ด้วยพระจริยวัตรอันงดงามและพระราชอัธยาศัยอันน่าประทับใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก...
พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของคำว่า “สุภาพบุรุษ”...
ทรงเป็น “เอกบุรุษ” หนึ่งเดียวที่คนทั่วโลกต่างถวายพระราชสมัญญานามว่า “King of Kings” หรือ “Great King” ยอดพระมหากษัตริย์ของโลก!!!
1.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของลูก ที่มีความกตัญญูต่อผู้เป็นแม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนี หรือสมเด็จย่า อย่างธรรมดาว่า “แม่” เมื่อครั้งที่สมเด็จย่ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศจะเสด็จพระราชดำเนินจากวังสวนจิตรฯ ไปยังวังสระปทุมในตอนเย็น เพื่อเสวยพระกระยาหารค่ำกับสมเด็จพระราชชนนีเป็นการส่วนพระองค์อย่างสม่ำเสมอ มีรับสั่งกับข้าราชบริพารว่า...
“ไปกินข้าวกับแม่ ไปคุยกับแม่ ไปทำให้แม่ชุ่มชื่นหัวใจ”
ในระหว่าง สมเด็จย่าพระประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จะเสด็จไปประทับกับพระราชมารดาที่โรงพยาบาลศิริราชวันละหลายชั่วโมง เพื่อทรงเป็นกำลังพระราชหฤทัย แสดงถึงความกตัญญูของลูกต่อผู้เป็นแม่ อย่างหาที่สุดมิได้
(แหล่งที่มาจากหนังสือ เรื่อง หยุดความชั่วที่ไล่ล่าตัวคุณ ของ พ.อ.(พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน – 18 สิงหาคม 2547)
2.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของสุภาพบุรุษ ที่กล่าวให้เกียรติสุภาพสตรีของพ่อเสมอ
เมื่อปี 2503 ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา มีนักข่าวต่างประเทศกราบบังคมทูลถามว่า “ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก ไม่ทรงยิ้มเลย” พระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปทาง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และมีพระราชดำรัสว่า “She is my smile.” หรือแปลว่า “นั่นไง รอยยิ้มของฉัน”
ถ้ากล่าวอย่างคำสามัญชน นั่นคือ ความโรแมนติก ที่สุขใจทั้งผู้ให้ และชื่นใจทั้งผู้รับ
(แหล่งที่มาจากเว็บไซต์ Welovethaiking.com)
3.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของผู้มีอารมณ์ขันอยู่เป็นนิจ
ครั้งหนึ่ง มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งเกิดอาการประหม่า แม้จะซักซ้อมมาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังผิดพลาด กราบบังคมทูลรายงานว่า “ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พลตรีภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน …."
เมื่อในหลวงทรงได้ยินดังนั้น ทรงแย้มพระสรวลและตรัสอย่างพระอารมณ์ดีว่า “เออ ดี เราชื่อเดียวกัน…” ขณะเดียวกันนั้นผู้เข้าเฝ้าต้องซ่อนหัวเราะกันทั้งศาลาดุสิดาลัย เพราะผู้กราบบังคมทูลรายงานประหม่า จนกระทั่งจำชื่อตนเองไม่ได้
(แหล่งที่มาจากเว็บไซต์ Welovethaiking.com)
4.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของผู้ที่เคารพกฎกติกาอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกีฬาอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงโปรดกีฬาหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันเรือใบ พระอัจฉริยภาพในด้านกีฬาเรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ปรากฏเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อทรงชนะเลิศทรงเรือใบเข้าสู่เส้นชัยเป็นอันดับ 1 ทรงรับการถวายเหรียญทอง จาการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ในวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 นำความปลื้มปีติแก่พสกนิกรไทยทั้งมวล
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับเข้าฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯว่า เสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวส์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงยึดกติกามากแค่ไหน
นอกจากนี้ แบดมินตัน ยังเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่โปรดมาก มีรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถที่จะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงแบดมินตันอย่างนักกีฬาโดยแท้ คือ ไม่ทรงแสดงอาการกริ้วแต่อย่างใดเมื่อทรงลูกเสีย หรือแม้กระทั่งผู้ที่ถวายตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบถึงพระวรกายจากความเข้มข้นในเกมการเล่น ก็ไม่ทรงถือพระองค์แต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นว่าทรงเป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง
(แหล่งที่มาจากเว็บไซต์ wikipedia.org)
5.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของ นักเจรจาที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย
ในเวลาที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต อย่างครั้งเกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ พระองค์ทรงคอยปัดเป่า ทุกข์และความกังวล ให้แก่ประชาชนของพระองค์
เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เวลาประมาณ 21:30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มการปะทะที่รุนแรงขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเป็นห่วงประชาชน เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง จึงมีรับสั่งให้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเข้าเฝ้า โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงกราบถวายบังคม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์บ้านเมืองจึงกลับมาเป็นปกติสุข
(แหล่งที่มาจากเว็บไซต์ wikipedia.org)
6.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของ คนสมถะและเรียบง่าย
ด้วยพระจริยวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร การเตรียมพื้นที่รับเสด็จและที่ประทับอาจไม่สะดวกสบายมากนัก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ก็มิได้ถือพระองค์ ทรงงานกลางดิน และเสวยพระกระยาหารเยี่ยงคนสามัญ
7.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของชาวพุทธ ผู้มีใจเปิดกว้าง
พระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ที่ประเสริฐสุด ทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างเนืองนิตย์ อีกทั้งทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์แก่ทุกศาสนาอีกด้วย
8.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของผู้ที่ถือมั่นในคำสัตย์สัญญา
นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า...
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้ทรงอุทิศพระวรกาย ประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์อย่างต่อเนื่อง ทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในทศพิศราชธรรม หรือธรรม 10 ประการของพระราชา อย่างเคร่งครัด
ตลอด 7 ทศวรรษ นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงเป็นกษัตริย์ที่อยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย โดยมิทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อศึกษาปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร และทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายนับไม่ถ้วน เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกถิ่นได้อยู่ดีมีสุข โดยเฉพาะด้านการเกษตร ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งดังพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2541 ความตอนหนึ่งว่า...
“…การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐาน และชีวิตสำหรับประเทศของเรา เพราะคนไทยเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพทางเกษตรกรรม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นเสมอมาว่าวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่ง ก็คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น...”
9.พ่อผู้เป็นแบบอย่างของ ผู้ให้อย่างแท้จริง
พระราชกรณียกิจนานัปการที่พระองค์ทรงงาน ตรากตรำพระวรกาย เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทย ตลอดการครองราชย์ 70 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แก่สายตาชาวโลกแล้วว่า...
พระองค์ทรงเป็น “เอกบุรุษ” พระมหากษัตริย์ผู้ให้อย่างแท้จริง