4 จุดที่แตกต่าง : เปรียบเทียบเหรียญ 10 บาท ปี 2533 กับปี 2537 (ภาพจากเฟซบุ๊ค “ร้านปาหนัน จิวเวลรี่”)
กลายเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมาทันที เมื่อ นายปุญณพัฒน์ สิริเรืองวาณิช หนุ่มวัย 27 ปี เจ้าของร้าน “ปาหนัน จิวเวลรี่” ในพื้นที่ ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค “ร้านปาหนัน จิวเวลรี่” ประกาศว่าใครก็ตามที่มีเหรียญ 10 บาท รุ่นผลิตในปี 2533 ซึ่งมีเพียง 100 เหรียญในโลกอยู่ในครอบครอง ให้นำมาขายตนได้
ให้ราคางาม..เหรียญละ 100,000 บาท!!!
ทันทีที่ข่าวนี้ปรากฏ กระแส “ตื่นเหรียญ” ก็ลุกลามไปทั่วประเทศเพียงชั่วข้ามคืน ถึงขนาดมีมิจฉาชีพหัวใส นำเหรียญ 10 บาท ที่ผลิตในปี 2537 มาตะไบจนหางเลข 7 (เลข “๗” ไทย) หายไป จนดูเผินๆ คล้ายกับเลข 3 (เลข “๓” ไทย) หวังย้อมแมวขายหนุ่มนักสะสมรายนี้
ระดับการปล่อม..มีตั้งแต่เรียกว่า “แย่” ไปถึงขั้นที่เรียกว่า “เนียน” จนอาจถูกหลอกได้ถ้า “ดูไม่เป็น”!!!
ด้วยกระแสเหรียญปลอมเกลื่อนตลาดเช่นนี้ เบื้องต้น นายปุญณพัฒน์ ประกาศงดรับซื้อเหรียญ 10 บาทไว้เป็นการชั่วคราว พร้อมกับโพสต์ภาพเหรียญปลอมที่มีผู้ส่งมาให้ดูเป็นจำนวนมาก รวมทั้งบอกวิธีดูข้อแตกต่างระหว่างเหรียญปี 2533 กับปี 2537 ไว้หลายประการ ซึ่ง “สกู๊ปหน้า 5” ขอสรุปจุดสังเกต “ด้านหลังเหรียญ” ไว้ดังนี้...
1.ความห่าง-ความกว้างของตัวเลขและตัวอักษร หากเป็นเหรียญ 10 บาท ปี 2533 ตัวอักษรและตัวเลขจะชิดกันมากกว่าเหรียญ 10 บาท ปี 2537 2.ช่องว่างภายในเลข 2 (เลข “๒” ไทย) เหรียญ 10 บาท ปี 2533 จะมีช่องกว้างภายในเลข 2 กว้างกว่าเหรียญ 10 บาทปี 2537
3.ขอบสีทอง-สีเงิน หากเป็นเหรียญ 10 บาท ปี 2533 ระหว่างขอบเนื้อเหรียญสีเงินด้านนอกกับสีทองด้านใน จะมีขอบเล็กๆ กั้นกลางเป็นสีเงินดูขรุขระ แต่หากเป็นเหรียญ 10 บาท ปี 2537 ขอบกั้นกลางนี้จะเป็นสีทองทั้งหมด และ 4.ความห่างของหางของตัวเลข-ตัวอักษร กับขอบเหรียญ หากเป็นเหรียญ 10 บาท ปี 2533 หางของตัวอักษร “ป” , สระ “ไ” , เลข “๑” และ เลข “๐” จะห่างจากขอบเหรียญด้านนอกมากกว่าเหรียญ 10 บาท ปี 2537
อีกด้านหนึ่ง หลังกระแสตื่นเหรียญแพร่ออกไป นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2557 ที่ผ่านมา ระบุว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่เหรียญ 10 บาท บาทรุ่นปี 2533 จะผลิตเพียงแค่ 100 เหรียญ แต่คาดว่าน่าจะมีมากกว่า 50 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม..ในวันเดียวกัน ก็เป็น อธิบดีกรมธนารักษ์ คนเดิม ที่ยืนยันแล้วว่ามีเพียง 100 เหรียญจริงๆ!!!
สำหรับเหรียญ 10 บาทนั้น ถูกผลิตมาเพื่อใช้แทนธนบัตรใบละ 10 บาท ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ กรมธนารักษ์ ในหมวด “เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน” ระบุว่าเริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 2531 (เริ่มประกาศใช้ ณ วันที่ 13 ก.ย. 2531) ในลักษณะ “เหรียญกษาปณ์โลหะ 2 สี” มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มิลลิเมตร (มม.) น้ำหนัก 8.5 กรัม เป็นเหรียญกลม วงขอบนอกมีเฟืองจักรสลับเรียบ
ในปี 2531 ผลิตทั้งสิ้น 60,200 เหรียญ , ปี 2532 จำนวน 100,000,000 เหรียญ , ปี 2533 จำนวน 100 เหรียญ , ปี 2534 จำนวน 1,380,650 เหรียญ , ปี 2535 จำนวน 13,805,000 เหรียญ , ปี 2536 จำนวน 10,556,000 เหรียญ , ปี 2537 จำนวน 150,598,831 เหรียญ , ปี 2538 จำนวน 53,700,000 เหรียญ , ปี 2539 จำนวน 17,086,000 เหรียญ , ปี 2540 จำนวน 9,310,600 เหรียญ
, ปี 2541 จำนวน 970,000 เหรียญ , ปี 2542 จำนวน 1,030,000 เหรียญ , ปี 2543 จำนวน 1,666,000 เหรียญ , ปี 2544 จำนวน 2,060,000 เหรียญ , ปี 2545 จำนวน 61,333,000 เหรียญ , ปี 2546 จำนวน 49,292,000 เหรียญ , ปี 2547 จำนวน 62,689,000 เหรียญ , ปี 2548 จำนวน 111,491,000 เหรียญ , ปี 2549 จำนวน 128,903,000 เหรียญ , ปี 2550 จำนวน 130,202,000 เหรียญ และปี 2551 จำนวน 179,165,360 เหรียญ
อนึ่ง..การนำเหรียญ 10 บาทรุ่นปี 2537 มาดัดแปลงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าเป็นรุ่นปี 2533 อาจมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 7 ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง (หมวด 1 ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา) มาตรา 240-249 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ไม่เกิน 1 ปีถึงตลอดชีวิต หรือโทษปรับตั้งแต่ไม่เกิน 2 พันบาทถึง 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามลักษณะความผิดที่ระบุไว้ในแต่ละมาตราดังกล่าว
ล่าสุดเริ่มมีกระแส “ตื่นเหรียญ 2 บาท รุ่นสีเงิน” กันอีกแล้ว..ใครเป็นคอสะสมเหรียญ โปรดระวังของปลอม!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี