กระแสนิยมซีรีส์จีนคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยโดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2562-2564 สถิติการรับชมหลายชุดคือหลักฐานบ่งชี้สำคัญ เช่น 10 อันดับความนิยมซีรีส์เอเชียประจำเดือนมกราคม-กันยายน ปี พ.ศ.2563 เพราะความนิยมซีรีส์จีนปรากฏให้เห็นมากถึง 5 เรื่อง ขณะที่ซีรีส์เกาหลีใต้และอินเดียมีเพียง 3 และ 2 เรื่องตามลำดับ โดยซีรีส์จีนครองตำแหน่งความนิยมตั้งแต่ลำดับที่ 2 ถึง 6 ในสถิติดังกล่าว
การแสดงออกของกลุ่มแฟน ๆ ก็ดูเด่นชัดจนมีคำกล่าวในหมู่ชาวไทยว่า หากได้เริ่มเสพซีรีส์จีน อาจหลงลืมงานของเกาหลีใต้ตลอดไป ฐานแฟนคลับจึงถูกแบ่งออกตามคำเรียกขานว่า “ด้อมจีน” และ “ด้อมเกาหลี” มาจาก Fandom ของจีนและ Fandom ของเกาหลีใต้ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงว่า ด้อมใดจะชนะเลิศในที่สุด
ซีรีส์จีนยอดนิยมสำหรับผู้ชมไทยประกอบไปด้วย A Love So Beautiful (2017), Put Your Head on My Shoulder (2019), The Untamed (2019), Eternal Love of Dream (2019), I Will Find You a Better Home (2020), Held in the Lonely Castle (2020), The Oath of Love (2021) และอีกมากมาย บางเรื่องผลิตก่อนหน้าปี พ.ศ. 2562 แต่ความนิยมกลับไต่ระดับช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 ตามกระแสการบริโภคเรื่องอื่นซึ่งถูกส่งต่อแบบปากต่อปาก
ไม่ว่าจะอย่างไรการเลือกชมซีรีส์จีนนำไปสู่การเปลี่ยนครั้งสำคัญในด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน จากเดิมที่มีการมองจีนเป็นชาติด้อยอารยธรรม หรือ กระหายในผลประโยชน์ ผู้ชมเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนมากขึ้นพร้อมเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกซึ่งทำให้ผู้ร่วมสนทนาได้เห็นวิถีความเป็นจีน มีการแบ่งปันภาพทางสังคมวัฒนธรรมทั้งในแบบจารีตนิยมและทันสมัย หลายคนเลือกนำบทประพันธ์คลาสสิกมาถกเถียงในกลุ่มแฟนวรรณกรรม บางคนแบ่งปันความเห็นหลังการชมซีรีส์และ/หรือภาพยนตร์ที่ตนประทับใจในรูปรีวิว แต่บางคนเลือกบริโภคสินค้าแฟชั่นตามอย่างผู้แสดงซีรีส์
ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ชมซีรีส์เริ่มถือมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับจีน เป็นมุมที่จีนกลายเป็นชาติอันงดงาม เต็มไปด้วยความก้าวหน้า มีความน่าเลื่อมใส มีความน่าประทับใจ ผู้ชมจำนวนไม่น้อยหันไปติดตามข่าวสารเกี่ยวกับจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ พัฒนาการคอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ การค้า/การลงทุน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ การมองจีนในมุมใหม่ยังมาจากเนื้อหาซีรีส์ที่พยายามสะท้อนความเป็นมืออาชีพของชาวจีนในการยกระดับตนเอง ทั้งยังนำเสนอความเป็นจีนในมิติอันสูงส่งอย่างการแสวงหาความก้าวหน้า การทำเพื่อสังคมโดยรวม ฯลฯ การวาดภาพจีนในฐานะคนอื่นไกลจึงลดหายไปจากวาทกรรมประจำวัน แต่การเรียนรู้จีนในทางสร้างสรรค์กลับปรากฏบ่อยครั้ง
ความต้องการเรียนภาษาวัฒนธรรมจีนในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ก็เป็นอีกปรากฏการณ์สืบเนื่องมาจากการชมซีรีส์ จากเดิมที่เชื่อว่า ภาษาจีนคือโอกาสทางเศรษฐกิจ ผู้เรียนกลับเลือกเรียนด้วยความรู้สึกชมชอบเป็นการส่วนตัว การสอนหลักสูตรภาษาจีนในปัจจุบันจึงได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย โดยหลักสูตรดังกล่าวหาได้ระดับอุดมศึกษาจำนวน 47 แห่ง คิดเป็น 130 หลักสูตร การเปิดห้องเรียนขงจื่อในระดับประถม-มัธยมศึกษาอย่างน้อย 12 แห่งร่วมกับการดำเนินกิจกรรมในนามสถาบันขงจื่ออีก 16 แห่งก็ได้รับการตอบรับที่เป็นกันเอง ขณะที่เยาวชนอีกหลายคนสมัครเข้าเรียนสถาบันสอนภาษาเอกชนหรือกับครูสอนภาษาส่วนบุคคล
ในการนี้ผู้เรียนภาษาพยายามแบ่งปันแนวการเรียนโดยอาศัยซีรีส์จีนประหนึ่งตำรา ส่วนใหญ่เป็นการฝึกทักษะการฟังและพูด โดยแต่ละคนพยายามจับความในบทสนทนาให้รู้ว่า ตัวละครกล่าวคำไหน และหมายถึงอะไร บางคนมองว่า การพึ่งพาซีรีส์จะทำให้การเรียนสนุกขึ้นรวมทั้งกลายเป็นเรื่องง่ายเพราะตัวละครใช้คำศัพท์ซ้ำกัน ทั้งช่วยย่นเวลาในการท่องคำแปล
อาจกล่าวได้ว่า ซีรีส์จีนมีส่วนสำคัญในการช่วยละลายกำแพงระหว่างไทย-จีน อคติหลายอย่างลดเลือนไป ความหวาดกลัวจีนในทางการเมืองก็เบาบางลงอย่างที่เห็นในการใส่ความจีนเรื่องการเป็นต้นตอวิกฤตโควิด-19 เพราะแทนที่จะมีการตอกย้ำความเชื่อดังกล่าว ผู้ชมกลับมองข้ามเพื่อไปสร้างภาพจำใหม่ ๆ ดังอธิบายข้างต้น นั่นทำให้เกิดภูมิคุ้มกันปฏิบัติการข่าวสารโจมตี ทั้งยังสร้างความยินดีที่จะเปิดทางให้แก่ความเชื่อมโยงไทย-จีนในมิติอื่น เมื่อรวมกับความร่วมมือเดิม ๆ เช่น การศึกษา ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การค้า ฯลฯ ความสัมพันธ์ไทย-จีนจึงฝ่ากระแสต่อต้านจากโลกตะวันตกได้สำเร็จ
สิ่งนี้ไม่ใคร่เกิดขึ้นยามที่จีนตั้งเป้าการสื่อสารวัฒนธรรมผ่านขนบธรรมเนียมชั้นสูงอย่างศิลปะ การแสดง การคัดลายมือ การท่องบทกลอน ฯลฯ อาจเพราะธรรมเนียมชั้นสูงเข้าถึงประชากรเฉพาะกลุ่ม แต่ความบันเทิงสายภาพยนตร์ได้รับความสนใจแพร่หลายกว่า เพราะฉะนั้นภาพเคลื่อนไหวทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ สารคดี แอนิเมชัน ภาพยนตร์เรื่องยาว ฯลฯ ควรถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ทรัพยากรยุทธศาสตร์ ด้วยสื่อกลุ่มนี้ทรงศักยภาพในการรักษาความรู้สึกภาคประชาชน
*สรุปเนื้อหาจากบทความวิจัยเรื่อง การตอบรับซีรีส์โทรทัศน์กับการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีนในสังคมไทยร่วมสมัย ที่นำเสนอในประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 และเครือข่ายวิจัยประชาชื่น ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ ไทย-จีน เส้นทางสู่อนาคต เพื่อสร้างความรุ่งเรืองร่วมกัน วันที่ 1 เมษายน 2565 โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ร่วมกับเครือข่ายวิจัยประชาชื่น
ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
นักวิจัยด้านความมั่นคงใหม่ วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย