"เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง"จัดเน้นๆอีกดอก สอนมวย รมต.กระทรวงวัฒนธรรม ชี้ความแตกต่างระหว่าง Soft Power กับ Marketing ก่อนดำเนินนโยบายและกิจกรรมทำสับสน เป็นที่น่าอับอายกับอารยะประเทศ
เมื่อวันที่ 13 กรกรฏาคม 2568 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์แสดงความคิดเห็นว่า รมต. กระทรวงวัฒนธรรม แพทองธาร ชินวัตร จำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Soft Power กับ Marketing มิฉะนั้นจะดำเนินนโยบายและกิจกรรมที่สับสน เป็นที่น่าอับอายกับอารยะประเทศ
จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมความคิดของคนในกระทรวงวัฒนธรรมให้เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมที่ผิดเพี้ยน ว่าเป็นเรื่องของการขายสินค้าและบริการเพื่อได้ผลตอบแทนเงินตรา ในระยะสั้น ซึ่งน่าจะเป็นงานของกระทรวงพาณิชย์
ยิ่งกว่านั้นจะทำให้ เยาวชนและนักศึกษาเข้าใจสับสน เหมือนกับคุณแพทองธาร
ความแตกต่างระหว่างซอฟพาวเวอร์กับการตลาดเพื่อขายสินค้า
"ซอฟต์พาวเวอร์" (Soft Power) และ "การตลาดเพื่อขายสินค้า" (Product Marketing) เป็นแนวคิดที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในด้านวัตถุประสงค์ วิธีการ และผลลัพธ์ที่คาดหวัง แม้ว่าทั้งสองอย่างจะสามารถนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าหรือความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แต่ก็มีจุดเน้นที่ต่างกันอย่างมาก
ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)
ซอฟต์พาวเวอร์ หมายถึง ความสามารถในการดึงดูดหรือสร้างการมีส่วนร่วม โดยปราศจากการข่มขู่หรือบีบบังคับ ผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรม ค่านิยม นโยบาย หรือวิถีชีวิต เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีอิทธิพลเหนือความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้อื่น โดยที่ผู้ถูกโน้มน้าวรู้สึกว่าตนเอง "ต้องการ" หรือ "ยอมรับ" สิ่งนั้นด้วยความสมัครใจ
ลักษณะสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์:
วัตถุประสงค์หลัก: สร้างอิทธิพล ความน่าดึงดูด ความชื่นชม และความเข้าใจในระยะยาว โดยมักไม่มุ่งเน้นการขายสินค้าโดยตรงในทันที
วิธีการ:
วัฒนธรรม: การที่คนต่างชาติได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน มาทำงาน มาซึมซับวัฒนธรรม เข้าใจ จนชื่นชอบวิถีการดำรงชีวิต กินอยู่หลับนอนของไทย
การเผยแพร่วัฒนธรรม โดยไม่บังคับหรือบอกให้คุณรู้ว่านี่คือซอฟพาวเวอร์ เช่น ประเพณีของไทย อาหารไทย ภาษาไทย ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ แฟชั่น ฯลฯ
ค่านิยมและวิถีชีวิต: การนำเสนอค่านิยมที่น่าสนใจ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นมิตร ความโอบอ้อมอารี การยิ้มต้อนรับและ การใช้ชีวิตที่น่าดึงดูด
นโยบายต่างประเทศ: การดำเนินนโยบายที่ได้รับการยอมรับและมีคุณธรรม
การสร้างความไว้วางใจ: สร้างความน่าเชื่อถือ ความเป็นของแท้ และความสอดคล้องระหว่างการกระทำและการสื่อสาร
ผลลัพธ์: สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ความผูกพันทางอารมณ์ ความเข้าใจยอมรับ และความนิยมในวงกว้าง ซึ่งอาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองในระยะยาว (เช่น การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การลงทุน) โดยเป็นผลพลอยได้จากการสร้างความชื่นชอบและอิทธิพล
การตลาดเพื่อขายสินค้า (Product Marketing)
การตลาดเพื่อขายสินค้า คือ กระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและทำให้ประสบความสำเร็จตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นที่การนำเสนอประโยชน์ คุณค่า และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นยอดขาย การรับรู้ และการมีส่วนร่วม
ลักษณะสำคัญของการตลาดเพื่อขายสินค้า:
วัตถุประสงค์หลัก: เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์โดยตรงในระยะสั้นถึงปานกลาง และสร้างการรับรู้ในตัวผลิตภัณฑ์
วิธีการ:
การวิจัยตลาด: ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า คู่แข่ง และตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ในตลาด
การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Positioning): สร้างข้อความและเรื่องราวที่ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์คืออะไร มีคุณค่าอย่างไร และแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร
การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ (Launch): วางแผนและดำเนินการกิจกรรมเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์สู่ตลาด
การโปรโมทและการสื่อสาร: ใช้ช่องทางการตลาดต่างๆ (โฆษณา, PR, โซเชียลมีเดีย, การขายตรง) เพื่อสื่อสารคุณสมบัติ ประโยชน์ และคุณค่าของผลิตภัณฑ์
การกระตุ้นยอดขาย: ออกแคมเปญโปรโมชั่น ส่วนลด หรือข้อเสนอพิเศษเพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อ
การติดตามและปรับปรุง: วิเคราะห์ข้อมูลยอดขายและผลตอบรับ เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดและตัวผลิตภัณฑ์
ผลลัพธ์: ยอดขายที่เพิ่มขึ้น การรับรู้ในตัวผลิตภัณฑ์ การขยายส่วนแบ่งตลาด และการสร้างกำไร
ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงวัฒนธรรม เธอจะต้องเข้าใจวัฒนธรรมว่าคือวิถีการดำรงชีวิตของไทย และชื่นชอบในวัฒนธรรมไทย
ใช้ปัญญาที่จะให้คนไทย เกิดความเข้าใจ รักและหวงแหน อยากเผยแพร่ความดีงามของเรา
ใช้ปัญญา มีวิธีที่ทำให้คนต่างชาติ พึงพอใจ ชื่นชอบรักและเข้าใจคนไทย วิถีการดำรงชีวิตอย่างไทย จะนำมาซึ่งความผูกพันและเกิดผลดีในระยะยาวทั้งทางเศรษฐกิจความมั่นคง
เสียดายเงินภาษีของประชาชนมากกว่า 5,000 ล้านบาท ที่นำไปใช้ กับการจัดอีเวนท์ การตลาด และความหลงผิดจะให้ทุกครอบครัวมีหนึ่งซอฟพาวเวอร์ แค่นี้ก็ไม่เข้าใจ Soft Power และ วัฒนธรรมไทยแล้วครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี