"ธนกร"ย้ำชัด 3 ปม ไม่นิรโทษฯคดีฆ่าคนตาย-โกง-ม.112 จี้ ผู้นำจิตวิญญาณเลิกพฤติกรรมยุยงเบื้องหลัง ชี้ คกก.กลั่นกรองต้องอิสระ เลี่ยงตกเป็นเครื่องมือการเมือง
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรค และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ถึงร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... ว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มได้นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมหลายครั้ง ทำให้ประชาชนที่ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดีจำนวนมากทั้งผิด พ.ร.บ.การชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรา 112 ตนจึงมองว่า การจะนิรโทษกรรมต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ภายใต้กรอบเงื่อนไขที่ชัดเจน ไม่ประนีประนอม ต้องยึดหลักนิติธรรม ความยุติธรรม และความมั่นคงของรัฐ ที่สำคัญประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เพราะเป็นความมั่นคงของรัฐ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้ว ว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำผิดมาตรา 112
"ถ้านิรโทษกรรมให้คนผิดมาตรา 112 จะยิ่งทำให้คนไทยทั้งประเทศไม่สบายใจ จะยิ่งมีการออกมาชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยอีกอย่างแน่นอน จะสร้างความขัดแย้งตามมา ซึ่งส่วนตัวเห็นใจน้องๆเยาวชนมาก หลายคนถูกดำเนินคดีกว่า 2,000 คดี สิ่งที่สำคัญคืออยากขอร้องผู้นำจิตวิญญาณคนที่อยู่เบื้องหลังน้องๆ เหล่านี้ ให้เลิกพฤติกรรมยุยงส่งเสริมเยาวชนเสียที ยังทำให้เยาวชนทำผิดซ้ำซาก เข้าออกคุกและบางคนบินออกไปต่างประเทศ ขอให้เลิกเสียทีเอาเวลาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติจะดีกว่า"
นอกจากนี้ นายธนกร ระบุว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมคดีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เพราะทุกชีวิตมีค่าต้องให้การเยียวยากับคนในครอบครัวผู้สูญเสียและไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริตด้วยเพราะการทุจริตคอรัปชั่นเกาะกินสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่คนมักจะโทษแต่นักการเมืองว่าทุจริต ซึ่งข้าราชการและนักการเมืองทั้งดีและไม่ดีก็มีเยอะ ทั้งนี้สังคมอย่าคาดหวังแค่เพียงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เท่านั้น ซึ่งวันนี้ถือว่าคดีทุจริตคอร์รัปชั่นลดลงมากซึ่งยังคงต้องเร่งพิจารณาสรรหาบุคคลเป็นคณะกรรมการให้ครบทั้ง 9 คน เนื่องจากวันนี้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.แค่ 7 คนเท่านั้น หากมีการนิรโทษกรรมให้คดีทางการเมืองแล้วจะต้องมีการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำด้วยไม่ใช่ได้รับการนิรโทษกรรมแล้วและกลับมาทำผิดซ้ำอีกไม่ได้
โดยทั้ง 3 ประเด็นหลักที่ได้เสนอมา ย้ำว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 คดีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและคดีทุจริต สิ่งสำคัญคือคณะกรรมการที่จะมาพิจารณากลั่นกรองคดีต้องมีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ควรจะต้องประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และประชาชนมาเป็นคณะกรรมการเพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อป้องกันการตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ จึงต้องมีความยุติธรรมจริงๆ
"การสร้างสังคมสันติสุขปรองดอง ต้องไม่ใช่แค่การประนีประนอม แต่ต้องมีความยุติธรรม มีความกล้าหาญและกระบวนการที่โปร่งใสเพราะเราไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้แต่เราสามารถออกแบบอนาคตให้ดีขึ้นได้" นายธนกร ระบุ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี