“วราวุธ” ขึ้นเวที TEPCoT ปาฐกถาพิเศษ “สังคมไทยกับการค้ายุคใหม่” ย้ำ วิกฤตประชากร-ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ สังคมไทยต้องปรับตัว
วันที่ 15 พ.ค.68 ที่ ม.หอการค้าไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สังคมไทยกับการค้ายุคใหม่” ให้กับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคธุรกิจเอกชนที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ ( Top Executive Program in Commerce and Trade - TEPCoT) รุ่นที่ 17 จัดโดยสถาบันวิทยาการการค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นายวราวุธ กล่าวว่า “สังคมไทยกับการค้ายุคใหม่” ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี , ปัญญาประดิษฐ์ (AI) , การค้าข้ามพรมแดน , การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตประชากร ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าปรับตัวได้เร็วเท่ากับรอด และเชื่อว่า “ต้นทุนมนุษย์” สำคัญที่สุด เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย อาทิ นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ที่ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าและการลงทุน และมีการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ส่วนจะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ เป็นบวกหรือลบ คงต้องวิเคราะห์ในทุกมิติ ประกอบกับการวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และหลายสถาบันวิจัย คาดการณ์ว่า ประมาณการ GDP ของโลกโดยรวม จะหดตัวลง รวมถึงไทย ซึ่งไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางอุตสาหกรรมของไทย รวมถึงผลกระทบต่อภาคเกษตรและภาคบริการของไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี , ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคม หากใช้ไม่ถูกต้องและควบคุมไม่ได้ ในขณะที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งกระทบต่อทุกคนอย่างมาก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการ หรือแม้แต่ตลาดหุ้นที่หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งไทยมีความเสี่ยงลำดับที่ 30 ในด้านภัยแล้ง น้ำท่วม และดินโคลนถล่ม เป็นความเสี่ยงโดยตรงต่อภาคการผลิต บริการ (การท่องเที่ยว) และการส่งออก
ขณะนี้ไทยมีความท้าทายในเรื่องวิกฤตประชากร การค้าและการลงทุนจากนี้เป็นต้นไปจะเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ เนื่องจากโครงสร้างแรงงานจะเปลี่ยนไป ทำให้การทำธุรกิจรูปแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากนั้น ไม่เหมาะสมอีกต่อไป ในขณะที่โครงสร้างตลาดและการบริโภคของประชาชนก็จะเปลี่ยนไปมากด้วย เนื่องจากประชากรสูงอายุจะมีมากขึ้นถึง 20% เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ภายใน 10 ปี โดยไทยมีอัตราเร่งกว่าหลายประเทศ เป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค และของโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2583 ทุกๆ 1 ใน 3 ของคนไทย จะเป็นผู้สูงวัย และจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง เหลือเพียงประมาณ 5 แสนรายต่อปี และน้อยกว่าจำนวนการตาย ทำให้เด็กและเยาวชนจะต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีคุณภาพ และมีความพร้อมในการปรับตัวที่มากพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
ในขณะที่วัยแรงงานลดลงจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งเราสามารถใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทดแทนได้ แต่ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมจะสามารถรองรับได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งแรงงานเองต้องมีการลงทุนในเรื่องอัพสกิล และ รีสกิล ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ล้วนส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยในภาพรวม รวมถึงกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง
การที่ไทยสามารถรักษาบทบาทเป็นกลางได้ ทำให้กลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกัน มีการพึ่งพาการค้าระหว่างกันลดลง จะหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง โดยไทยต้องใช้ของดีที่มีอยู่ในการสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน นั่นคือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการพัฒนาคนไทยทุกกลุ่มให้มีคุณภาพอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นทางรอดของสังคมไทย
ในส่วนของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการขับเคลื่อนโยบายในการดูแลสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ นโยบายเร่งด่วนข้อที่ 5 ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก มุ่งเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 10 มุ่งส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและการจัดสวัสดิการสังคม สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ ให้กับกลุ่มเปราะบาง ในขณะที่ กระทรวง พม. ให้ความสำคัญกับคนไทยทุกกลุ่ม โดยได้ขับเคลื่อน นโยบาย “5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 25 มาตรการหลัก ได้แก่ เสริมพลังวัยทำงาน , เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน , สร้างพลังผู้สูงอายุ , เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
"ขอเน้นว่า เราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยคุ้นเคยกับการแสวงหาผลประโยชน์และเยียวยา ซึ่งกลายเป็นการส่งเสริมให้คนทำแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างระบบแรงจูงใจที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเร่งปรับตัวกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยทุกฝ่ายต้องตระหนักร่วมกัน และทำด้วยกัน เพราะไม่มีใครที่ทำเหมือนเดิมแล้วจะอยู่รอดได้ เพราะการปรับตัวได้เท่ากับอยู่รอด" นายวราวุธ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี