วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / สกู๊ปพิเศษ
"ตึกถล่ม"ขณะก่อสร้าง หลาย"ปัจจัยเสี่ยง"พึงระวัง

"ตึกถล่ม"ขณะก่อสร้าง หลาย"ปัจจัยเสี่ยง"พึงระวัง

วันพฤหัสบดี ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557, 02.00 น.
Tag :
  •  

            11 ส.ค. 2557..ช่วงเวลาแห่งความสุขของเทศกาลวันแม่แห่งชาติที่หยุดยาวถึง 4 วัน แต่ ณ “U Place Condotel” อาคารพาณิชย์ขนาด 6 ชั้นใกล้กับมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี (คลองหก) จ.ปทุมธานี ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่คนงานกว่า 50 ชีวิตกำลังทำงานอย่างขะมักเขม้น ไม่ทันตั้งตัว..อาคารดังกล่าวก็ถล่มลงมาทั้งหลัง คนงานบางคนต้องสังเวยชีวิต ขณะที่อีกจำนวนมากติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง

            ศพคนงานหญิงรายหนึ่ง กอด “ทารกน้อย” อายุเพียง 8-9 เดือน ไว้ในอ้อมอก นอนสิ้นใจอยู่ใต้ซากอาคาร..กลายเป็นภาพเศร้าสลดรับ “วันแม่” ของปีนี้!!!


            เหตุการณ์อาคารถล่มขณะก่อสร้างลักษณะนี้ ใช่ว่าเพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก หากย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว 15 ส.ค. 2553 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา อาคารใหม่ของคณะศึกษาศาสตร์ซึ่งกำลังก่อสร้าง ก็เกิดทรุดตัวและถล่มลงมาเช่นกัน ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ บาดเจ็บอีกกว่าสิบราย

            คำให้การของคนงานที่รอดชีวิต เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุพบว่าเหล็กที่ใช้ค้ำยันเป็นนั่งร้านบางอันเกิดคดงอ คนงานกลุ่มที่เสียชีวิตจึงเข้าไปปรับปรุงเสริมคานให้หนาขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่คนงานอีกกลุ่มกำลังเทปูนลงมาจากด้านบน ทำให้เหล็กนั่งร้านที่นำมาเสริมแบกรับน้ำหนักไม่ไหว เกิดการพังลงมาดังกล่าว

           ขณะที่ข้อสันนิษฐานของ นายทินกฤต ชุมบุญรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ช่วงชลคอนสตรัคชั่น จำกัด ในฐานะอดีตผู้รับเหมาก่อสร้างฐานรากของอาคารแห่งนี้ กล่าวว่า ในขณะเกิดเหตุนั้นอาคารอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาอีกเจ้าหนึ่ง ส่วนบริษัทของตนนั้นเลิกทำงานก่อสร้างอาคารดังกล่าวมาตั้งแต่ 2 เดือนก่อนหน้านั้น

           โดยคาดว่าสาเหตุที่อาคารถล่ม น่าจะเกิดจากที่ผ่านมามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแปลนบางส่วน จากเดิมที่เป็นการทำพื้นแบบโพสเทนชั่น ซึ่งเดิมจะต้องเทพื้นให้เรียบเสมอกัน เป็นการแก้แบบให้มีเว้าพื้นเพิ่มขึ้น แต่ผู้รับเหมาอาจไม่ได้ระวังในเรื่องนี้ จึงทำให้มีการสร้างนั่งร้านที่ไม่แข็งแรง

            นอกจากนี้ การตั้งนั่งร้านในการเทพื้นที่มีขนาดใหญ่และไม่มีคานมารองรับ ปกติแล้วจะต้องตั้งนั่งร้านจำนวนมากเพื่อให้รองรับน้ำหนักของปูนได้ แต่ครั้งนี้คาดว่านั่งร้านไม่เพียงพอหรือน้อยเกินไป ทำให้รับน้ำหนักไม่ไหวและเกิดทรุดตัวถล่มลงมาในที่สุด รวมถึงอีกสาเหตุหนึ่ง คือแรงงานซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ (กัมพูชา) ไม่มีความชำนาญทางด้านนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น

