ผลการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา กรณีแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบรับหลักการ 2 ฉบับ ได้แก่
ร่างแก้ไข ฉบับที่ 1 เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย (ไม่มีพรรคก้าวไกล)
และ ร่างแก้ไข ฉบับที่ 2 เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล
ที่เหลืออีก 5 ฉบับ รวมร่างฉบับที่ 7 ที่เขียนโดย “ไอลอว์” นั้น ไม่ผ่านความเห็นชอบ
1. วิปรัฐบาล นำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล นายอนุชานาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวเกือบจะทันทีทันใด
นายวิรัชกล่าวขอบคุณ สว.ที่ให้คะแนนโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างที่ 1 และ 2 ทั้งของฝ่ายค้านและของฝ่ายรัฐบาล โดยมีเสียง สว.เห็นชอบเกินกว่า1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หลังจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยใช้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นร่างหลัก ซึ่งมีความคล้ายกับร่างของฝ่ายค้าน แต่ต่างรายละเอียดย่อย เช่น ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งสามารถปรับให้เข้ากันได้ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างอื่นที่คิดว่าเป็นประโยชน์ แม้ไม่ผ่านการลงมติก็จะนำมาเสนอในชั้นคณะกรรมาธิการ ซึ่งรวมถึงร่างของไอลอว์ด้วย แต่ขอย้ำไม่แตะหมวด 1 และ 2 และพระราชอำนาจ 38 มาตรา
2. สำหรับร่างของไอลอว์ ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบไปแล้วนั้น หากพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลกันจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อบกพร่องอยู่มากมายจริงๆ และการตอบข้อสงสัยในสภาก็ไม่กระจ่างชัดเอาจริงๆ
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายชี้ประเด็นให้พิจารณาน่าสนใจ เช่น
- ประเด็นร่าง iLAW มีทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับและแก้ไขรัฐธรรมนูญรายประเด็นรวมกันไปในฉบับเดียวกัน ทำให้การรับหลักการในวาระหนึ่งไม่ได้ เพราะร่างนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
- การรับร่าง iLAW พร้อมกับร่างฉบับที่ 1 ของพรรคร่วมรัฐบาลและร่างฉบับที่ 2 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาจทำให้ทั้งสามร่างตกไปด้วยทั้งหมด เพราะว่าร่าง iLAW ระบุหลักการไว้อย่างชัดเจนและวางกรอบไว้อย่างแคบ ถึงจำนวน 11 ข้อ ซึ่งหากรับหลักการไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขร่าง iLAW ให้สอดคล้องกับร่าง 1 และร่าง 2 ในวาระที่สองไม่ได้ เพราะข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาห้ามมิให้แก้ไขร่างขัดหลักการ
- เหตุใดจึงยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับเท่านั้น แต่ทำไมไม่ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ การยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะทำบทบัญญัติที่กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบดังกล่าวไม่มีอายุความถูกยกเลิกไปด้วย ทำให้ผู้กระทำผิดที่อยู่ระหว่างหนีคดีพ้นจากความผิดทันทีเพราะคดีขาดอายุความ
- ไม่สามารถไม่รับร่าง iLAW เพราะต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพราะร่าง iLAW ไม่ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันของผู้ชุมนุม
- iLAW เป็นองค์กรที่รับเงินจากองค์กรของต่างประเทศ ทำให้ iLAW อาจถูกครอบงำจากองค์กรของต่างประเทศ และอาจทำหน้าที่ไม่โปร่งใสและเปิดช่องให้องค์กรจากต่างประเทศเข้าแทรกแซงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แม้กระทั่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 74 ยังกำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองรับเงินจากต่างประเทศเพื่อป้องกันมิให้ถูกแทรกแซงจากต่างชาติ พร้อมกันนี้ หากสมาชิกรัฐสภาลงมติรับหลักการของร่าง iLAW อาจถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งและถึงขั้นยุบพรรคได้
เอาแค่ประเด็นข้อครหาเรื่องการรับเงินต่างชาติ รับเงินจากองค์กรเครือข่ายเดียวกับที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวในฮ่องกง? ก็ได้คำตอบยืนยันว่ารับเงินต่างชาติจริง แต่จะเป็นองค์กรเดียวกันหรือไม่นั้น ก็ไม่มีการทำให้เกิดความกระจ่างชัด ทั้งๆ ที่ ควรชี้แจงอย่างเต็มที่ แจกแจงรายละเอียด รายรับ รายจ่ายหักล้างข้อครหาทั้งหลาย แต่กลับอ้างแค่เพียงว่า รับเงินต่างชาติ แต่ไม่ได้ทำงานตามใบสั่ง ซึ่งคนจำนวนมากไม่เชื่อ
3. น่าสนใจว่า มี สส.หลายท่าน ไม่รับร่างทั้ง 7 ฉบับ
สส.พรรครวมพลังประชาชาติไทยทั้งหมด ไม่รับร่างที่จะให้มีการตั้ง ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเห็นว่า หากจะแก้ไข ก็ควรแก้ไขเป็นรายมาตรา เฉพาะมาตราที่เป็นปัญหาจริงๆ เท่านั้น และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านประชามติ 16.8 ล้านเสียง ถือว่าได้รับความชอบธรรมจากประชาชน
ที่ฮือฮา เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ไม่เป็นไปตามแนวทางวิปรัฐบาล
นอกจากนี้ สส.พรรคประชาธิปัตย์ นายชุมพล จุลใส ก็ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 7 ฉบับ เจ้าตัวระบุว่า
“..ผมยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าในรูปแบบใด เพราะควรอย่างยิ่งที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ให้ผ่านการเลือกตั้งสัก 2-3 สมัยเพื่อให้พรรคการเมืองได้มีการเลือกตั้งตัวแทนของพรรคที่จะลง สส.ทั้งปาร์ตี้ลิสต์และแบบเขต โดยผ่านระบบไพมารีโหวต จากนั้นก็จะได้ไปสู่กระบวนการการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบ ต่อสมาชิกพรรคและประชาชนทั่วทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นพรรคการเมืองบางภาคบางพื้นที่เท่านั้น และป้องกันไม่ให้นายทุนเจ้าของพรรคมีอำนาจที่จะชี้นิ้วสั่งการให้ใครลงสมัครหรือไม่ให้ลงสมัครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบเขตเลือกตั้งหรือปาร์ตี้ลิสต์
ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และจัดการกับพวกโกงกินอย่างเฉียบขาด อีกทั้งป้องกันไม่ให้ สส.ไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นต้นตอและต้นเหตุที่นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น
พวกที่อยากแก้รัฐธรรมนูญแล้วอ้างประชาชน ไม่เห็นว่าประชาชนคนไหนแสดงออกว่าอยากแก้ นอกจากพวกม็อบจำนวนหมื่น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศแล้วนับว่าน้อยมาก
พวกที่อยากแก้ก็มีอยู่สองพวก คือ พวกที่มีอำนาจเหนือพรรคการเมืองและต้องการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิมๆ เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจหรือสืบทอดอำนาจต่อไปกับพวกที่ต้องการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์โดยอ้างการปฏิรูปสถาบันฯ ตามข้อเสนอต้อง 10 ข้อ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่นำพาไปสู่การล้มล้างสถาบันทั้งสิ้น
นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วยให้มีการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้”
ขอปรบมือให้ในความหาญกล้า ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติ การข่มขู่ คุกคาม กดดันจากม็อบ ไม่กลัวทัวร์ลง
4. 2 ร่างที่รัฐสภาลงมติรับหลักการ
ร่างที่ 1 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แก้มาตรา 256 ตั้งส.ส.ร.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รับหลักการ 576 คะแนน แบ่งเป็น สส. 449 สว. 127 เสียง, ไม่รับหลักการ 21 คะแนน (สส. 8สว. 13) งดออกเสียง 123 เสียง (สส. 26 สว. 97)
ร่างที่ 2 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญรับหลักการ 647 คะแนน แบ่งเป็น สส. 471 สว. 176 เสียง
กรอบเวลาดำเนินการตามร่างรัฐบาล รวมถึงขั้นตอนประชามติ ขั้นตอนทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กินเวลาอย่างน้อยราวๆ 1 ปีครึ่ง
ที่มา ส.ส.ร. 200 คน ต่างกันกับร่างของฝ่ายค้าน
ร่างของพรรคฝ่ายค้าน กำหนดให้ ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทั้งหมด ซึ่งแน่นอนฐานเสียงก็จะคล้ายๆ กับการเลือก สส.
ร่างของรัฐบาล ให้เลือก ส.ส.ร.โดยตรง 150 คน ส่วนอีก 50 คน กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่คาดว่าคงจะฝ่าฐานเสียงของนักเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ไม่ได้ อาทิ เปิดให้คนหนุ่มสาวได้รับการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ร. 10 คน, ที่ประชุมอธิการบดีฯ (ทปอ.) เลือกจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และด้านรัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ 10 คน และเลือกจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ มาเป็น ส.ส.ร.อีก 10 คน เป็นต้น
5. การทำประชามติ
ในเมื่อเป็นการเปิดทาง ส.ส.ร. เขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อันจะมีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญเติมทั้งฉบับ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ผ่านการทำประชามติ 16.8 ล้านเสียง และคำถามพ่วงก็ผ่านประชามติด้วย
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป
กรณีนี้ จึงน่าคิดว่า เข้าข้อบังคับว่าต้องทำประชามติเสียก่อน ตั้งแต่ก่อนจะตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่?
เพราะเป็นการเขียนใหม่ อันอาจกระทบลักษณะต้องห้าม คุณสมบัติ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระทั้งหลายด้วย
หากประชาชนเห็นชอบให้ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วหลังจากนั้น จึงไปยกร่างแก้ไขจนเสร็จวาระ 3 แล้ว ค่อยไปทำประชามติอีกครั้ง
ประเด็นนี้ คงต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี