เมื่อเวลา 17.28 น.วันที่ 30 มีนาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ณ โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ทรงรอเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน เฝ้าฯ รับเสด็จ
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง เสด็จฯ ไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ แล้วเสด็จฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวาย ราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมณี รัตนไชยานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ต่อจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างอาคารนวมิน ทรบพิตร 84 พรรษา และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารฯ พร้อมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการ "นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์" และพื้นที่ภายในอาคารฯ ตามลำดับ
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร ดุริยางค์ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ แล้วประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสร็จแล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา กราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนในการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ผู้มีอุปการคุณและผู้ทำคุณประโยชน์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก 74 ราย
เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมณี รัตนไชยานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกจากศาลาศิริราช 100 ปี ไปยังอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 1 และทอดพระเนตรนิทรรศการ "นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์" ประกอบด้วย ศูนย์รังสีรักษา ศูนย์รังสีวินิจฉัย หอผู้ป่วยวิกฤติ และระบบหุ่นยนต์จ่ายยา แล้วเสด็จไปยังชั้น B2 ศูนย์รังสีรักษา ทอดพระเนตรเครื่องมือรังสีรักษา (ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน พร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องแรกและเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง) แล้วเสด็จฯ ไปยังห้องประชุมใหญ่ ชั้น 26 ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก แล้วเสด็จเข้าห้องประทับรับรอง ประทับพักพระอริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย สมควรแก่เวลาเสด็จฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะกรรมการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เสร็จแล้วเสด็จออกไปยังชั้น G เสด็จพระราชดำเนินกลับ
"อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา" จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา และเพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชมีอาคารศูนย์การแพทย์ที่ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางอย่างครบวงจร เป็นการเพิ่มคุณภาพและศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์กับประชาชน รองรับการขยายตัวของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า โดยได้ดำเนินการก่อสร้างทดแทนกลุ่มอาคารเก่า 3 หลัง ที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 50 ปี มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ ได้แก่ ตึกหริศจันทร์ - ปาวา , ตึกผะอบ - นพ - สุภัทรา - ระเบียบ และตึกเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงิน จำนวน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้าง "อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา" เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2560 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเงิน จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ใน "อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา" เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน
นอกจากนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อสมทบทุน "อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา" มาอย่างต่อเนื่อง นับจากวันแรกที่โครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจนเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของศิริราชและประชาชาติไทย
อาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีชั้นพื้นดิน 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,551 ตารางเมตร สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพโดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี ขณะที่เตียง ICU เพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง ที่สำคัญภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษในแต่ละชั้น
- 006