“พิชัย” สวนทันควัน “ผู้นำฝ่ายค้านฯ” โว มั่นใจ GDP ไทยปี 69 เก็บเงินได้ตรงเป้า ยันรัฐบาลทำงบฯขาดดุล 2 ปีซ้อน ถูกทางแล้ว เน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ยอมรับการลงทุนภาคเอกชนหายไป50% ต้องเปลี่ยนแปลงทำงบประมาณรายจ่าย หนุนภาคเอกชน ฟื้นความเชื่อมั่น หวังแก้วิกฤตเศรษฐกิจ
วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 เวลา 17.55 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ลุกขึ้นชี้แจงกรณีนายณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ว่า ตนก็กังวลในฐานะคนไทยคนหนึ่งแต่ก็เข้าใจสถานการณ์ และคิดว่าปัญหาที่เราเห็นทุกวันนี้ต้องแก้ไขให้ได้ ทุกคนอยากเห็นประเทศไทยกินดีอยู่ดี มีการใช้จ่ายที่เติบโต ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยแคบลง โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในอดีต ช่วงที่จีดีพี 6 - 10% หรือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หน้าที่ของภาครัฐไม่มีหน้าที่ในการลงทุนและส่งออก ต้องทำให้โครงสร้างต่างๆ มีความพร้อมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และลดค่าใช้จ่ายให้กับภาคเอกชน ในช่วงนั้นการลงทุนทั้งหมดมีประมาณ 40% บวกลบของจีดีพี การลงทุนของภาคเอกชนสูง แต่วันนี้ การลงทุนในไทยหายไปกว่า50% การลงทุนจากภาคเอกชนหายไป ผู้นำหายไป มองไม่เห็นการส่งออก ไม่เกิดการจ้างงาน สินค้า หรือบริการที่เราส่งออกมีคุณค่าน้อย โดยเฉพาะภาคการเกษตร สินค้าบางอย่างในราคา 100 บาท ต้นทุนอาจอยู่ที่ 90-100บาทด้วยซ้ำ ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการลงทุนภาคเกษตรกรรม
“การขาดดุลของเราขาดดุล 850,000 ล้านบาท ติดกัน 2 ปี หากมองจากมุมมองข้างนอกก็สูง เพราะขาดดุลกว่า 4% ซึ่งปกติไม่ควรเกิน 3.25 - 3.5% ในเงินจำนวนนี้ มีการคืนเงินต้นอยู่ด้วย 150,000 ล้านบาท โดยเมื่อหักลบกันแล้วเราก็ขาดดุลอยู่ประมาณ 3% กว่า ผมกำลังดูอยู่ว่า ในข้างหน้ามีการปรับการขาดดุลทุกปี ในปีนี้เรามีงบรายจ่ายประจำ ที่พยายามลดให้ได้ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณผูกพันกับงบข้าราชการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรื้อรังมายาวนาน ในทางปฏิบัตินำหนี้เหล่านี้มารวมในหนี้สาธารณะทั้งหมด แม้จะมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปมีการตั้งเป้าจีดีพีให้เกิน 3% แต่ในวันนี้ก็มีการปรับลงมา แต่ผมคาดว่าในปีนี้การเก็บรายได้ของเรา น่าจะอยู่ในเป้าหมาย ฉะนั้นเงินขาดดุลคงคลัง คาดว่ามากกว่าเดิม ยืนยันว่า มีการปรับหลายอย่างเพื่อเดินไปข้างหน้า การทำงบ ฯปี 2569 ทำตามพื้นฐานเดิม จึงขอให้ สส. ช่วยกันดูแลงบฯให้ละเอียด เราสามารถจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้“ รมว.คลัง ระบุ
นายพิชัย กล่าวต่อว่า สิ่งต่างๆที่เสนอขึ้นมานี้ในพื้นที่ทั้ง สส.เขต และเจ้าหน้าที่เคยเสนอขึ้นมา ส่วนใหญ่มากกว่า 90% อยู่ในส่วนที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใส่ไว้ในตะกร้าแล้ว ตนดูแล้วมีจำนวนถึง 4 ล้านล้านบาท บางโครงการเป็นระยะยาว ระยะปานกลาง ปัญหาคือต้อง มีการแก้ระบบน้ำ ระบบไฟ และการขนส่ง,คมนาคมอย่างถาวร เช่นเดียวกับเรื่องการท่องเที่ยวที่ต้องเปลี่ยนวิธี เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ตนเชื่อว่าการเปลี่ยนงบประมาณเหล่านี้ จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นและมั่นใจในการลงทุนในอนาคต เชื่อว่างบประมาณนี้เป็นตัวเริ่มต้นจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป เราจึงต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภายในประเทศมากยิ่งขึ้น และต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ได้จากงบประมาณรัฐ มาตรการการลงทุนผ่านกองทุนของเอกชน โดยเอกชนลงทุนส่วนหนึ่งและรัฐลงทุนอีกส่วนหนึ่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี