‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ ลงพื้นที่อุบลราชธานี ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย ‘Learn to Earn’ ช่วยเด็กนอกระบบกลับสู่การเรียนรู้ ชู ‘อุบลราชธานี’ ต้นแบบ ความร่วมมือสร้างการศึกษายืดหยุ่น เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา
วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ระดับชาติ ลงพื้นที่โรงเรียนวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ‘Thailand Zero Dropout’ และผลักดันนโยบาย ‘Learn to Earn’ ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา กลับเข้าสู่การเรียนรู้ ควบคู่การฝึกอาชีพ มีรายได้ และได้รับวุฒิการศึกษา โดยมีภาคีจากทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนและออกแบบความร่วมมือ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด สภาหอการค้า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สภาการศึกษาจังหวัด องค์กรพัฒนาเอกชน สภาเด็กและเยาวชน สส.อุบลราชธานี และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมประชุม
นายประเสริฐ กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 3–18 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษา จำนวน 19,378 คน ขณะนี้สามารถติดตามตัวได้แล้วเกือบทั้งหมด โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะไม่ทิ้งเด็กกลุ่มใดไว้ข้างหลัง ซึ่งการจะช่วยลูกหลานชาวอุบลราชธานีให้กลับมาเรียนรู้ได้ ต้องมีการศึกษาที่ยืดหยุ่น เชื่อมโยงกับอาชีพและการพัฒนาตนเอง เราจึงผลักดันแนวคิด ‘Learn to Earn’ เพื่อให้เด็กมีอนาคต เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา และเติบโตเป็นพลังของจังหวัดต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่เน้นย้ำต่อเนื่อง คือ การสร้างระบบการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ โดยปัจจุบัน ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงอุบลราชธานี ได้แต่งตั้งคณะทำงานที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานครบถ้วนแล้ว เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน ให้สามารถยื่นมือไปถึงเด็กทุกคนที่ขาดโอกาส และได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงกับโจทย์ชีวิตของแต่ละคน ทั้งนี้รัฐบาลกำหนด 4 มาตรการหลัก ตามมติคณะรัฐมนตรี (28 พฤษภาคม 2567) เพื่อเป็นกรอบการขับเคลื่อนงาน ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน , 2) การบูรณาการการช่วยเหลือรายกรณี โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน , 3) การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตามโจทย์ชีวิตของเด็กแต่ละคน , 4) การเรียนรู้ควบคู่กับการมีรายได้ (Learn to Earn)
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพัฒนา แพลตฟอร์มกลาง ‘Learn to Earn’ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการศึกษา การฝึกอบรม และการจับคู่งาน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดิจิทัลฯ โดยศูนย์ดิจิทัลชุมชน ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงศึกษาธิการ กสศ. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสที่ตอบโจทย์ชีวิตจริง และเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
“ผมขอให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบ เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของเรื่องนี้ร่วมกัน ขอให้การพบกันในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ภารกิจของเราไม่ใช่แค่ตามหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา แต่คือการร่วมกันสร้างเส้นทางใหม่ที่ให้ทุกคนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ และมีเป้าหมายชีวิตที่มั่นคง สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” รองนายกฯ และ รมว.ดีอี กล่าว
ทั้งนี้ นายประเสริฐ ยังได้มอบวุฒิการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนนอกระบบที่สำเร็จการศึกษา ตามมาตรา 12 จากศูนย์การเรียนในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงได้จริง โดยจังหวัดอุบลราชธานีถือเป็น พื้นที่ต้นแบบ ที่มีความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ในการออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน ผ่านโมเดลหลากหลายรูปแบบ เช่น ‘โรงเรียนน้อย’ หรือ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ โดยโรงเรียนวารินชำราบ , ห้องเรียนสร้างโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนอุบลราชธานี และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, ‘ห้องเรียนหมอลำ’ โดยมูลนิธิปัญญากัลป์ ที่ใช้ศิลปวัฒนธรรมสร้างการเรียนรู้และ Soft Power, ห้องเรียนห้องสมุดบ้านหนังสือช่องเม็ก ที่เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน เข้าถึงสื่อคุณภาพ, การใช้กีฬาฟุตบอลเป็นตัวเชื่อมให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยแบบเพื่อนช่วยเพื่อน โดยสภาเด็กและเยาวชนตำบลเก่าขาม และ CYC&The Gang
โดย นายประเสริฐ กล่าวถึงศักยภาพของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่โดดเด่น เช่น ผาแต้ม แม่น้ำโขง ชี มูล ความเป็นศูนย์กลางทางศาสนา รวมถึงการเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย–ลาว–กัมพูชา ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับแนวทาง Learn to Earn ในการพัฒนาอาชีพด้านสุขภาพ การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว จึงอยากเชิญชวน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และ YEC ให้พิจารณาร่วมกันออกแบบทิศทางของการจัดการศึกษา เรียนรู้ โดยเฉพาะภาคเอกชนจังหวัดอุบลราชธานีที่มีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนทุนของจังหวัดได้อย่างแท้จริงในที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี