จับสินค้ากัญชาเถื่อน
‘สมศักดิ์’สั่งสสจ.-อย.ปูพรม
ย้ำใช้แค่ทางการแพทย์เท่านั้น
“สมศักดิ์” สั่งเข้ม “สสจ.-อย.” ปูพรมกวาดล้างสินค้า “กัญชาเถื่อน”ทั่วปท. ย้ำใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงกรณีเด็กหญิง 2 ขวบ 6 เดือน กินเยลลีหมีผสมกัญชาจนต้องนำส่งโรงพยาบาล ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ห่วงใยมาโดยตลอด เพราะมีข่าวเกิดขึ้นมากมายในการเข้าถึงกัญชาของเยาวชน และส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย หลังทราบข่าวนี้ ผมได้กำชับ สั่งการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้ดำเนินการกวาดล้างอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ สธ.มีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชาที่นำมาทำเป็นอาหาร ขนม เครื่องดื่มหรืออื่นๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชาเกินกว่ากฎหมายกำหนดสามารถจับ – ปรับ และนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไปได้ทันที สำหรับโทษของอาหารที่ใส่กัญชา ถ้าไม่ขออนุญาต ไม่แสดงฉลาก มีโทษตั้งแต่ปรับไม่เกิน3หมื่นบาท ไปจนถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ถ้าสืบต่อไปว่าผลิต หรือนำเข้า ไม่ขออนุญาต หรือ พบว่ามีสารทีเอชซี (THC) เกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 2ปีหรือปรับไม่เกิน2หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวอีกว่า นอกจากผลิตภัณฑ์กัญชา อาหาร ขนมต่างๆ แล้ว เรื่องการตรวจสอบร้านค้าที่ขายกัญชา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในทุกสัปดาห์ โดยร้านค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต จะถูกดำเนินคดีร่วมกับพนักงานตำรวจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่แม้ได้รับอนุญาต แต่ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไข จะถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ถ้าหากใครมีข้อสงสัย หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย.1556 สสจ.ทั่วประเทศ หรือกรมการแพทย์แผนไทยฯ
“วันนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ช่วยกันในการแจ้งเบาะแส เพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป สิ่งที่ผมห่วงใยมาโดยตลอดคือ การที่เด็ก เยาวชน เข้าถึงกัญชาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอยกข้อมูลจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำรวจผลกระทบแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ จากการเก็บข้อมูลสำรวจ เฉพาะในปี 2565 การใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 18-19 ปี สูงขึ้น 10 เท่า จากร้อยละ 1-2 ในปี 2563 เป็น ร้อยละ 9.7 ดังนั้น เราต้องเดินหน้าทำกัญชาให้ใช้เฉพะทางการแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อลดผลกระทบต่อเด็ก เยาวชนและสังคม” นายสมศักดิ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี