กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นกระทรวงภาคสังคมในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน เป็นองค์การและกลไกด้านสังคมในการบรรลุนโยบายของรัฐบาลที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ
มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ให้มีการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญ โดยบูรณาการแนวคิด ทิศทาง และการบริหารให้เป็นระบบจากภาคีทุกภาคส่วนและทุกระดับ ซึ่งหากนับจากวันที่ 3 ต.ค. 2545 ที่ พม. ก่อตั้งขึ้นก็เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” มีโอกาสได้พูดคุยกับ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในหลายเรื่องที่เป็นประเด็นท้าทายและสังคมคาดหวังบทบาทของ พม. ในการเข้าไปดูแล
- ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่ “สังคมสูงวัย” จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในขณะที่เด็กเกิดใหม่ลดลง “เบี้ยยังชีพ” เป็นหนึ่งในความคาดหวังที่หลายคนอยากเห็นการปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และให้แบบถ้วนหน้า ท่านมองเรื่องนี้อย่างไร? : ปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ที่ 13.5 ล้านราย ปลายปี 2568 จะเพิ่มเป็น 14 ล้านราย จะเห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นทุกปี ที่ผ่านมามีจำนวนคนเกิดใหม่ในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2514-2518 เกิดปีละ 1 ล้านคน ติดต่อกัน 5 ปี แปลว่า ปี2574 -2578 คนเหล่านี้ก็จะอายุครบ 60 ปี
ดังนั้นตัวเลขของผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่มีวันลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ อายุมากขึ้นการให้เบี้ยผู้สูงอายุ จะเพิ่มทั้งจำนวนคนให้ และจำนวนปริมาณการให้ เพราะปัจจุบันการให้เบี้ยเป็นลักษณะอัตราก้าวหน้า 600 700 800 ตามลำดับ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเท่านี้แล้วให้ไม่ถ้วนหน้า จาก 10 ล้านคนเศษ ปีนี้เราให้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็มีคนเรียกร้องอยากให้จ่ายแบบถ้วนหน้า เท่ากันไม่ตกหล่น เท่ากันจ่ายเท่ากันหมดเรตเดียว เท่ากันทุกคนตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
คำถามอยู่ที่ว่าเรามีเงินพอที่จะให้ไหม? อย่างเช่น เงินดิจิทัลวอลเลต ที่รัฐบาลให้อยู่ตอนนี้ ใช้งบประมาณกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายแค่ครั้งเดียว ใช้ครั้งเดียวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น กู้บ้าน ใช้หนี้ แต่ถ้าเป็นงบของผู้สูงอายุ ที่ไม่ใช่ให้ครั้งเดียว แต่ต้องให้ทุกปี เรามีงบประมาณพอหรือไม่? อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้ากันกันก่อนว่า วันนี้รายได้ของรัฐบาล มาจากแหล่งเดียวเลย คือ ภาษี
“ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรราว 66 ล้านราย จากจำนวนดังกล่าว มีการขึ้นทะเบียนจ่ายภาษี เมื่อปี 2565 กับกรมสรรพกร อยู่ที่ 11 ล้านราย ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมีจำนวนผู้เสียภาษีอยู่ที่ 4.4 ล้านราย เท่านั้น ทุกคนที่จ่ายภาษี VAT หมด แต่มีคนจ่ายแค่ 4.4 ล้าน มีคนใช้ 13 ล้าน ที่จะต้องใช้เงินทั้งหมดนี้ เราไม่อยากเหมือนบางประเทศ บางเมืองในยุโรป เค้าเรียกว่า “ล้มละลาย” ภาษี รายได้ที่เข้ามา ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ที่ต้องจ่าย ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นถ้วนหน้า หรือ แบบคัดกรอง จะไม่มีใครได้ซักคนถ้าระบบนี้ มันหายไป“
ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เงินที่เรามีอยู่ เราให้เบี้ยเป็นขั้นบันได 600 700 800 1,000 แล้วก็ไม่ถ้วนหน้า ตัวเลขนี้ ในอีก 5 ปีจากนี้ไป 2573 ใช้เงินประมาณ 1.1 หมื่นล้าน เราจะเห็นว่าตัวเลขนี้ เพิ่มขึ้นทุกปีๆ ขณะที่ผู้สูงอายุของประเทศไทย จะเริ่มต้นที่ 60 ปี ถ้าเทียบกับประเทศหลายๆ ประเทศในโลกนี้ เริ่มต้นสูงอายุกันที่ราว 63 บางประเทศเริ่มที่ 65 บางประเทศในยุโรป 67 ด้วยซ้ำไป ดังนั้นการให้เบี้ยผู้สูงอายุได้ ซึ่งเราอยากให้ อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เราให้ไปอย่างนี้ เราต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในการให้ด้วย
มัน Fix (กำหนด) อยู่ที่ Rate (อัตราเงินที่จ่าย) แต่จำนวนคนเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น 1,000 บาทถ้วนหน้า เริ่มที่ 1.45 แสนล้านบาท ในปี 2569 ใช้งบราว 1.9 แสนล้านบาท บวกกับประเด็นที่ว่า บ้านเรา ต้องขอบคุณระบบสาธารณะสุข ที่ทำให้คนไทย อายุยืน ก็แปลว่า จากนี้ไปอีกไม่เกิน 10 ปี จำนวนผู้สูงอายุ จะแตก 20 ล้านราย โดยสถานการณ์โลก เอเชียและยุโรป เรียกได้ว่า เป็นบ้านของผู้สูงอายุ โดยประเทศจีนมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่ง TOP 10 อยู่ในเอเชียถึง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย
ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 17 มีผู้สูงอายุ 20.69% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 28% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ใช้เวลา 45 ปี 69 ปี และ 115 ปี ในการเปลี่ยนจาก Aging society (สังคมสูงวัย , มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด) สู่ Aged society (สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ , มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อย 20 ของประชากรทั้งหมด) สิงคโปร์กับจีน ใช้เวลา 25 ปี
ในขณะที่ไทยใช้เวลาแค่เพียง 19 ปีเท่านั้น และจะกลายเป็น Super aged society (สังคมสูงวัยระดับสุดยอด , มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด) ภายในไม่เกิน 10 ปี ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เข้าสู่ สังคมสูงอายุแบบสุดยอด ขณะที่ไทยมีผู้สูงอายุอยู่ราว 27% สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบแล้ว ที่น่ากลัวคืออัตราการเดินทาง จากระดับ 1 ไป 2 ไป 3 เราเร็วกว่าญี่ปุ่น ดังนั้นอีกไม่เกิน 10 ปี เราจะกลายเป็น สังคมสูงอายุแบบสุดยอด ไม่ต้องถามว่าจะป้องกันอย่างไร มันเกิดขึ้นแน่นอน วันนี้เรายัง Classify (กำหนด) ที่ 60 ปี มันก็จะทำให้เป็นแน่นอน
“ถ้าพูดแบบนี้ ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องหางานทำ คุณจะต้อง Active (กระฉับกระเฉง) อยู่ตลอด ถ้าบางคนบอกว่าฉันแก่แล้วฉันไม่ทำอะไร รับประกันได้อีกไม่นานจะติดเตียงและกลายเป็นภาระด้านสาธารณะสุข วันนี้เราต้องการให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมเพื่อที่จะไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ไม่กลายเป็นภาระทางด้านงบประมาณ ตอนนี้ เราทำเรื่องขอเข้าไป ครม.กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาอยู่ และขอความเห็นจากหลายหน่วยงาน คือเห็นชอบในหลักการ ว่าจะขึ้นให้นะ ขึ้นให้ในอัตราถ้วนหน้า แต่ตอนนี้จะเอาเงินจากที่ไหน? งบประมาณจะพอหรือไม่?”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวง พม.มีการดูแลคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าประชากรทั่วไป เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งกระทรวง พม. ไม่ต่างอะไรกับหลายๆกระทรวงในเรื่องของงบประมาณที่จำกัด งบประมาณกว่า 70% ใช้ในการบุคลากร ยังไม่รวม อพพม. ซึ่งไม่มีงบประมาณ ทำงานฟรี พวก อาสาสมัคร ทั้งหลาย ไม่มีเงินเดือน งบประมาณของเราแค่บุคลากร เบี้ยดูแลสถานที่ ศูนย์อะไร มีค่าใช้จ่ายในการบริหารการจัดการ ฯลฯ ซึ่งไม่สัมพันธ์ต่องบประมาณที่ได้
สิ่งที่ผมพยายามทำ ด้วยงบประมาณที่เรามี เราจะทำอย่างไรให้ข้าราชการคนหนึ่งคน ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การมีระบบฐานข้อมูล ระบบไอทีที่รวดเร็วและแม่นยำเชื่อมต่อ จะทำให้เจ้าหน้าที่ พม. ทำงานได้รวดเร็ว และครอบคลุมทุกพื้นที่ได้มากขึ้น กระทรวง พม. มีการสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี รายละ 600 บาทต่อเดือน การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน และการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ปัจจุบันกระทรวง พม.จะขอเป็นถ้วนหน้า ตอนนี้ยังไม่ได้ ตั้งแต่ 0-6 ขวบ
เบี้ยเด็กเล็ก ผมพยายามจะขอตั้งแต่ในครรภ์ ( 5 เดือน – 6 ขวบ ) ดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ก็ยังไม่ได้งบประมาณ ในการดูแลตรงนี้ งบเด็ก 1 หมื่นล้านต่อปี จ่ายทุกเดือน จ่ายเดือนละ 2 ล้านกว่าบาท ทุกปี สำนักงบไม่ได้ให้ตัวเลขมาพอดี จำนวนเด็ก ในแต่ละปีเปลี่ยนทุกเดือน เพราะพอครบวันเกิด เลย 6 ขวบ ก็ไม่ได้แล้ว มีทั้งเกิดใหม่ และออกนอกโซน ตัวเลขจะขึ้นๆ ลงๆ ดังนั้นสำนักงบจะให้เงินมาจำนวนหนึ่งก่อน แล้ว กระทรวงพม.ค่อยขอเพิ่ม ปลายปีงบประมาณขอเพิ่ม เพราะจะมีตัวเลขที่แม่นยำขึ้น
- เห็นท่านจริงจังกับปัญหา “ขอทาน” อย่างมากไม่ว่าคนไทยหรือต่างด้าว ออกมารณรงค์ “หยุดให้เงินขอทาน” ก็หลายครั้ง : ก่อนอื่นต้องบอกว่า ขอทาน ถ้าเราสังเกตจะอยู่หัวเมืองใหญ่ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เชียงใหม่ “สุพรรณฯ บ้านผม ไม่มีขอทาน ถามว่าทำไมไม่มี? ก็เพราะไม่มีคนให้” ปัญหาเรื่องขอทาน หลักๆ ตราบใดที่มีคนให้ ก็จะมีคนขอ แล้วทำไมไม่จับ คนที่มีอำนาจจับคือตำรวจ จับแล้วปรับ ปรับแล้วปล่อย พอจับแล้วจะต้องส่งตัวมาให้กับ พม. เพื่อเชิญตัว ไปเข้าสู่คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
ปัญหาอยู่ที่ เจ้าตัวจะต้องเซ็นยินยอมก่อน ถ้าไม่เซ็น ถ้าไปบังคับเขาก็จะกลายเป็นอุ้มหาย ก็ต้องปล่อยเขาไป มีไปฝึกฝีมือ แรงงาน สร้างอาชีพ แต่ไม่เอา อยู่เฉยๆ ได้สตางค์ ชอบอยู่แบบนี้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ต้องปล่อยไป ดังนั้นการจับขอทาน มันเป็นเพียงการย้ายที่ใหม่ ในการทำมาหากินขอทานเท่านั้น ไม่ได้จับหรือว่าทำให้หายไปจากระบบ วันนี้ พม. ได้ขอให้คณะกรรมการศึกษา เนื่องจากขอทานเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย จะเอาผิดคนให้ขอทานด้วย เพราะจะกำจัดอย่างไร ท้ายที่สุดเข้าก็กลับมาสู่ระบบเดิม
“ถ้าไม่เอาผิดคนให้ จะโดนดรามาก็เอา ตราบนั้นก็จะยังมีคนขอ แต่การร่างกฎหมายดังกล่าวขั้นตอนเยอะ คนพวกนี้ เป็นตัวถ่วงความเจริญของสังคม เป็นคนที่เอาเปรียบคนทำงาน ขอทานเป็นคนที่ทำให้ตัวเองดูเหมือนน่าสงสาร แต่เป็นคนที่เห็นแก่ตัว ขี้เกียจ และเห็นแก่ได้ที่สุด ผมถึงบอกว่า กำจัดอย่างไร มันไม่มีกฎหมายที่ว่าสามารถนำคนพวกนี้มาใช้แรงงานได้ ผมเชื่อว่าผมกวาดล้างขอทานหมดแน่นอน”
สำหรับขอทานต่างด้าว มีจำนวนน้อยกว่าคนไทย ขอทาน 1 ต.ค. 2557- 30 มิ.ย. 2568 มีจำนวนขอทานแล้ว 8,400 ราย เป็นคนไทยราว 5,500 ราย คิดเป็น 65% คนต่างด้าวราว 35% ซึ่งขอทานต่างด้าวจะแตกต่างจากคนไทย โดนจับได้จะส่งให้ตำรวจและส่งกลับ และจะมีขั้นตอนการสำรวจถึง “การค้ามนุษย์” ด้วยหรือไม่ แต่พอส่งกลับไปแล้วก็กลับเข้ามาใหม่ เนื่องจากไม่ผ่าน ตม. การไปจัดหาวิธีทำให้ขอทานหมดไป มันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ง่ายสุดแก้มันที่หัวเลย ถ้าไม่มีคนให้ ก็จะไม่เกิดขึ้น “อยากแนะนำคนให้ ถ้าอยากจะให้ควรนำเงินไปบริจาคโรงพยาบาลจะดีกว่า” เพราะโรงพยาบาลในประเทศไทยมีหลายที่ ที่ต้องการงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลรัฐ
- สายด่วน 1300 “ศูนย์พึ่งได้” เป็นอีกช่องทางที่หลายคนใช้แจ้งเหตุโดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว – ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ ทางกระทรวง พม. เตรียมความพร้อมอย่างไร? : ผมเริ่มมาตั้งแต่ปี 2567 ที่ผมได้เข้ามาทำงานซักพัก มาถึงวันนี้มีสถิติคนเข้ามา ประมาณ 1.8 แสนเคส ความรุนแรงในครอบครัว 5,000 เคส นอกนั้นเป็นปัญหาคนสูงอายุ คนพิการ เรื่องสิทธิ การขอความรู้ ก็จะโทรเข้ามาเยอะ แต่ที่สำคัญวันนี้ ประชาชนสามารถติดตามเรื่องที่ร้องเข้ามาได้ เมื่อก่อนเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่วันนี้ เราสามารถติดตามเรื่องได้
ที่สำคัญ ศูนย์ฯ ดังกล่าว เรารับคนพิการทางสายตา เข้ามาทำงาน เพราะคนตาบอดได้ยินดีกว่าคนตาปกติ “ คิดอะไรไม่ออก เจอปัญหา โทรมาที่ 1300 ได้ 24 ชั่วโมง ทุกจังหวัด” จะอยู่ที่จังหวัดใด ก็แล้วแต่ เราจะส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ไปหาท่านภายใน 60 นาที เพื่อไปบรรเทาสถานการณ์หน้างานก่อน ทั้งนี้ ประชาชนผู้ประสบปัญหาสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือมายังศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่านช่องทางในการร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และ Line OA ESS Help Me ปักหมุดหยุดเหตุ
รวมทั้งเดินเข้ามาติดต่อโดยตรงที่กระทรวง พม. ดังนั้น การจัดตั้ง ศรส. จะเป็นการเชื่อมโยงทุกหน่วยงานของกระทรวง พม. ภายใต้แนวคิดที่ตนมอบไว้ คือ พม. หนึ่งเดียว one stop service ไม่ว่าจะเป็นกรมที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. นั้น จะต้องทำงานในลักษณะ พม. หนึ่งเดียว ซึ่ง ศรส. จะเป็นการรวมศักยภาพของกระทรวง พม. ทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้การดูแลช่วยเหลือคุ้มครองพี่น้องประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ในปีงบประมาณ 2569 เรื่องใดที่ พม. ถือเป็นวาระเร่งด่วน? : ยังคงเป็น “นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ซึ่งเป็นนโยบายที่ว่า ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และ 5 มาตรการ ซึ่งประกอบด้วย 1.ทำให้คนวัยทำงานมีกำลังที่จะดูแลตนเอง ดูแลครอบครัวมีอาชีพที่มั่นคง มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เตรียมตัวที่จะแก่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน สุขภาพ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ ตามหลักจะต้องรวยก่อนแก่ ปัญหาที่มันเกิดขึ้นคือ แก่ก็ยังไม่รวย ตายก็ไม่รวย ดังนั้นต้องเตรียมตัวที่จะแก่ เสริมพลังวัยทำงาน
2.เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เราจะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ เราพยายามจะจัดให้ลดเพดาน จาก 3 ขวบ ลงมาเหลือ 3 เดือน เพราะกฎหมายให้คุณแม่ ลาคลอดได้ 98 วัน ดังนั้นจึงต้องเพิ่มคุณภาพให้กับเด็ก 3.สร้างพลังผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะมี 3 ระดับ 1 ติดสังคม ไปงาน ไปเที่ยว ระดับ 2 พอเริ่มเจ็บ จะไปไหนมาไหนไม่ได้ ก็จะติดบ้าน ยังพอเดินได้ แต่ไปไหนไม่สะดวก และระดับ 3 ติดเตียง เดินไม่ไหวแล้ว
“สิ่งที่เราต้องการ จะทำอย่างไร ให้ ระดับ 3 นี้สั้นที่สุด เพราะยิ่งนานยิ่งเป็นภาระให้กับบุคคลากรสาธารณสุข จำเป็นต้องเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การขยายโอกาสการทำงานในรูปแบบต่างๆ การดูแลสุขภาพทั้งทางกายภาพและจิตใจ การพัฒนาทักษะทั้ง Upskill - Reskill นำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
4.เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ ปัจจุบันมีคนพิการอยู่ประมาณ 2 ล้านกว่าคน เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ มีโครงการที่เราทำกับกระทรวงศึกษา และ 5 สร้างระบบนิเวศ (Eco-system) เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว การสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้คนทุกกลุ่ม ทุกสถานะ อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ท้ายทายที่สุด ซึ่งภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์นี้อาศัยทุกกระทรวง ครอบคลุมรัฐบาล มันทำไม่ง่าย แต่ตรงไหนที่เกี่ยวข้องกับ พม. ผมกำลังทำอยู่
- ผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปีในฐานะรัฐมนตรีว่าการ พม. ท่านมองการทำงานอย่างไร? : ผมก็ยังยืนยันว่า ผมไม่เก่งเรื่องสังคมสงเคราะห์ แต่ทุกนาทีที่ได้อยู่ดีใจมาก มันทำให้ผมเห็นคุณค่า หลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้ เช่น เรื่องขอทาน คำแรกที่ผมเข้ามาถามกระทรวงนี้ ทำไมขอทานเยอะจัง ทำไมพวกคุณไม่กำจัด เขาก็มาไล่ให้เราฟัง จะหิ้วเลยก็ไม่ได้ คือถ้ามีกฎหมายออกมาว่าให้ พม.มาจับขอทานไปเป็นแรงงาน ถ้าบังคับได้ ผมเอา แต่เราบังคับไม่ได้เลยทำอะไรไม่ได้ ราชการจะทำอะไรได้กฎหมายต้องให้อำนาจทำ ถ้ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้จะกลายเป็นการผิดฐาน 157
ผลงานที่ถือ เป็นผงงานชิ้นเอก “มาสเตอร์ พีซ” คือ 1. การตั้ง ศรส. ภายใต้กระทรวง พม.ที่มาพร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ประสบปัญหา 2.ศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเชิงรุก
และโครงการผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริบาล ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และให้ผู้สูงอายุได้อยู่อาศัยในถิ่นเดิม (Agent In Place) อีกทั้งเป็นการสร้างระบบกลไกการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติในระดับพื้นที่นักบริบาลพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ เราต้องการเปลี่ยนพลังจากผู้สูงอายุจากนั่งอยู่บ้านเฉยๆ มาเป็น Active โดยปีงบประมาณ 2568 ได้ขยายผลโครงการฯ ให้ครอบคลุม 76 จังหวัด 156 พื้นที่ ทำให้มีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวม 342 คน ซึ่งสามารถดูแลผู้สูงอายุได้เป็นจำนวนมากถึง 342,000 คน!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี