กลุ่มราษฎรบ้านห้วยต้าใต้ จ.อุตรดิตถ์ บนเกาะกลางอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ สานต่อพระราชดำริ ผ่านโครงการศิลปาชีพ ยกระดับฝีมือทอผ้า แกะสลักไม้ วาดภาพ จักสาน พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าทันสมัย สร้างรายได้เสริมให้ชุมชนอย่างมั่นคง
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2568 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีพร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านห้วยต้า ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมติดตาม
นางปภาวรินท์ อภิยะ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านห้วยต้าใต้ หมู่ที่ 4 ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เผยว่า“บ้านห้วยต้าเคยเป็นชุมชนที่เข้าถึงยาก ต้องใช้เรือสัญจร แต่วันนี้มีไฟฟ้า ถนน และอาชีพเสริมจากศิลปาชีพ ซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านห้วยต้าใต้ สามารถสร้างรายได้จากการทอผ้าลายพระราชทาน 'ลายลูกแก้ว' เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรา และพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าทันสมัย เช่น ผ้าพันคอ ผ้าตีนจก ผ้าผืนตัดชุดเดรส มีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 100,000 บาทต่อคน”
นายบุญสืบ สิงเต ราษฎรผู้วาดภาพสีน้ำมันห้วยต้า ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เผยว่าหลังผ่านการอบรมวาดภาพสีน้ำมันที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันสามารถผลิตผลงานแนวธรรมชาติ ส่งขายได้ราคาตั้งแต่ 2,000 – 7,000 บาทต่อภาพ ถือเป็นรายได้เสริมที่ดีในช่วงว่างเว้นจากงานทำนา
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านห้วยต้า หมู่ที่ 4 ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นศูนย์ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบ้านห้วยต้าซึ่งเป็นผู้เสียสละพื้นที่บางส่วนในการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จัดตั้งตามพระราชราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี 2537 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่เสียสละพื้นที่ในครั้งนี้ โดยส่งเสริมฝึกอบรมอาชีพ ทั้งทอผ้า แกะสลักไม้ วาดภาพและจักสาน เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากอาชีพหลักคือ ทำนา ทำสวน และทำไร่ พร้อมพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นเพื่อให้ราษฎรยืมข้าวไปรับประทานในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกข้าว แล้วนำมาคืนหลังการเก็บเกี่ยวข้าวที่ปลูกแล้ว ทำให้ราษฎรมีข้าวกินโดยไม่ต้องซื้อ
โดยบ้านห้วยต้าเป็นชุมชนดั้งเดิมบนเกาะกลางแม่น้ำน่าน เหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีการทอผ้าไหมมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านห้วยต้า “ลายลูกแก้ว” หรือ ที่เรียกขานในปัจจุบันว่า “ลวดลายพระราชทาน” ใช้วิธีการทอยกและเหยียบตะกอ (4 ตะกอเป็นหลัก) เพื่อสร้างลวดลายนูน ลายลูกแก้วเป็นกรอบสี่เหลี่ยมซ้อน 2 ชั้น ครอบลวดลายดอกกลางที่ดูเป็นทรงกลมกระจก
โดยมีลายย่อย เช่น ลายลูกหวาย, ลายก้างปลา และลายเม็ดพริกไทย ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีจัดตะกอ สำหรับลวดลายลูกแก้วนี้แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ถ่ายทอดความประณีตของช่างทอ นับเป็นส่วนหนึ่งของงานทอมือที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น สร้างรายได้ให้ชุมชน นับเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ชาวบ้านห้วยต้าให้เป็นที่รู้จักมาจวบจนปัจจุบันนี้ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมาได้ส่งสินค้าไปยังสวนจิตรลดามีรายได้ จากงานทอผ้า ประมาณ 240,000 บาท และงานแกะสลัก ประมาณ 210,000 บาท
การนี้ องคมนตรี ได้เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่สมาชิกของกลุ่มศิลปาชีพบ้านห้วยต้า จำนวน 37 ถุง ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้า จำนวน 23 ถุง กลุ่มแกะสลัก จำนวน 11 ถุง กลุ่มภาพวาดดินสอ จำนวน 1 ถุง และกลุ่มจักสาน จำนวน 2 ถุง อีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี