กรมชลประทาน ได้ฤกษ์ส่งน้ำเข้าทุ่งบางระกำ ตามแผนปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีในโครงการอ “บางระกำโมเดล” ช่วยเกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก โดยผลผลิตไม่ได้รับความเสียหายมากกว่า 2 แสนไร่ ชาวนาพอใจรายได้มั่นคง และยังมีรายได้เสริมจากอาชีพประมง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการบางระกำโมเดลเกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากมักประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำยมในเขต จ.พิษณุโลก และสุโขทัย อีกทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบตามไปด้วย กรมชลประทานจึงได้บูรณาการร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก-สุโขทัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการบางระกำโมเดลขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
“โครงการบางระกำโมเดล ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ให้มีการเพาะปลูกเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยกรมชลประทานจะจัดสรรน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้กับพื้นที่บางระกำโมเดลจำนวน 310 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยใช้เขื่อนนเรศวรทดน้ำในแม่น้ำน่านส่งเข้าระบบชลประทานิ เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่ในพื้นที่ รวม 265,000 ไร่ โดยเกษตรกรจะเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ช่วยลดความเสี่ยงปัญหานาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหาย” นายประพิศ กล่าว
นอกจากนี้ ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ กรมชลประทานจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำจำนวน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ จ.พิษณุโลกและพื้นที่เศรษฐกิจ จ.สุโขทัย ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้ร่วมกับกรมประมง บูรณาการส่งเสริมอาชีพ โดยนำพันธุ์ปลามาปล่อยลงทุ่ง เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่มีอาชีพเสริมในการทำประมง หรือส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวและปลา และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มในช่วงฤดูน้ำหลาก และเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน กรมชลประทานจะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่ง โดยจะคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง สำหรับให้เกษตรกรใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อไป ช่วยประหยัดน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนสิริกิติ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
-(016)