บทนำ
มนุษย์มีจินตนาการเกี่ยวกับหุ่นยนต์มานานแล้ว ความใฝ่ฝันถึงสิ่งที่ฉลาดคล้ายมนุษย์ รับใช้มนุษย์โดยไม่เบื่อหน่ายไม่อิดออด และที่สำคัญต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ด้วยนั้น ไม่เคยเสื่อมคลาย สิ่งนี้คงคล้ายคลึงกับความต้องการของผู้คนที่ต้องการครอบครองทาสในยุคทาสอยู่บ้างไม่มากก็น้อย บทความนี้อาศัยกระแสคาดการณ์ว่าจะมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ใส่ในหุ่นยนต์อย่างแพร่หลาย เช่น แท็กซี่อัจฉริยะ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อสังคมมนุษย์และกระทบกับการทำหน้าที่ทางการคลังของรัฐบาล เช่น ทำให้เกิดการว่างงาน ทำให้กระทบการเก็บภาษีจากรายได้คนทำงานต่างๆ มาใช้เป็นหัวข้อประกอบการนำเสนอความรู้ทั่วไปทางการคลังและการภาษีอากร ที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาที่อาจเกิดในยุคหุ่นยนต์ (ถ้ามาถึง) พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตในบางประเด็น เพื่อเป็นการชี้ชวนให้มีการวิเคราะห์อภิปรายเพิ่มพูนองค์ความรู้ในเรื่องเล่านี้ต่อไป
1. ความหมายของการคลัง (PUBLIC FINANCE)
คำว่า “การคลัง” แปลมาจากคำว่า “Public Finance” ไม่มีคำว่า “มหาชน” ต่อท้ายมาตั้งแต่อดีต1 คงเนื่องจากคำว่า “การคลัง” โดยตัวเองย่อมให้ความหมายว่าเป็นของหลวง รัฐบาล หรือส่วนร่วม อยู่แล้วไม่ได้ให้ความหมายว่าเป็นของเอกชน การคลังจึงหมายถึงการเงินภาครัฐ ในระยะหลังมีตำราต่างประเทศใช้คำว่า “Economics of the public sector”2 แทนบ้าง ซึ่งชื่อหลังจะเน้นเนื้อหาในเชิงเศรษฐศาสตร์มหาภาคที่กว้างขวางกว่าชื่อเดิม
คำว่า “การเงิน” หรือ finance คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาเงิน การเก็บรักษาเงิน การลงทุน การใช้จ่ายเงิน เช่น บริษัทรับจัด finance ย่อมทำหน้าที่รับจัดหาเงินให้เราใช้โดยคิดดอกเบี้ย เพื่อเอาดอกเบี้ยไปจ่ายให้กับนักลงทุนที่เป็นเจ้าของเงิน
คำว่า “ภาครัฐ” ต้องแยกด้วยว่าเป็นรัฐประเภทใด รัฐยุคใหม่หากแบ่งอย่างหยาบๆ เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบสาระสำคัญ สามารถแบ่งออกเป็น รัฐเสรี/ทุนนิยม กับ รัฐสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ รัฐ 2 แบบนี้ มีอุดมการณ์และมุมมองต่างกันหลายประการ ทำให้มีปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันตามไปด้วย ตำราต่างประเทศบางเล่มถึงกับมองว่าแนวคิดเกี่ยวกับภาครัฐเป็นสิ่งกำหนดแนวทางการศึกษาเรื่องการคลังที่แตกต่างกันสุดขั้ว คือ ขั้วหนึ่งศึกษาการคลังในแง่ที่มองว่าภาครัฐเป็นเพียงเครื่องมือกลไกอย่างหนึ่งของปัจเจกชน (Mechanic View) อีกขั้นหนึ่งศึกษาการคลังในแง่ที่มองว่าภาครัฐคล้ายเป็นสิ่งที่มีชีวิต ปัจเจกชนมีความหมายเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของรัฐ และย่อมปราศจากความหมายถ้าไม่มีภาครัฐ (Organic View)3
การเงินภาครัฐแต่ละแบบอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง คือหากเป็นการเงินภาครัฐเสรี/ทุนนิยมก็จะเน้นให้เอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างๆ ส่วนภาครัฐก็จะสงบเสงี่ยมเจียมตัวยอมแพ้ “มือที่มองไม่เห็น” ส่วนรัฐสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ก็จะเน้นความสำคัญของภาครัฐซึ่งคล้ายเป็นหัวใจของสังคม ภาครัฐจะทำหน้าที่วางแผนบงการภาคส่วนต่างๆ ดังนั้นในทางทฤษฎีปัจจัยการผลิตทุกอย่างต้องเป็นของรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นเจ้าของที่ดิน เครื่องจักรสิ่งที่สามารถสร้างผลกำไรต่างๆ ได้ เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตใดๆ4 อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งไทย เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจระบบเสรีนิยมหรือแบบผสมผสาน เน้นการให้สิทธิเสรีภาพต่างๆ กับปัจเจกชนที่จะพัฒนาชีวิตของตนให้ดีขึ้นตามที่แต่ละคนมีศักยภาพ
หน้าที่ของภาครัฐโดยทั่วไปนั้น คือทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีประโยชน์สุขมีศักดิ์ศรี และเกิดความเป็นธรรมในสังคม ปัจเจกชนสามารถพัฒนาคนเองจนถึงสมรรถภาพขั้นสูงสุด5 ดังนั้น หน้าที่ของรัฐแบบต่างๆ จึงกล่าวได้ว่ามีจุดประสงค์ในระดับหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ รัฐมีหน้าที่เบื้องต้นในการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี
รัฐใดที่สามารถทำให้คนในชาติไม่มีความทุกข์เลยก็จะเป็นรัฐที่ดี ในทางศาสนาพุทธจะเน้นเรื่องนิพพาน คือไม่มีเกิดไม่มีดับอีกต่อไป ถ้าสมมุติว่าเป็นรัฐศาสนาพุทธก็คงจะต้องพัฒนาให้คนในประเทศถึงนิพพานทุกคน
การเงินภาครัฐ จึงขึ้นอยู่กับแนวคิด มุมมองและข้อเท็จจริงในเรื่องภาครัฐว่ามีรูปแบบอย่างใด อันจะส่งผลต่อรูปแบบการคลังของประเทศด้วย ทั้งในแง่วัตถุประสงค์และวิธีการ ถ้าเป็นภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่หลายอย่างก็ต้องใช้เงินจำนวนมากตามไปด้วย เมื่อต้องใช้เงินมากก็ต้องจัดเก็บภาษีหรือหาเงินเข้ารัฐมากขึ้นตามไปด้วย วิธีการหาเงินของรัฐที่มีภาระมากก็ย่อมต่างจากรัฐที่มีภาระน้อย
กล่าวกันว่า รัฐที่เลว คือ รัฐที่เอาแต่เก็บภาษี ทำหน้าที่ไม่คุ้มค่า โกงกิน ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ รัฐตามปกติ คือ รัฐที่ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนจากประชาชนที่มอบหมายให้ดูแลแล้วทำหน้าที่ตอบแทนประชาชนอย่างเหมาะสม ไม่ทุจริตโกงกิน มีจริยธรรม ทำงานเต็มที่ รัฐที่ดีที่สุดควรจะเป็นรัฐที่ทำหน้าที่อย่างดีจนประชาชนไม่รู้เลยว่ามีรัฐ คือรัฐที่ประชาชนสามารถพัฒนาอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี