"รมว.กลาโหม เยอรมัน" ปฏิเสธขาย เครื่องยนต์เรือดำน้ำให้ไทย ในการหารือทวิภาคีกับ "ภูมิธรรม" ย้ำ อียู ห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้จีน
วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.25 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศเยอรมัน ในการหารือทวิภาคีที่สำคัญระหว่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศไทย กับ นาย Boris Pistorius รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
นายภูมิธรรม ได้กล่าวชื่นชมเยอรมนีที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม United Nations Peacekeeping Ministerial Meeting ครั้งที่ 6 (UNPKM 2025) และแสดงความยินดีต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของเยอรมนี ภายใต้การนำของ นาย Friedrich Merz พร้อมทั้งยินดีที่ รมว.กห.เยอรมนียังคงดำรงตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพทางนโยบายด้านกลาโหม
ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเยอรมนี ที่มีมายาวนานถึง 163 ปี และมีการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในสหภาพยุโรป
ในการประชุม UNPKM 2025 ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ และมุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพไทยให้มีความพร้อมและมาตรฐานสากล ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมภายใต้โครงการความร่วมมือไตรภาคี (Triangular Partnership Programme: TPP) ในห้วงปี 70-71 และหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือกับเยอรมนีในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพกำลังพลในภารกิจรักษาสันติภาพ
ความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยและเยอรมนีมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือน การหารือแลกเปลี่ยนเฉพาะด้าน การสนับสนุนที่นั่งศึกษา และการจัดหายุทโธปกรณ์ ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสำเร็จในการประชุมโครงการความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่าง กห. กับ กห.เยอรมนี (Bilateral Annual Cooperation Programme Talks) 2568 และการประชุมหารือด้านความมั่นคงเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ กห. - กห.เยอรมนี (Politico - Military Staff Talks) ครั้งที่ 7
ไทยขอบคุณเยอรมนีที่สนับสนุนกำลังพลของไทยเข้ารับการศึกษาวิชาทหารในเยอรมนี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและความเป็นมืออาชีพทางทหารของกำลังพลไทย
นอกจากนี้ ไทยยังประสงค์ที่จะแสวงหาความร่วมมือกับเยอรมนีในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ โดยเฉพาะด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย
เยอรมนีได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนด้วยดีเสมอมา และไทยยินดีที่เยอรมนีได้รับความเห็นชอบจาก รมว.กห.อาเซียน ให้เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และด้านความมั่นคงไซเบอร์ในกรอบ ADMM-Plus ไทยยังมีความประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนความร่วมมือด้านการแพทย์ทหารระหว่างศูนย์แพทย์ทหารนานาชาติของเยอรมนี กับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนของไทย
กระทรวงกลาโหมของไทยกำลังพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์ เพื่อพึ่งพาตนเองและเป็นหลักประกันด้านความมั่นคง รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะใน 4 ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะเพื่อความมั่นคง อุตสาหกรรมต่อเรือ อากาศยานไร้คนขับ และอาวุธและกระสุน ไทยจึงขอให้เยอรมนีพิจารณาความเป็นไปได้ในการที่ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเชิญชวนเยอรมนีเข้าร่วมงาน Defense & Security 2025
โดย นายภูมิธรรม ได้ติดตามสิ่งที่เคยสอบถามทางกระทรวงกลาโหมเยอรมนีว่าสามารถขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ที่ทางประเทศไทยได้จัดหาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่
ทาง รมว.กห. สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ตอบว่าที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องมาจากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้มีข้อห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความขอบคุณสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี