มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยสายงานทรัพยากรบุคคล จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่ (New Generation) ภายใต้หลักสูตร OHO Model Phase II : Gallup CliftonStrengths Discovery – Your Unique Strengths เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจใน “ศักยภาพหรือจุดแข็งของตัวเอง” และนำมาปรับให้เหมาะสมเพื่อการพัฒนาตนเอง รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากสถาบัน Gallup โดยตรง มาถ่ายทอดความรู้และแนวคิดในการค้นหาจุดแข็งของตัวเอง ณ ห้องประชุมสัจจา เกตุทัต 1 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรตามแนวทาง OHO Model ที่มุ่งเน้นการเติบโตจากภายใน ด้วยการเข้าใจและใช้ “จุดแข็ง” เป็นแรงขับเคลื่อนการทำงาน โดยมีคณาจารย์และบุคลากรกว่า 30 คน จากคณะ/วิทยาลัยที่เข้าร่วมอบรม อาทิ วิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี, วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน, วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี, วิทยาลัยนานาชาติ, วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ & เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี, วิทยาลัยเฮลท์ แอนด์ เวลเนส , วิทยาลัยการแพทย์แบบบูรณาการ, คณะนิเทศศาสตร์และคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม
อาจารย์พิไลพรรณ นวานุช รองอธิการบดีสายงานทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาศักยภาพคณาจารย์และบุคลากร โดยเน้นการเสริมสร้าง Soft Skill ควบคู่กับ Hard Skill หรือ Functional Skill เพื่อให้บุคลากรมีความพร้อมต่อการทำงานในยุคใหม่ DPU จึงจัดอบรม หลักสูตร Gallup Strengths ซึ่งเป็นเครื่องมือที่อ้างอิงจากผลงานวิจัยระดับโลก ที่จะช่วยให้คณาจารย์และผู้บริหารเข้าใจจุดแข็งของตนเองและผู้อื่นในเชิงลึก ในลักษณะ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อยกระดับความสามารถและการทำงานร่วมกันในองค์กร
“เราค้นหาพรสวรรค์ หรือ Inner ที่อยู่ในแต่ละบุคคลในการทำงานร่วมกัน เป็นการพัฒนาและเสริมศักยภาพอาจารย์และบุคลากรในเรื่อง Soft Skill ซึ่งมองว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่งขององค์กร เรากำลังติดอาวุธทางปัญญาให้คณาจารย์ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุทธภพในการบริหารจัดการการเรียนการสอน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ คณาจารย์รุ่นใหม่ ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Management) และผู้ที่ได้รับการปรับเลื่อนตำแหน่งให้เป็นคณบดีหรือผู้บริหารระดับสูง” รองอธิการบดีสายงานทรัพยากรบุคคล DPU กล่าว
ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือ "Gallup Strengths" ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก จะช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของบุคลากรและภาพรวมขององค์กรได้อย่างชัดเจน นำไปสู่การวางแผนพัฒนาที่ตรงจุด แตกต่างจากการหา Training Need แบบเดิม โดยเริ่มจากการทำแบบทดสอบ StrengthsFinder ที่ประเมินพรสวรรค์ 34 ด้านของแต่ละคน จากนั้นนำผลลัพธ์มาจัด Workshop จำลองสถานการณ์ เพื่อฝึกการใช้จุดแข็งในการแก้ไขปัญหาและสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ยังมีการจัดทำ dashboard ข้อมูลเพื่อให้ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนและดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รองอธิการบดีสายงานทรัพยากรบุคคล DPU กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาศักยภาพบุคลากรต้องอาศัยการยอมรับและความตระหนักรู้ในตนเอง ไม่สามารถบังคับให้ใครพัฒนาได้ แต่การที่บุคลากรเข้าใจตนเองและเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ จะทำให้แผนพัฒนาบุคลากรประสบความสำเร็จ และตอบโจทย์ได้ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของ Learning Journey ที่จะดำเนินต่อเนื่องในอนาคต โดย DPU วางแผนพัฒนาบุคลากรในหลายมิติ ทั้งการพัฒนา Mindset การทำโครงการที่เชื่อมโยงกับงานจริง และการประเมินเพื่อต่อยอดการพัฒนาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงเก่งด้านวิชาการ แต่ยังเก่งด้านการบริหารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น พร้อมผลักดันมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม อาจารย์วรพงษ์ ปลอดมูสิก รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงความประทับใจในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพคณาจารย์และบุคลากรว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ในการอบรมจัดกิจกรรม โดยครั้งแรกได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกคิดเชิงสร้างสรรค์ผ่านแนวคิด Ultimate Thinking และ Storytelling ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกกระบวนการคิด การจัดระเบียบความคิด การวางแผน การคิดแบบสร้างสรรค์ และการฝึกเล่าเรื่อง ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนากิจกรรมในปีนี้
“สิ่งที่โดดเด่นในปีนี้คือการนำการประเมินรูปแบบใหม่โดยใช้เครื่องมือ Gallup มาช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถมองเห็นศักยภาพและจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ภายในตนเองได้ชัดเจนขึ้น โดยผลการประเมินจะจัดลำดับจุดแข็งจากทั้งหมด 34 ด้าน โดยแสดง 5 ลำดับแรกเป็นจุดเด่นที่สุด และลำดับ 6-10 เป็นจุดแข็งรองลงมา สิ่งนี้ช่วยให้เราเห็นความแตกต่างของแต่ละคนในทีมได้อย่างชัดเจน และเมื่อเจอสถานการณ์จริง แต่ละคนจะดึงศักยภาพเฉพาะตัวมาใช้แก้ไขปัญหาตามแนวทางของตนเอง แม้แนวทางจะต่างกัน แต่เป้าหมายคือความสำเร็จเดียวกัน” รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ DPU กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์วรพงษ์ ยังมองว่า ข้อมูลจากผลการประเมินสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อวิทยากรจาก Gallup เข้ามาเป็นผู้จุดประกายแนวคิด ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ประเมินตนเองในหลากหลายมิติ ทั้งการทำงาน การเรียนการสอน งานบริหารในมหาวิทยาลัย และบทบาทการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
ทางด้าน อาจารย์ศิริพร อำไพลาภสุข หัวหน้าหลักสูตร สาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรม Gallup CliftonStrengths ว่า กิจกรรมนี้เริ่มต้นด้วยความน่าสนใจตั้งแต่ขั้นตอนการทำแบบทดสอบ ซึ่งในตอนแรกไม่มั่นใจว่าผลลัพธ์จะสามารถสะท้อนตัวตนได้มากน้อยเพียงใด แต่เมื่อทราบผลแล้วกลับพบว่าช่วยให้ได้ทบทวนและมองเห็นตนเองในมุมใหม่ ทั้งในด้านที่สอดคล้องกับสิ่งที่เคยเข้าใจตนเอง และด้านที่อาจเคยมองข้ามหรือไม่เคยตระหนักถึงความสามารถและทักษะที่แท้จริง
“หลักสูตรนี้ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และช่วยให้มองเห็นแนวทางในการนำจุดแข็งไปพัฒนาต่อยอดอย่างชัดเจน พร้อมทั้งตระหนักถึงจุดที่ควรพัฒนา แม้แบบทดสอบจะไม่ได้ระบุจุดอ่อนโดยตรง แต่สามารถดูจากลำดับท้าย ๆ ของผลประเมินเพื่อนำไปวางแผนพัฒนาตนเองได้ สิ่งที่ได้รับจากการอบรมยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกิจกรรม การสร้างเกมการเรียนรู้ หรือการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาได้รู้จักและพัฒนาตนเองมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อทั้งกระบวนการเรียนรู้และการเติบโตของนักศึกษาในอนาคต” หัวหน้าหลักสูตร สาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม DPU กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี