‘ชัชวาล’ ซัด ‘รัฐบาลแพทองธาร’ จัดงบฯ69 เมิน ‘เกษตรกร-คนตัวเล็ก’ หวั่นใช้งบกลาง 6.3 แสนล้านไม่โปร่งใส เตือนหลายโครงการเสี่ยงโกง ขั้น ‘ฟาส แทร็ค’
วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 เมื่อเวลา 18.50 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 วงเงิน3.78ล้านล้านบาท วาระแรก โดยนายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2569 ว่า ขอตั้งข้อสังเกตการจัดสรรงบฯของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของประชาชนฐานราก โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มคนตัวเล็ก แม้งบฯปีนี้จะมีวงเงินสูงถึงกว่า 3.78 ล้านล้านบาท แต่ยังเป็นงบขาดดุล และให้น้ำหนักกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจากส่วนบนของพีระมิดมากกว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากฐานล่างที่ยั่งยืนกว่า เพราะจัดงบฯแบบภาวะปกติ ทั้งที่ไทยยังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก เช่น ภาระหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น การส่งออกชะลอตัว ผลกระทบจากสงครามการค้าโลก และมาตรการทางภาษีของทรัมป์ แต่การใช้งบสะท้อนแนวคิดแบบ “แบ่งกันกิน” มากกว่าการจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหา โดยเฉพาะงบฯในกระทรวงหลักที่ไม่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงเกษตรฯที่จะได้รับงบกว่า 1.3 แสนล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอในแก้ปัญหาเรื้อรัง อาทิ หนี้สินเกษตรกร, ราคาผลผลิตตกต่ำ หรือน้ำท่วม, ภัยแล้ง ที่ได้รับงบประมาณเพียง 3,000-4,000ล้านบาทเท่านั้น ซ้ำเป็นมาตรการชั่วคราว จึงไม่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเกษตรที่แท้จริง
นายชัชวาล กล่าวต่อว่า ขณะที่งบกลางจำนวน 6.3 แสนล้านบาทในอำนาจใช้จ่ายของนายกฯก็ขาดรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เหตุใดรัฐบาลไม่กระจายงบก้อนนี้ให้กับกระทรวง หรือหน่วยงานที่มีภารกิจชัดเจน เพื่อสามารถติดตามผลได้ดีกว่าชี้ถึงความล้มเหลวในการทำนโยบายที่รัฐบาลเคยให้สัญญาไว้ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ,เงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้าที่ทำไม่ได้จริงอย่างที่พูด การบริหารแบบรวมศูนย์ทำให้งบประมาณไม่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ จึงเสนอให้กระจายอำนาจ กระจายงบฯสู่ท้องถิ่น เช่น งบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาที่มีมูลค่าถึง3.5 แสนล้านบาท ควรมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลให้เท่าเทียม ไม่ใช่ปล่อยปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลมากถึง 50,000 อัตรา
“ผมกังวลต่อการโยกงบประมาณเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น งบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 1.57 แสนล้านที่จะถูกปรับเปลี่ยนเป้าหมายการใช้เงินอย่างเร่งรีบ ขาดแผนงานชัดเจน อาจเป็นช่องทางให้เกิด “โกงแบบ Fast Track” จึงขอเสนอ 7 แนวทางที่รัฐบาลต้องเร่งทำ คือ 1.)หยุดคอร์รัปชันเชิงนโยบาย 2.)ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก 3.)เพิ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4.)ฟื้นฟูภาคเกษตร 5.)กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 6.)ปฏิรูปการศึกษา และ7.)สร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างแท้จริง” นายชัชวาล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี