ่งอาจจับมือเป็นรัฐบาลเลยก็ได้ด้วยซ้ำโดยไม่ต้องรอการเลือกตั้งครั้งหน้า ยิ่งขณะนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แล้วด้วย แต่ที่ไม่จับก็เพราะคงมีเงื่อนไขอื่น
“ถ้าผมวิเคราะห์ก็คือพรรคส้มคงจะถือว่าเขาถือไพ่เหนือกว่า เขาก็ถือว่าถ้าเลือกตั้งใหม่ ตอนนี้รัฐบาลเสียงไม่ดีใช่ไหม แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ เพลี่ยงพล้ำ เขาก็มองว่าคะแนนของคนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็จะไหลมาทางเขา อยู่อย่างนี้ดีกว่า เขาได้คะแนนเยอะขึ้นถ้าเลือกตั้งใหม่ ผมอยากให้เลือกตั้งใหม่มากกว่า ในความคิดผมนะ”
รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขยายความเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า หากมีการยุบสภา พรรคประชาชนเชื่อว่าจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพิ่มขึ้น โอกาสต่อรองเป็นรัฐบาลก็มากขึ้น และตนเชื่อว่าหาก น.ส.แพทองธาร ไปต่อไม่ไหวในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การยุบสภาคงเป็นไปได้มากกว่าการลาออกแล้วหาคนอื่นมาเป็นนายกฯ แทน เพราะคนอื่นเป็นก็ไม่สามารถควบคุมได้ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจวุ่นวายอีก
ส่วนที่ตนเคยตอบคำถามสื่อว่า “ไปร่วมก็บ้าแล้ว” เนื่องจากถูกถามว่าพรรคพลังประชารัฐจะหวนกลับไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ ก็มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์ที่รัฐบาลปัจจุบันเหมือนเรือที่ใกล้ล่มจากหลายปัจจัย ทั้งความไม่พอใจของประชาชนเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ความแตกแยกภายในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลจากประเด็นกาสิโน และเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่จะตามมา ดังนั้นใครที่กระโดดลงไปในเรือที่มีสภาพแบบนี้ก็คงจะบ้า
อีกประเด็นน่าที่น่าสนใจ คือชัยชนะของ “พรรคกล้าธรรม” ในการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 8 จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2568 เนื่องจากสมาชิกพรรคกล้าธรรม ก็คืออดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เรื่องนี้ตนมองว่าคงไม่ได้อ้างอิงไปถึงการเลือกตั้งระดับประเทศ โดยการเลือกตั้งซ่อมคือการเลือกตัวบุคคล คนในพื้นที่เขาก็เลือกคนที่รักหรือคนที่ดูแลเขาได้ดี ส่วนที่ทางพรรคกล้าธรรมมักประกาศอยู่เรื่อยๆ ว่าเดี๋ยวจะมี สส. มาร่วมกับพรรคเพิ่ม แล้วทุกสายตาก็จะจับจ้องมาที่พรรคพลังประชารัฐ นั่นก็เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกันมาก่อน ต่างดูแลกันไป – มา
“ประชาชนต้องเข้าใจอย่างนี้ สส. หรือนักการเมืองเขาก็ต้องไปช่วยเหลือชาวบ้าน ก็ต้องไปของบประมาณจากหน่วยงานรัฐ ไปขอประสานกับโน่นนี่นั่น ก็ต้องไปประสานงานกับรัฐบาลใช่ไหม เพื่อจะช่วยชาวบ้าน เพื่อจะทำพื้นที่ มันก็เรื่องปกติ ฉะนั้นนักการเมืองทุกคนก็จะมีความใกล้ชิดหรือเข้าไปมีการดูแลจากผู้ใหญ่จากรัฐบาล ก็จะสนิทกัน ผู้ใหญ่ก็บอกว่า_ดูแล_งนี่ _งต้องมาอยู่กับ_”
ทั้งนี้ ผู้ใหญ่อาจมองว่า เมื่อนักการเมืองมาของบประมาณหรือขอความช่วยเหลือก็เท่ากับเป็นลูกน้อง แต่เมื่อถึงการเลือกตั้งจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ก็อีกเรื่อง เพราะเลือกตั้งแล้วหนีก็ยังมีมาแล้ว ส่วนที่จะให้พูดถึงพรรคกล้าธรรม ตนไม่ได้ปรามาสว่าพรรคกล้าธรรมจะไม่มี สส. เพราะทางนั้นเขาก็มีตัวผู้สมัคร มีบ้านใหญ่ มีการทำพื้นที่ พรรคกล้าธรรมก็คงไปได้ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร เช่น กระแสของพรรค หรือใครจะอยู่กับใคร
แต่หากให้ประเมินพรรคพลังประชารัฐ วันนี้ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค ก็ยังสู้อยู่ ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งมาก – น้อยเพียงใด คงตอบไม้ได้ว่าทุกจังหวัด คงจะดูพื้นที่ที่มีสมาชิกพรรคและทีมงานที่พร้อมลงเลือกตั้ง ก็กำลังวางตัวผู้สมัครอยู่ ส่วนคำถามว่า บรรดานักการเมืองที่มีชื่อเสียงจะไหลออกจากพรรคในช่วงใกล้เลือกตั้งหรือไม่ เรื่องนี้ตนไม่รู้ ตอบแทนไม่ได้ ก็ต้องดูกันต่อไป
ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจได้เพราะเมื่อพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ร่วมรัฐบาล กลายเป็นฝ่ายค้านก็ถูกมองว่าไม่มีอำนาจ ไม่สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้ คนในพรรคก็อาจหนีออกหมด แต่ในทางกลับกัน คนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็ต้องหาพรรคลง แล้วถามว่ามีใครที่ค้านจริงๆ ก็มีแต่พลังประชารัฐ ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐก็ต้องเป็นแกนหลักในการรวบรวมคนมาสู้ จะได้มากหรือน้อยตนไม่รู้ แต่ต้องทำให้ดีที่สุด ก็ถือว่าเป็นความหวังของคนกลุ่มหนึ่งที่จะต้องสู้
“หลายเรื่องที่มาวันนี้ ที่มีการตรวจสอบก็มาจากฝั่งเรา พอเข้าสู่การเลือกตั้งก็ต้องเป็นทางเลือกให้ประชาชน เพราะวันนี้อย่างที่ผมพูดตลอดว่ารัฐบาลมันไปไม่ไหวแล้ว มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ถ้าคุณเปลี่ยนไปส้ม ผมก็ไม่เชื่อเขาจะทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะแนวทางเขาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน ต่อหลายๆ เรื่อง มันไปไม่ได้ แล้วไม่มีทีมงานมืออาชีพด้วย
ผมว่าไปไม่รอดหรอก เขาก็พูดแต่เรื่อง Negative Campaign (การรณรงค์เชิงลบ) ด่าโน่นด่านี่ไป พูดเอามันไปเรื่อย แต่ทำไม่ได้หรอกบริหารจริงๆ ฉะนั้นผมเชื่อว่าสุดท้ายคนที่มีวุฒิภาวะ คนที่เข้าใจ เขาก็ต้องเลือกพรรคที่เป็นคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีความรักชาติบ้านเมือง มีมืออาชีพเข้ามาทำงาน ซึ่งก็ต้องเป็นพลังประชารัฐ ก็ต้องก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา วันนี้อาจดูยังไม่พร้อมแต่ก็ต้องปั้นตัวขึ้นมา”
ชัยวุฒิ ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนโลโก้ครั้งล่าสุดของพรรคพลังประชารัฐ พร้อมเปิดคำนิยามพรรค “อนุรักษ์นิยมทันสมัย” ว่า เอาจริงๆ ตนไม่ค่อยชอบคำว่าอนุรักษ์นิยมเท่าไรเพราะฟังดูแก่ และก็ไม่ได้ทำอะไรแบบจารีตประเพณีขนาดนั้น แต่หมายถึงทำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ส่วนอะไรที่เห็นว่าดีอยู่แล้วไม่ควรเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแล้ววุ่นวายก็อย่าไปยุ่ง
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี