มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เชื่อมมิติ'วัฒนธรรมองค์การ'กับ'อาชญาวิทยา'ผ่านบทเรียนพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ มุ่งเสริมทักษะวิเคราะห์เชิงลึกนักรัฐประศาสนศาสตร์ยุคใหม่
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การจัดการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในความหลากหลายทางวัฒนธรรม: พฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ” (Public, Private and Civil Society Management in Cultural Diversity) เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้แนวคิดด้านวัฒนธรรมองค์การในหลากหลายระดับ โดยได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ดร.ตฤณห์ โพธิรักษา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ,นักอาชญาวิทยา ,และที่ปรึกษากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นวิทยากรรับเชิญ ณ อาคาร 3 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ภายใต้การดำเนินการของ รศ.ดร.ชนิดา จิตตรุทธะ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งกล่าวถึงสาระสำคัญของการจัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ” ว่า เป็นหัวข้อพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจพฤติกรรมการบริหารองค์การในทุกประเภท ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในยุคที่โลกมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น
การเรียนรู้เรื่องพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การตามแนวคิด ทฤษฎีวัฒนธรรมองค์การ จะช่วยให้นักศึกษามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของบุคคลกับวัฒนธรรมในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับปัจเจก ระดับหน่วยงาน และระดับองค์การ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกลไกการบริหาร การประสานงาน และการจัดการความขัดแย้งในองค์การที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
รศ.ดร.ชนิดา อธิบายว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์การมักเกิดจากการปะทะกันทางวัฒนธรรม (clash culture) ไม่ว่าจะเป็นระหว่างวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคลกับวัฒนธรรมขององค์การ หรือระหว่างวัฒนธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์การเอง โดยเฉพาะเมื่อค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมของแต่ละบุคคลไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมหลักขององค์การนั้น ๆ
“การทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การผ่านมุมมองทางจิตวิทยาพฤติกรรม และการอ่านพฤติกรรมเชิงชีววิทยา จิตวิทยา และภาษากายของมนุษย์ ซึ่งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาอย่างท่านอาจารย์ ดร.ตฤณห์ โพธิรักษา ได้นำเสนอในครั้งนี้ จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้กับนักศึกษาในการเข้าถึง วัฒนธรรมปัจเจกบุคคล (individual culture) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของพฤติกรรมในองค์การ” รศ.ดร.ชนิดา กล่าว
นอกจากนี้ รายวิชาดังกล่าวยังช่วยให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยง แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การกับทฤษฎีวัฒนธรรมองค์การที่ศึกษาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์การประเภทต่าง ๆ ตัวแบบวัฒนธรรมสากล หรือวัฒนธรรมเฉพาะบริบทได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“การบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญนอกแวดวงรัฐประศาสนศาสตร์ครั้งนี้ จึงไม่เพียงเติมเต็มความรู้ในชั้นเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยเปิดประตูสู่การเข้าใจมนุษย์ในบริบทขององค์การอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับนักรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคที่การทำงานต้องอาศัยความเข้าใจและการจัดการความหลากหลายอย่างมืออาชีพ” ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน อาจารย์ดร.ตฤณห์ โพธิรักษา ได้ให้ความรู้ในประเด็น “พฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ” โดยอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำว่า “พฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ” ซึ่งเน้นปฏิสัมพันธ์เชิงพฤติกรรมของบุคคลในบริบทการทำงานร่วมกัน และ “พฤติกรรมองค์การ” ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ทางสังคมที่สะท้อนวัตถุประสงค์ร่วมขององค์กรในฐานะหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ทั้งที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร โดยมีเป้าหมายเพื่อความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกในองค์การ
นอกจากนี้ วิทยากรยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาพฤติกรรมองค์การ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการในหลากหลายมิติ เช่น การเข้าใจแรงจูงใจของพนักงาน การจัดการความขัดแย้งภายในองค์การ การส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ตลอดจนการสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นเทคนิคการสื่อสารผ่าน “I-Message” ซึ่งเป็นการสื่อสารที่สะท้อนความรู้สึกของตนเองโดยไม่กล่าวโทษผู้อื่น เช่น “ฉันรู้สึกไม่สบายใจเมื่อไม่ได้รับข้อมูลตามที่นัดไว้” แทนการใช้ “You-Message” ที่อาจสร้างความขัดแย้ง อาทิ “คุณไม่เคยทำตามที่พูดเลย” ซึ่งมักทำให้ผู้รับรู้สึกถูกตำหนิ
ดร.ตฤณห์ ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของ “อวัจนภาษา” (Nonverbal Communication) ในการสื่อสารเชิงมนุษยสัมพันธ์ โดยระบุว่า มนุษย์ใช้ภาษาพูดเพียง 10–20% ในการสื่อสาร ขณะที่การสื่อสารที่เหลือมักเกิดขึ้นผ่านท่าทาง สีหน้า และภาษากาย การเข้าใจในมิตินี้จะช่วยให้ผู้นำและผู้จัดการสามารถตีความเจตนาและอารมณ์ของผู้ร่วมงานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และสามารถสร้างบรรยากาศในองค์การที่เอื้อต่อความร่วมมือและความเข้าใจ
กิจกรรมในครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนความมุ่งมั่นของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU ในการบูรณาการความรู้ด้านรัฐประศาสนศาสตร์กับประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ยังแสดงถึงแนวทางการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ และการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถรับมือกับความหลากหลายและความซับซ้อนขององค์การในโลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี