เริ่มแล้ววันแรก ‘นายกฯ’ สั่งขายเหล้า - เบียร์ในวันสำคัญทางศาสนา – สนามบิน - แหล่งทำกิจกรรมพิเศษ ได้ ‘ด้านเลขาฯมูลนิธิเมาไม่ขับ’ ถามแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ ‘คนตาย’ จับตา ‘คนบริสุทธ์’ สูญเสียจาก ‘คนเมา’ ใครจะรับผิดชอบ ด้าน ‘ประธานกมธ.สาธารณสุข สว.’ เตือนระวังบุคลากรเจอภาระเพิ่ม – ผิดศีล5 แนะหน่วยเกี่ยวข้องควรเสนอทบทวน
วันที่11พ.ค.2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(11พ.ค.) ซึ่งตรงกับวันวิสาหบูชา เป็นวันพระใหญ่แรก ที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถขายเหล้า- เบียร์ ได้ ประกอบไปด้วย วันมาฆบูชา วันวิสาขบา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา หลังวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เซ็นคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ พ.ศ. 2568 แต่เปิดช่องให้ขายได้ในบริเวณ สนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ , สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ,สถานบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ตามที่รมว.สาธารณสุขกำหนดโดยคำแนะนำของรมว.มหาดไทย , โรงแรม และ สถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติ และมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน ตามที่รมว.สาธารณสุขกำหนด โดยการแนะนำของรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา
ด้านนพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากสถิติช่วงเปิดผับตี 4ที่ผ่านมา พบว่า มีอุบัติเหตุจากเมาไม่ขับเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการรองรับและรับผิดชอบอย่างเพียงพอ และต่อมายิ่งมาเปิดโอกาสให้จำหน่ายเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ เพิ่มมาอีก อยากถามว่าคืนนี้หากพบว่ามีอุบัติเกิดขึ้น และเป็นผู้บริสุทธิ์ จากคนที่เมาสุรารัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะ ที่ผ่านมาจากสถิติพบว่าในวันพระใหญ่ พบว่าจำนวนคนดื่มน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญหากเทียบ กับวันที่ให้จำหน่ายสุราได้ ในขณะที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เพราะมีคนนับถือมากกว่าร้อยละ 90 และศีลข้อ 5 ก็ระบุว่า ละเว้นจากการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมา แต่กลับส่งเสริมเช่นนี้ อีกทั้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นหมอ ตำรวจ ศิลปินดารา ซึ่งเมาแล้วขับ แล้วเกิดอุบัติเหตุยังควบคุมได้ไม่ดีเลย ทั้งที่จริงๆควรจะต้องควบคุม ให้เข้มงวดขึ้นเสียก่อน
นพ.แท้จริง กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเคยเสนอมาตรการต่างๆควบคุมอย่างเข็มงวด อาทิ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ที่คนบาดเจ็บ ล้มตาย จะต้องให้ตรวจแอลกอฮอล์ทุกกรณี มิให้ใช่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือ อุบัติเหตุทำให้คนตาย จะต้องติดคุกอย่างเดียว แต่รัฐบาลก็ไม่ทำ และคนผิดก็แค่รอลงอาญา ไม่กลัวต่อความผิด ฉะนั้นรัฐบาล ทำไมไม่ออกกฎหมายส่งเสริมการดื่มสุรา แทนกฎหมายควบคุมไปเลย ทั้งนี้เชื่อว่า นอกจากวันพระใหญ่แล้ว ต่อไป วันก่อนเลือกตั้งก็อาจจะอนุญาตให้ขายเหล้าได้ด้วยใช่หรือไม่
เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลอ้างกระตุ้นเศรฐกิจ และการท่องเที่ยว ขอตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจของใคร ใช้ของคนผลิต คนจำหน่าย เครื่องดื่ม ที่มีผลประโยชน์มหาศาลหรือไม่ และรัฐบาลได้คำนึงถึงอีกด้านหรือไม่ว่า จะไม่เป็นการกระตุ้นให้คนตายเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะที่ส่วนใหญ่คนตายกันก็ไม่ใช่คนเมา แต่เป็นคนที่ใช้รถใช้ถนนและไม่ดื่ม แถมยังเป็นหัวหน้าครอบครัวอีกด้วย อยากถามว่าหากเกิดเรื่องเหล่านี้อีกใครจะรับผิดชอบอย่างไร
ขณะที่นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ ที่ใช้มานาน และไม่อนุญาตไม่ให้ขายสุราในวันพระใหญ่ เป็นการรักษาศีล 5 ซึ่งประชาชนก็คุ้นชินมานานแล้ว แต่เมื่อประกาศสำนักนายกฯออกมาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และออกมาแบบโดดๆไม่มีขีดจำกัด และ มาตรการควบคุมรองรับ อาจทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เพราะจะกระตุ้นให้เดินทางไปข้างนอกบ้านเพื่อดื่มสุราและเกิดอุบัติที่เหตุได้จากการขับรถ ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ และ สาธารณสุขก็ทำงานหนักอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่ และ สงกรานต์ ก็หวังจะให้วันพระใหญ่เป็นวันหยุด หรือทำงานน้อยลง ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป
“ในเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว ก็ต้องมาดูสถิติ ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากหรือเพียงเล็กน้อย หากเทียบกับชีวิต และ ทรัพย์สินของประชาชน ที่สูญเสียว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ เช่น กระทรวงสาธาณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ ต้องทำข้อมูลเปรียบเทียบ หากเห็นว่าไม่คุ้มค่าก็อาจจะเสนอให้รัฐบาลทบทวนทันที” นพ.ประพนธ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี