ลุ้นเฮือกสุดท้าย! ก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม “พิชัย”เผย“ทีมไทยแลนด์”ยื่นข้อเสนอสุดท้ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในการเจรจาภาษีกับสหรัฐ หวังไทยจะได้รับการปรับลดอัตราใกล้เคียงประเทศในภูมิภาคที่อัตรา20%‘ศิริกัญญา’คาดไฟนอล‘ภาษีทรัมป์’ไทยได้ไม่เกิน20%หลังปท.เอเชียเกาะกลุ่มกัน19-20% แนะเร่งเตือนเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้แล้ว รับเปิดเสรีให้สหรัฐเต็มที่ แตะเบรก‘ภูมิใจไทย’ยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปม.152’ภาษีทรัมป์ แนะเก็บใช้ยามจำเป็น เอาแค่ญัตติด่วนก็พอ
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ ระบุว่าวันนี้จะเป็นการยื่นข้อเสนอสุดท้ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯซึ่งจากการหารืออย่างเป็นทางการกับUSTR รวม 2 รอบแล้วนั้น สหรัฐฯได้รับทราบข้อเสนอของไทยไปกว่า 90%
ทั้งนี้ รมว.คลัง คาดหวังว่าไทยจะได้รับการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้า (Reciprocal Tariff) จาก 36% ลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาคที่อัตรา 20% ซึ่งประเทศในภูมิภาคที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วได้แก่ เวียดนาม 20% อินโดนีเซีย 19% ล่าสุด ฟิลิปปินส์ ที่ 19% และญี่ปุ่น ที่ 15%
ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงภาษีสหรัฐที่รัฐบาลจะส่งเสนอให้สหรัฐรอบสุดท้ายในวันนี้ว่า เวลาเหลือน้อยลงมาเรื่อยๆแต่เรายังคงแก้ไขข้อเสนอกลับไปกลับมากับสหรัฐอยู่ เช้าวันนี้มีหลายประเทศที่บรรลุข้อตกลงแล้วไม่ว่า จะเป็นฟิลิปปินส์ที่ได้เกรดเดียวกับอินโดนีเซียที่19%หรือจะเป็นญี่ปุ่นที่ได้ 15%
“วันนี้เราต้องรอไฟนอล บีบหัวใจของคนไทนทุกคนว่าสุดท้าย จะโดนอัตราภาษีที่เท่าไหร่และจำเป็นต้องเปิดตลาดให้สหรัฐมากขนาดไหน การเจรจาครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อลดอัตราภาษีอย่างเดียวเพราะหากจำได้ ฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนเม.ย.ได้17%แต่พอต้นเดือนก.ค.ขึ้นเป็น20% พอปิดดีลจบที่19%ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ประกาศในครั้งแรก ดังนั้นเมื่อดูจากอัตราภาษีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับ19-20%ก็พอจะคาดเดาได้ว่าประเทศไทยน่าจะใกล้ๆ กัน คงไม่ลดลงไปถึงญี่ปุ่น ที่ 15%แต่ต้องแลกกับการนำเงินไปลงทุนในสหรัฐ 550,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”น.ส.ศิริกัญญา ย้ำ
เมื่อถามว่านายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลังในฐานะหัวหน้าทีมเจรจา คาดการณ์ว่าจะไม่เกิน 20% เป็นไปได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่ามีแนวโน้มที่จะจบไม่ถึง 20%ได้ ถ้าดูตัวอย่างจากอินโดนีเซีย และทางอินโดนีเซีย ก็มีการเปิดเผยเงื่อนไขที่ให้ไปกับสหรัฐเช่นการยกเลิกการจัดเก็บภาษีดิจิทัลในโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ และข้อตกลงในการส่งออกแร่สำคัญรวมถึงยอมรับมาตรฐานรถยนต์ของสหรัฐ
“แต่สุดท้ายก็ต้องรอฟังคำตอบจากโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนเดียว เพราะเวลาที่ เจรจาก็เป็นแบบหนึ่งแต่พอประกาศออกมาก็เป็นอีกแบบหนึ่งเราก็ทำได้แค่ส่งใจช่วยให้ประเทศไทยเองยืนหลักการหนักแน่น ไม่นำสินค้าเกษตรไปแลกมากจนเกินไป ทั้งที่ไม่มีการเตรียมมาตรการเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ถูกนำสินค้าตัวเองไปขึ้นโต๊ะเจรจา ไม่เช่นนั้นเราจะทำให้ผู้ที่เสียประโยชน์ แม้จะน้อยนิด เมื่อเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราได้มา แต่จำนวนคนที่จะได้รับผลกระทบมีค่อนข้างมากเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เรามีเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์400,000 ราย ก็คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและลึก จึงต้องดูว่าเวลาเปิด เปิดฟรีเลยหรือไม่หรือจะเป็นการจำกัดโควตาเข้ามา ซึ่งหากมีการเปิดเสรี
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ เตือนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตอนนี้ได้แล้วว่าให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ถ้าเราเอาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปเปิดเสรีให้กับสหรัฐทั้งหมด ไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถแข่งขันได้ ตนได้ข่าวว่าบริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของประเทศหยุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว แม้จะมีการประกันราคาที่ 7 บาท แต่ก็ไม่รับซื้อ ดังนั้นเกษตรกรกำลังกังวลกับอนาคตของตัวเองอยู่
เมื่อถามถึงการสวมสิทธิ์สินค้าจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯน.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ ถ้าเป็นสินค้าที่เราตรวจจับง่ายๆ แค่เข้ามาผ่านทางแล้วออกไป เราก็ไม่ยอมให้เขามานุ่งโจงกระเบน แล้วตีตราว่าเป็นสินค้าไทยอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะสหรัฐเองอาจจะตั้งเกณฑ์ ต้องเป็นวัตถุดิบที่ผลิตในไทย ทำให้เราไม่สามารถใช้วัตถุดิบที่ผลิตจากประเทศจีนได้เลย ซึ่งเป็นความซับซ้อนและยุ่งยาก เพราะสหรัฐต้องการที่จะตัดห่วงโซ่อุปทานที่ไทยมีกับประเทศจีนอย่างเหนียวแน่น เป็นการตรวจเข้มมากขึ้นว่าสินค้าใดใช้วัตถุดิบจากประเทศจีน เรื่องของการสวมสิทธิ์ปกติ เพราะหากตรวจเข้มข้นขนาดนี้ เราก็ไม่มั่นใจว่ากระทบเศรษฐกิจมากหรือไม่
เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยเสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152เพื่อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาภาษีสหรัฐ น.ส.ศิริกัญญาตอบว่ากำลังพูดคุยภายในวิปฝ่ายค้าน แต่ถ้ามีการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเรื่องภาษีทรัมป์สามารถทำได้ แต่พรรคประชาชนที่อภิปราย 152มาหลายปี มองว่าควรจะต้องมีเรื่องประเด็นที่ค่อนข้างกว้างมากกว่านี้เพื่อจะได้สอบถามกับคณะรัฐมนตรีและให้ข้อคิดเห็นในครั้งเดียวกัน นอกเหนือจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพราะการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152ไม่สามารถใช้ได้บ่อย
“ควรเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามที่จำเป็น แต่ถ้าเกิดมีการเจรจาพูดคุยระหว่างวิปฝ่ายค้านแล้วมีหลากหลายเรื่อง มากกว่าเรื่องภาษีสหรัฐ ก็อาจจะจบลงที่การเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติได้ ถ้าเป็นเรื่องภาษีสหรัฐอย่างเดียวก็เป็นญัตติด่วนด้วยวาจา ก็น่าจะเพียงพอ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย เตรียมขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ประเด็นภาษีทรัมป์ ว่า เป็นสิทธิ์ของเขาถ้าขอเปิดจริง ทางรัฐบาลก็ต้องไปพิจารณาว่าจะพร้อมเมื่อไหร่ก็ว่ากันไป เมื่อถามว่าจะเปิดอภิปรายได้ก่อนวันที่ 1 ส.ค. หรือไม่ เพราะเป็นวันเส้นตายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเวลา อยู่ที่ว่าเขาพร้อมเมื่อไหร่และรัฐบาลจะตอบเมื่อไหร่ ก็มานัดกัน ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี