ต่อภัสสร์: คลองด่านคืออะไรครับ?
ต่อตระกูล: คลองด่านคือ ตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมาก เพราะมีป่าชายเลนเป็นบริเวณกว้าง เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก และแหล่งอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลา หลากหลาย
สายพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 3,000 คน ซึ่งร้อยละ 70 ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็กเป็นหลัก แต่ปัจจุบันทรัพยากรต่างๆ ส่วนหนึ่งนี้ได้ถูกทำลายไปจากการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียในบริเวณ
ต่อภัสสร์: แล้วอยู่ดีๆ มีโรงบำบัดน้ำเสียเกิดขึ้นมาได้อย่างไรครับ?
ต่อตระกูล: ย้อนอดีตเล็กน้อย ในช่วงปี 2525-2530 ประเทศไทยเน้นนโยบายสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ทำให้มีโรงงานเกิดขึ้นมากในเขตรอบๆ กรุงเทพฯ โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการที่ในปี 2538 มีโรงงานอยู่ถึงกว่า 4,000 โรง แน่นอนผลที่ตามมาคือมลภาวะ ทั้งดิน อากาศ และน้ำ ด้วยเหตุนี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จึงสนับสนุนรัฐบาลไทยให้สร้างโรงบำบัดน้ำเสียบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเขตจังหวัดสมุทรปราการ และจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาด้านโครงสร้างพื้นฐานจากต่างประเทศมาสำรวจ ผลออกมาว่าควรสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย 2 โรง บนสองฝั่งแม่น้ำ แห่งหนึ่งที่ตำบลคลอง
บางปลากด อีกแห่งหนึ่งที่ตำบลบางปู
และบอกเพิ่มเติมว่าอย่าไปสร้างที่คลองด่านนะ เพราะดินมันเป็นเลน และห่างไกลจากเขตโรงงานไปกว่า 20 กิโลเมตร มันไม่เหมาะสม ในปีนั้นเองโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอนี้ในกรอบงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จาก ADB 3.75 พันล้านบาท
ตัดฉากมา อยู่ดีๆ วันหนึ่งในปี 2541 ชาวบ้านคลองด่านก็ตื่นมาพบกับป้ายก่อสร้างโครงการโรงบำบัดน้ำเสีย พร้อมมีผู้รับเหมาก่อสร้างที่มาล้อมรั้วเตรียมงานก่อสร้าง สรุปว่า ไปๆ มาๆ ครม. อนุมัติให้สร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่ตำบลคลองด่าน ทั้งๆ ที่มีความ
ไม่เหมาะสมในทุกๆ ด้าน
ต่อภัสสร์: โห! แล้วทำไมเขาถึงย้ายมาสร้างที่คลองด่านล่ะครับ?
ต่อตระกูล: เพราะที่ดินที่นั่น มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายวัฒนา อัศวเหม ที่ช่วงนั้นมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีทั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในช่วงนั้นบริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่งที่นายวัฒนามีความเกี่ยวข้องด้วย ได้กว้านซื้อที่ดินบริเวณตำบลคลองด่านจากชาวบ้าน เพื่อนำมาพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟ แต่พอเริ่มสร้างไปได้สักพัก ก็พบว่าทำสนามกอล์ฟบนดินเลนไม่ได้ ต้นทุนมันสูงเกินไป จึงต้องล้มเลิกโครงการสนามกอล์ฟไป
อยู่ดีๆ พอข้อเสนอโครงการโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่เข้าสู่คณะรัฐมนตรี กลุ่มบริษัทนี้ซึ่งเหมือนจะรับรู้ข้อมูลวงในนี้อย่างรวดเร็ว ก็เร่งกวาดซื้อที่ดินในคลองด่านเพิ่มเติม (ทั้งๆ ที่เลิกทำสนามกอล์ฟไปแล้ว) ในที่สุดกลุ่มบริษัทเจ้าของที่ดินนี้ก็เอาที่ดินที่กว้านซื้อมาราคาถูกนี้ ไปปั่นราคากันเองเพิ่มเติมอีก และขายที่ดินคลองด่านจำนวนทั้งสิ้น 1,900 ไร่ ให้กรมควบคุมมลพิษในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 1.04 พันล้านบาท
ต่อภัสสร์: อ้าว! ก็ไหนตอนแรกคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาต่างประเทศเสนอมาให้สร้างเป็นโรงบำบัดน้ำเสีย 2 โรง ที่บางปลากด กับ บางปู ไม่ใช่หรือครับ มันกลายมาเป็นโรงเดียวที่คลองด่านได้ไงล่ะครับ?
ต่อตระกูล: ก็เป็นไปได้ ด้วยความร่วมมือจากนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ในกลุ่มการเมืองเดียวกับนายวัฒนา ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ปรับโครงการจาก 2 โรงบำบัดน้ำเสียบนสองฝั่งแม่น้ำ เป็นแบบโรงเดี่ยวและย้ายสถานที่ก่อสร้างไปที่ตำบลคลองด่าน ห่างที่เดิมถึง 20 กิโลเมตร และเนื่องจากการเปลี่ยนแบบโรงงานและสถานที่ตั้ง ทำให้งบประมาณโครงการเพิ่มถึงร้อยละ 80 จาก 1.3 หมื่นล้านบาท เป็น 2.3 หมื่นล้านบาท
ต่อภัสสร์: สรุปคดีทุจริตคลองด่านคือ การทุจริตซื้อขายที่ดินและฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีใช่ไหมครับ?
ต่อตระกูล: การทุจริตคลองด่าน มันเป็นระบบที่ใหญ่กว่าแค่ 2 ประเด็นนี้มาก ยังมีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมา การทำสัญญากับบริษัทผู้รับเหมา ปลอมแปลงอนุญาตให้ใช้ที่ดินที่เป็นคลองสาธารณะในการก่อสร้าง ใช้อำนาจบังคับให้ออกโฉนดที่ดินผิดกฎหมาย และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องต่างๆในโครงการนี้ที่น่าจะทำให้เกิดปัญหาความทับซ้อนของผลประโยชน์ (Conflict of Interests) ได้
ต่อภัสสร์: แล้วสุดท้ายโครงการนี้จบลงอย่างไรหรือครับ?
ต่อตระกูล: โครงการนี้จบได้ด้วยความตื่นตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่โครงการเริ่มก่อสร้าง ที่ออกมาร้องเรียนไปหลายหน่วยงานและประท้วงอย่างหนัก ต้องเผชิญคำขู่และการคุกคามรูปแบบต่างๆอยู่นาน จนในที่สุดปี 2546 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อพบข้อผิดพลาดในสัญญาก็ได้ให้สั่งหยุดการก่อสร้างทันที แต่นั่นก็หลังจากที่โรงบำบัดสร้างไปแล้วเกินร้อยละ 90 เสียงบประมาณไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ต่อภัสสร์: ถ้าโครงการนี้จบไปแล้ว ทำไมผมยังเห็นข่าวคลองด่านบนหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงนี้อยู่เลยล่ะครับ?
ต่อตระกูล: ที่เป็นข่าวในตอนนี้ก็เพราะ ตอนที่โครงการนี้ถูกหยุด การจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา คือกิจการร่วมค้า NVPSKG ก็หยุดลงด้วย ต่อมาในปี 2557 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาทั้งหมด (ที่เราเรียกกันว่าค่าโง่) ซึ่งรัฐบาลก็ได้จ่ายไปงวดหนึ่งแล้ว เป็นเงิน 3,174.58 ล้านบาท และ 21.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอดีตอธิบดี อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอดีต ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ และระบุว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้บิดเบือนและปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) จึงมีมติให้หยุดจ่าย (ค่าโง่) เงินที่เหลืออีก 4,761.86 ล้านบาท และ 32.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต่อภัสสร์: แล้วล่าสุดที่มีนักการเมืองผู้ใกล้ชิดกับนายวัฒนาออกมาให้ข้อมูลกับสถานีสปริงนิวส์ (ทีวีดิจิทัล ช่อง19) ขอความเป็นธรรมให้นายวัฒนา ว่า นายวัฒนาซื้อที่ดินคลองด่านนี้ไว้นานแล้ว จึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการทุจริต คิดว่าอย่างไรครับ?
ต่อตระกูล: ตามที่ได้อธิบายไปแล้วในข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับคำชี้มูลของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อมูลหลักฐานที่นายวัฒนากระทำทุจริตนั้นชัดเจน ประเด็นนี้จึงไม่ควรเป็นข้อถกเถียงกันอีก
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี