ศาลรุมถาม พยาบาลหนุ่ม ที่รับตัว ทักษิณ เข้ารพ.ราชทัณฑ์ ถึงกับสั่น ส่วนหมอเวร อ้าง ศักยภาพ รพ.ราชทัณฑ์ ไม่พอต้องส่งทักษิณไปรักษารพ.ตำรวจ นัดอีกครั้ง 8 ก.ค. เป็นพัศดี จนท.ราชทัณฑ์ที่เข้าเวรเฝ้าทักษิณ รพ.ตร.เข้าเบิกความ ศาลเข้มห้ามนำคำเบิกความเผยแพร่
วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายหลังศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุดของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกศาลพิพากษาจำคุกแต่ได้มีการส่งตัวนายทักษิณไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
โดยวันนี้ศาลไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องจำนวน 5 ปาก โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลของรพ.ราชทัณฑ์ซึ่งทำการตรวจรักษานายทักษิณ โดยพยานปากแรกคือ พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ประจำรพ ราชทัณฑ์ เบิกความสรุปว่า ได้รับมอบหมายให้ตรวจร่างกายนายทักษิณซึ่งเป็นผู้ต้องขังรับใหม่ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในเวลาประมาณ 11.00 น. และพบว่านายทักษิณมีประวัติการรักษาจากต่างประเทศหลายโรค และนายทักษิณแจ้งว่ามีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียจากการเดินขึ้นบันไดมา เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว หัวใจปกติ แต่แขนขาอ่อนแรง และที่อนุญาตให้ส่งตัวนายทักษิณไปยังโรงพยาบาลภายนอกเพราะทางพยาบาลแจ้งอาการแล้วเห็นว่าทางพยาบาลอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากกว่า และโรคที่เป็นรพ.ราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือและแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงไม่มียาที่ผู้ป่วยต้องใช้เห็นควรให้ส่งไปรักษานอกเรือนจำ
ส่วนกรณีใบส่งตัวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยใบนำส่งตัวจะเขียนกรณีที่รพ.ราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพรักษาแต่จะให้ส่งตัวเวลาราชการและไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นวันไหน และไม่ได้เป็นผู้บอกว่าจะต้องส่งตัวไปรพ.ตำรวจเพราะไม่ทราบว่าโรงพยาบาลไหนจะสามารถรับตัวผู้ป่วยได้ และหลักการส่งตัวยึดมาตั้งแต่ปี 2563 และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก
ต่อมา นพ.นทพร ปิยะสิน แพทย์เวรประจำวัน รพ.ราชทัณฑ์ เบิกความว่าตนเป็นแพทย์นอกเวลาและไม่ได้ประจำอยู่ที่รพ.ราชทัณฑ์ ช่วงวันที่ 22 ส.ค. ตนเข้าเวร 16.30 น. - 08.30 น.ของอีกวัน ปรากฏว่าวันดังกล่าวมีพยาบาลโทรมาแจ้งอาการของนายทักษิณ จึงให้ความเห็นไปว่า เมื่อวินิจฉัยประกอบกับประวัติการรักษาจากต่างประเทศแล้ว มีอาการจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ จึงเห็นควรปรึกษาแพทย์คนแรกที่ตรวจร่างกายนายทักษิณเมื่อตอนที่รับตัวเข้าเรือนจำ และส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลภายนอกหากไม่ได้นำส่งจะมีความเสี่ยงกับตัวผู้ป่วย อีกทั้งรพ.ราชทัณฑ์มีศักยภาพไม่พอ บวกกับเงื่อนไขของเวลา โดยพิจารณาความเห็นจากพยาบาลที่โทรเข้ามาเพียงอย่างเดียว เพราะว่าไม่ทราบว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพอยู่บริเวณไหน ยืนยันว่าตนมีหน้าที่ให้ความเห็นทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนการส่งตัวไปรักษาภายนอกเป็นหน้าที่ของเรือนจำ
ด้านนายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยานปากที่ 3 พยาบาลวิชาชีพประจำโรงรพ.ศรีสังวาลย์ จ.สุโขทัย เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นพยาบาลที่สถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทำหน้าที่ตั้งแต่ 8.00-16.30 น. และอยู่เวรต่อเนื่องจนถึงเวลา 08.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ต้องขังภายในสถานพยาบาลรวมถึงนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังใหม่ในกลุ่ม 608 และนายทักษิณได้ถูกควบคุมตัวที่ห้องกักโรค ซึ่งแพทย์สั่งให้ติดตามอาการทุก 4 ชั่วโมง ในตอนนั้นนายทักษิณอยู่ในห้องเพียงคนเดียวและได้เปลี่ยนชุดเป็นชุดนักโทษแล้ว ต่อมาเวลา 22.00 น. นายทักษิณแจ้งว่ามีอาการแน่นหน้าอก จึงแจ้งไปยังแพทย์เวรรพ.ราชทัณฑ์ ที่มีความเห็นว่าเห็นควรส่งไปโรงพยาบาลภายนอกเนื่องจากทราบว่าศักยภาพรพ.ราชทัณฑ์ไม่พอ และโทรไปหาพญ.รวมทิพย์ เพื่อขออนุญาตใช้ใบส่งตัว ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลา 2 ชั่วโมงและแจ้งพัศดีเวรตลอด ระหว่างที่รอส่งตัวได้แนะนำวิธีปฏิบัติตัวให้นายทักษิณทราบ และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ประคองนายทักษิณไปขึ้นรถพยาบาลของเรือนจำโดยใช้เวลา 20 นาที เมื่อถึงรพ.ตำรวจมีเจ้าหน้าที่มารับ
ซึ่งตนไม่ทราบว่านำนายทักษิณไปยังห้องฉุกเฉินหรือไม่ เพราะตนไปเปิดเวชระเบียนการรักษา และได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ให้นำเวชระเบียนขึ้นไปให้พยาบาลที่ชั้น 14 จึงทราบว่า นายทักษิณอยู่ที่นั่นแล้วแต่ไม่ทราบว่าอยู่ห้องไหนแต่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าอยู่ และทั้งนี้จากประสบการณ์ทำงานถ้าเป็นโรคเฉพาะทางที่ราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพในการรักษาจะส่งตัวออกไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก ส่วนที่ไม่ส่งไปยังรพ.ราชทัณฑ์แม้จะห่างกันไม่มากเกรงว่าหากไปส่งจะทำให้เสียเวลามากขึ้นจากการเตรียม อุปกรณ์และรถไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง อีกทั้งนายทักษิณไม่มียารักษาโรคประจำตัวติดตัวเนื่องจากญาติยังไม่ส่งเข้ามาให้ แม้จะรพ.ราชทัณฑ์จะมียารักษาแต่ก็เป็นคนละชนิดกับที่ผู้ป่วยใช้รักษา ส่วนอาการจะกำเริบแค่ไหนอยู่ที่ผู้ป่วยควบคุมการกินยาได้ตรงเวลาหรือเปล่า อย่างไรก็ตามตนปรึกษาแพทย์เวร แล้วและให้ความเห็นว่าควรส่งตัวไปรักษาภายนอกเช่นรพ.ตำรวจซึ่งปกติจะส่งตัวผู้ต้องขังไปที่นี่บ่อยเนื่องจากได้ทำ MOU ไว้
ผู้สือข่าวรายงานว่า ขณะที่ธัญพิสิษฐ์ เบิกความเมื่อศาลจี้คำถาม มากๆ ถึงกับมีอาการมือไม้สั่น น้ำเสียงสั่นเครือ
ส่วนพยานอีก 2 ปาก เป็นพยาบาลที่ได้รับการติดต่อให้เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจร่างกายแต่สุดท้ายแพทย์ไม่ได้เรียกตัวเข้าไปช่วยเหลือแต่อย่างใด โดยทั้งคู่อยู่ภายนอกห้องตรวจ
ต่อมาศาลได้อ่านกระบวนพิจารณาว่าวันนี้นัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ และทนายจำเลย มาศาล ส่วนจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลไม่มาฟังการพิจารณา ศาลไต่สวนพยานได้ 5 ปาก ให้เลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 9.00น. ตามที่นัดไว้
อนึ่ง มีการนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานซึ่งศาลไต่สวนในนัดก่อนออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลักษณะคำต่อคำผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ซึ่งอาจทำให้พยานบุคคลที่จะมาเบิกความในลำดับถัดไปทราบข้อเท็จจริงที่พยานคนก่อนได้เบิกความไว้ และอาจทำให้ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงอาจมีการนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวไปวิเคราะห์หรือให้ความเห็นในทางคดีจนก่อให้เกิดความสับสนแก่สังคมได้ ประกอบกับข้อมูลด้านสุขภาพของจำเลยเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ศาลให้คู่ความและผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีงดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน และศาลได้นัดเพิ่มในวันที่ 18 ก.ค. จะเป็นแพทย์ใหญ่และแพทย์เจ้าของไข้จากโรงพยาบาลตำรวจ 2 คน ได้แก่ พล.ต.ต.นพ.ศุภฤกษ์ (สงวนนามสกุล) และ พล.ต.ท.นพ.สุรพล (สงวนนามสกุล) เข้ามาเบิกความ และวันที่ 25 ก.ค.เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคของจำเลย
ทั้งนี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยื่นคำชี้แจง 307 แผ่น แพทยสภาส่งมติที่ประชุม 113 หน้า และผลตรวจสอบแพทย์ 1,190 หน้า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอห่งชาติ(กสม.)20 แผ่น จำเลยยื่นคำชี้แจง 55 แผน ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพยื่นเอกสารเบิกค่าเวร 77 แผ่น
ทนายจำเลยส่งประวัติการรักษาไว้พิจารณา และแพทย์รพ.ตำรวจส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และค่ารักษาพยาบาลของจำเลยไว้พิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 9.00น. ตามที่นัดไว้ ศาลนัดไต่สวน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ทำหน้าที่ควบคุมนายทักษิณที่รพ.ตำรวจ ส่วนในวันที่ 15 ก.ค.เป็นผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และอดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ อดีตผู้อำนวยการรพ.ราชทัณฑ์
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ เปิดเผยว่าของดให้รายละเอียดเกี่ยวกับการไต่สวนพยาน เนื่องจากศาลกำชับไว้ว่าคำเบิกความ ข้อเท็จจริงข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลสุขภาพของจำเลย ขอให้งดเว้นเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยการนัดไต่สวนพยานทั้ง 5 ปากในวันนี้เรียบร้อยหมดแล้ว มีการไต่สวนประกอบเอกสารหลายส่วน และมีหมายเรียกพยานเพิ่มอีก 2 ปากในวันที่ 25 ก.ค.นอกจากนี้ยังจะมีการนัดไต่สวนพยานในวันที่ 8, 15, 18 และ 25 ก.ค.68 ด้วย
นายวิญญัติ ยอมรับว่าตนเองเป็นคนยื่นให้ศาลออกข้อกำหนดนี้ เนื่องจากครั้งที่แล้วมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และบุคคลต่าง ๆ นำข้อมูลการไต่สวนของศาลไปวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นในที่ต่าง ๆ ทั้งที่คดียังอยู่ระหว่างการไต่สวน เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเอาไปวิเคราะห์ให้เกิดความสับสน ศาลจึงมีคำสั่งให้งดเว้นการนำเสนอในลักษณะนี้
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยพรรคไทย ระบุว่า ในภาพรวมของการไต่สวนวันนี้ มี 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นแรกคือ ทำให้ได้เห็นความเชื่อมโยงในการดำเนินการส่งตัวนายทักษิณว่า เป็นการดำเนินการของพยาบาลเวรเป็นหลัก ที่ประสานงาน เลือกรพ.ตำรวจ โดยที่แพทย์เวรเองก็ไม่ทราบเรื่อง
ประเด็นที่ 2 คือเรื่องระยะเวลาในการส่งตัวนายทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงศาลก็มีคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ส่งไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ใกล้กว่าเพียงแค่ 200 เมตรหากมีอันตรายใดๆ ระหว่างการทรงตัวจะทำอย่างไร
และประเด็นที่ 3 ศาลได้ถามว่า ทราบหรือไม่ว่านักโทษรายนี้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี หากปล่อยเวลา 2 ชั่วโมงนี้ไว้ ทั้งที่มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ แล้วเป็นอะไรขึ้นมา จะเป็นอย่างไร
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ได้ย้ำว่า ห้องฉุกเฉินของรพ.ตำรวจนั้นอยู่คนละตึกกับชั้น 14 ที่นายทักษิณรักษาตัว ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นการส่งตัวฉุกเฉินจริงๆ ก็ควรต้องส่งไปที่ห้องฉุกเฉินก่อน หากตรวจแล้วมีความเห็นว่าไม่ฉุกเฉิน ก็สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกแล้วส่งกลับเรือนจำ แต่หากฉุกเฉินอาการหนักจริง การนำตัวไปรักษาชั้น 14 ก็ไม่เหมาะสมอยู่ดี เพราะต้องส่งไปที่ส่วนเฉพาะทางด้านหัวใจ หรือห้องไอซียู ซีซียู เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นการตั้งข้อสังเกตในฐานะแพทย์คนหนึ่ง และคิดว่าประชาชน รวมถึงแพทย์ทั่วไปก็น่าจะเห็นตรงกัน.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี