นับเป็นความปีติยินดียิ่งของปวงชนชาวไทย เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี ในห้วงเวลาวันที่ 4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของแผ่นดินไทย เนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เป็นพระราชพิธีสำคัญเพื่อการเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จขึ้นทรงราชย์ ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระประมุขเป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ ทรงเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมราชบุพการีทั้งสองพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญมาอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์
นับตั้งแต่ทรงราชย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่องในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตลอดจนการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร ทรงน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มาทรงปฏิบัติ ทรงแสดงความมุ่งมั่นพระราชหฤทัย ที่จะทรง “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริในสมเด็จพระบรมชนกนาถให้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด นับเนื่องตั้งแต่เสด็จขึ้นทรงราชย์ ทั้งด้วยพระราชดำรัส พระราโชบาย แนวพระราชดำริ ตลอดจนพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง
สืบสาน คือทรงนำองค์ความรู้พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาสืบสานในการทรงงาน รักษา คือพระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ให้เกิดความยั่งยืน ต่อยอด คือสานต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์
พระราโชบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ปรากฏให้เห็นคือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความช่วยเหลือ เช่น โครงการก่อสร้างฝายบ้านเขาแดงพัฒนาฯ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านแขหว้า-หนองบังละเหว จังหวัดชัยภูมิ และโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการ ท่ามกลางประชาชนที่เดินทางมาเฝ้าฯรับเสด็จ อย่างเนืองแน่นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2560 เดิมคือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยโสมง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2521 เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ก่อสร้างเป็นเขื่อนดินความสูง กว่า 32 เมตร ความยาวกว่า 3,967 เมตร นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ยังช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรและระบบน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำเกือบทุกปี ที่สำคัญอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นแนวกันชนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้อีกด้วย
โครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชน ปัญหาการจราจร และอื่นๆเพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยปัญหาน้ำท่วม และปัญหาการจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม-วันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2560 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อออกปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ เช่น การดำเนินการเก็บผักตบชวา วัชพืช ขยะมูลฝอย สิ่งกีดขวางทางน้ำ และขุดลอกคูคลองระบายน้ำ รวมทั้งทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ วัด และ ตลาดชุมชน เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชน และขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ อีกทั้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานภาพวีดิทัศน์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมด้านกีฬาและกิจกรรมจิตอาสา เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน ด้านการออกกำลังกายและการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวมเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2561
ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการลงทะเบียนจิตอาสาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ อาคารรับรองพระราชวังดุสิต อาคาร 606 สำนักพระราชวัง โดยประชาชนจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นต่างได้รับสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ หมวก ผ้าพันคอ และสมุดบันทึกความดี เพื่อเป็นกำลังใจให้ทำความดีต่อไป หลังจากดำเนินการโครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นช่วงแรกแล้ว ได้ขยายผลโครงการดังกล่าวในช่วงที่ 2 ไปยังจังหวัดที่มีเขตพระราชฐาน และขยายผลการดำเนินการโครงการฯ ต่อไป ในช่วงที่ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
กิจกรรม “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” จากพระราชปณิธานที่หมายมั่นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่จะทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายนานัปการ มีผืนแผ่นดินให้ประชาราษฎร์ได้อยู่อาศัยประกอบสัมมาอาชีวะอย่างสุจริต และดำเนินวิถีชีวิตอย่างมีความสุข จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ฯ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดงานฤดูหนาว พระราชทานความสุขความรื่นเริงให้กับประชาชน ภายใต้ชื่องานว่า “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์-วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2561 เป็นครั้งแรก เพื่อเผยแพร่ความรู้ความงดงามของความเป็นไทย ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย ตลอดจนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการทำบุญและสานต่อบุญไปยังผู้ประสบภัยด้านต่างๆ และปีถัดมาเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่องานว่า “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2561 ถึงวันที่ 19 มกราคม พุทธศักราช 2562 ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า โดย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานในวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2561 หลังจากนั้น เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปั่นจักรยานนำประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม “ปั่นจักรยาน Bike อุ่นไอรัก” ผ่านตามเส้นทางประวัติศาสตร์ คลองที่สำคัญ เริ่มจากพระลานพระราชวังดุสิตถึงสวนสุขภาพคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจุดที่เป็นโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีประชาชนเฝ้าฯรับเสด็จ และชื่นชมพระบารมีตลอดเส้นทางทรงปั่นอย่างเนืองแน่น
ภายในงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ได้จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ที่ให้ความรู้ แสดงความผูกพัน ความรัก ความเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงสมัยรัชกาลปัจจุบันกับประชาชน ที่มาของลำน้ำคูคลองสายต่างๆ วัฒนธรรมประเพณีที่งดงามแห่งสายน้ำ เช่น ขบวนเรือพระราชพิธี งานประดิษฐ์ไทยและอาหารชาววัง บันทึกภาพกับภาพสามมิติแห่งความทรงจำ ร่วมกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และส่งเสริมความรักความสามัคคีในครอบครัว การจัดจำหน่ายสินค้าจาก ร้านจิตอาสา 904 ร้านค้าในพระบรมวงศานุวงศ์ และร้านค้ารับเชิญ อิ่มอร่อยกับอาหารในตลาดบก ตลาดน้ำ ตลาดเดินชิมริมทาง ประชาชนที่มาร่วมงานนอกจากจะได้รับความสุข สนุกสนาน ยังได้รับชมการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกวันทั่วทุกภูมิภาค ทั้งยังได้ร่วมทำบุญลุ้นรับรางวัลมัจฉาพาโชคสลากการกุศล รายได้จากการจัดงานทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะนำไปช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไป
กิจกรรมสวดมนต์ในพิธีมหามงคล บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย และกิจกรรมพิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายณ พระลานพระราชวังดุสิต ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพิธี เพื่อให้ประชาชนได้สักการะอันจะเป็นมงคลแก่ชีวิต ประเทศชาติและสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ขึ้นใหม่ จากเดิมมีบทสวดมนต์ 28 บท ทรงให้เพิ่มเติมบทสวดมนต์อีกจำนวน 9 บท รวมเป็น 37 บท โดยพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์พิมพ์บนปกหนังสือเจริญพระพุทธมนต์ดังกล่าวเพื่อพระราชทานแก่ผู้มาร่วมพิธี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ นำไปมอบให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา อย่างทั่วถึง อาทิ วันที่ 26 ธันวาคม พุทธศักราช 2560,วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2560, วันที่ 18 กันยายน พุทธศักราช 2561, วันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2560, วันที่ 15 ตุลาคม พุทธศักราช 2561, วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562, วันที่ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2562 เป็นต้น
กิจกรรมเถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานเถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทยเพื่อร่วมกันปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและอดีตพระมหาราช ส่งเสริม สืบสานศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาติ ระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน พุทธศักราช 2561 ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า อีกทั้งประชาชนยังได้ร่วมสวดมนต์ในพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย
สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สนามเสือป่า วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2561 เวลา 18.00 น. ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกสุรยุทธ์จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และพระสงฆ์ รวมจำนวน 239 รูปนำสวดเจริญพระพุทธมนต์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระชัย (หลังช้าง) มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพิธี พระชัยองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีมาแต่เดิมครั้งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ทรงเชิญไปสักการบูชาในการทำศึกสงครามทุกครั้ง โดยตั้งประดิษฐานในสัปคับช้างจึงเรียกว่า พระชัย (หลังช้าง) และทรงได้รับชัยชนะทุกครั้งจนได้เถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระชัย (หลังช้าง) จึงเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ประชาชนได้มาร่วมสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและประเทศชาติ อีกทั้ง เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี” ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9