            ครั้งต่อมา 28 พ.ย. 2556 อาคารสร้างใหม่สูง 3 ชั้นแห่งหนึ่งซึ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ใกล้กับโรงเรียนบ้านหลวง หมู่ที่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พังถล่มลงมา ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติที่มารับจ้างก่อสร้างอาคารในประเทศไทย สาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานไว้ 2 ประการคือ 1.ปูนที่ใช้ในการก่อสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว และ 2.ก่อสร้างนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ไหล่เขาซึ่งมีความลาดชันสูง

             และในปี 2557 เหตุการณ์ที่คลองหกนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของปี ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ก.พ. 2557 อาคารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณ ถ.เลียบคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง เกิดพังถล่มลงมา ในครั้งนั้นมีคนงานเสียชีวิต 10 ศพ บาดเจ็บอีก 18 ราย

            ครั้งนี้ต้นตอของการถล่ม อยู่ที่ “ปล่องลิฟต์” หรือ “สลิปฟอร์ม” ที่อยู่สูงจากพื้นขึ้นไปราว 25-30 เมตร โดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยหลังเข้าตรวจสอบภายในพื้นที่ ว่าสาเหตุอาจเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างดำเนินการก่อสร้าง หรืออาจจะมีสิ่งใดไปกระแทกด้านบนของปล่องลิฟต์จนทำให้หักโค่นลงมา

           สอดคล้องกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. ที่กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุที่ปล่องลิฟท์หรือสลิปฟอร์มหักหล่นกระแทกแผ่นทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร 1 และอาคาร 2 นั้น เนื่องจากปล่องลิฟต์นั้นก่อสร้างลักษณะที่สูงขึ้นไปจากพื้นถึง 26 เมตร เป็นลักษณะคล้ายไม้บรรทัด 2 อัน ยื่นขึ้นไปตามแนวสูงรวมทั้งค่อนข้างบาง และการใช้เหล็กค้ำยันที่อาจจะห่างจนเกินไปไม่มีลักษณะของการไขว้เพื่อความแน่นหนา ประกอบกับอยู่ในพื้นที่ริมทะเลซึ่งมีลมพัดแรงตลอดเวลา อาจมีผลกระทบทำให้ข้อต่อของเหล็กค้ำยันไม่มั่นคงจนหักกลางลงมาได้

           เช่นเดียวกับ นายวิรัช ก้องมณีรัตน์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ที่ระบุว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากแรงลมที่มาปะทะกับตัวผนังของโครงสร้างช่องบันไดที่มีความสูง 26 เมตร ซึ่งผนังดังกล่าวสร้างเป็นแท่งผนัง 2 ด้าน โดยมีแท่งเหล็กค้ำยันแนวนอนระหว่างผนังสองด้านเป็นช่วงๆ ส่วนด้านบนเป็นสลิปฟอร์ม หรือ แบบหล่อแนวดิ่งสำหรับหล่อคอนกรีต

           ดังนั้นเมื่อแรงลมปะทะนานๆ เข้า อาจทำให้จุดเชื่อมบางจุดหลุดเลื่อนและพังถล่มลงมาได้ แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้เร่งรัดก่อสร้างจนละเลยมาตรการความปลอดภัย และก่อนหน้านี้ ไซต์งานดังกล่าวที่ดำเนินการมาราว 2 ปี ก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นแต่อย่างใด

           นอกจากนี้ยังมีเหตุอาคารที่กำลังก่อสร้างเป็นโรงแรมสูง 6 ชั้น ข้างธนาคารไทยพาณิชย์ ถ.พหลโยธิน เขตเทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ถล่มลงมาเมื่อคืนวันที่ 13 พ.ค. 2557 ขณะคนงานกำลังเทปูน เคราะห์ดีครั้งนี้ไม่มีผู้ใดเสียมีชีวิต มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยไม่กี่รายเท่านั้น ส่วนสาเหตุคาดว่าเกิดจากการทรุดตัวลงของดินและโครงสร้างของอาคาร เนื่องจากผลของแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ ณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อ 5 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา

           ล่าสุด 13 ส.ค. 2557 รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. สรุปสาเหตุของอาคาร U Place Condotel ย่านคลองหกถล่มลงมา ว่ามีความเป็นไปได้ที่เสาอาคารมุมอาคารด้านหนึ่ง ซึ่งในอาคารที่สร้างเสร็จแล้วมีร่นขอบแผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงท้องเรียบเข้าภายในอาคาร เพื่อเมื่อติดตั้งแผงคอนกรีตสำเร็จรูปแล้วจะเติมเต็มตามขอบแผ่นพื้น ซึ่งการดำเนินการนี้อาจมีผลกระทบกับกำลังรับแรงเฉือนเจาะ (punching shear) ของแผ่นพื้น

           ประกอบกับเสามุมรับน้ำหนักบรรทุกน้อย แต่ต้องรับการบิด (torsion) ทั้งสองแกนของเสา ซึ่งประกอบกับการเทคอนกรีตบริเวณนั้น อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่ำทำให้คอนกรีตสดอาจกองอยู่บริเวณนั้น ทั้งนี้กรณีที่มีนั่งร้านค้ำยันในการก่อสร้างแผ่นพื้นนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้เสาต้นดังกล่าวมีการสูญเสียตำแหน่งอย่างมาก และพังทลายลง จากนั้นน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดที่เสาต้นนี้เคยรับจะส่งไปที่เสาข้างเคียง และมีการวิบัติอย่างต่อเนื่อง (progressive collapse) จนอาคารทั้งหลังถล่มลงมาทั้งหมด (total collapse)

           จากทั้งหมดนี้..เราเห็นอะไรบ้าง?

           ประการแรก..การวิเคราะห์พื้นที่-ภูมิประเทศอย่างละเอียด ทั้งก่อนและระหว่างก่อสร้างเพื่อหาทางป้องกันมีมากน้อยแค่ไหน? เห็นได้จากกรณีของอาคาร รพ.รามาฯ ที่ จ.สมุทรปราการ ที่แม้แต่ผู้รับผิดชอบโครงการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญยังระบุตรงกัน ว่าน่าจะเกิดจากกระแสลมแรงพัดเข้าปะทะอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้ทะเล หรือกรณีของอาคารที่พัก 3 ชั้น ใน จ.เชียงใหม่ ที่ภูมิประเทศเป็นไหล่เขามีความลาดชัน

           ประการที่สอง..วัสดุอุปกรณ์มีความพร้อมแค่ไหน? ทั้งกรณีของอาคาร ม.บูรพา และที่คลองหก จ.ปทุมธานี มีข้อสันนิษฐานว่าจำนวนนั่งร้านอาจจะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับน้ำหนักปูนที่เทลงมา และกรณีของอาคาร รพ.รามาฯ ที่ จ.สมุทรปราการ ที่พบว่าการก่อสร้างปล่องลิฟต์นั้นการวางเหล็กค้ำยันมีลักษณะที่ไม่แน่นหนาเพียงพอ

           ประการที่สาม..การประสานงานระหว่างผู้รับเหมารายเก่ากับรายใหม่ หรือระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนต่างๆ ของอาคารมีการทำความเข้าใจรายละเอียดของอาคารร่วมกันเพียงใด? โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแบบแปลนการก่อสร้าง ทั้งนี้ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมยากที่จะรู้ได้ว่าอาคารหนึ่งหลัง ใช้ผู้รับเหมากี่ราย และรายใดบ้างในงานก่อสร้างแต่ละส่วนของอาคารนั้น

            ประการที่สี่..แรงงานก่อสร้าง มีความเข้าใจในงานก่อสร้างแต่ละแบบหรือไม่? มากน้อยเพียงใด? เช่นกรณีของอาคาร ม.บูรพา ที่อดีตผู้รับเหมาข้างต้น ระบุว่าอีกปัจจัยที่ทำให้อาคารถล่ม คือแรงงานอาจไม่มีความชำนาญในการก่อสร้างลักษณะนี้เพียงพอ

            ทั้งหมดนี้เรามิได้ต้องการจะกล่าวโทษว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการให้เป็นอุทาหรณ์ ว่างานก่อสร้างเป็นงานหนึ่งที่ “เสี่ยงอันตราย” ดังนั้นขั้นตอนต่างๆ จึงควรทำอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อความปลอดภัยไม่ว่าของคนงานก่อสร้างที่กำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน หรือประชาชนคนทั่วไปที่จะเข้ามาใช้สอยอาคารนั้นในอนาคต

            เพราะ “ชีวิต” ที่สูญเสียไป..แม้จะใช้เงินเยียวยาสักเท่าใด ย่อมไม่อาจ “เรียกคืน” หรือ “ทดแทน” ได้ และต้องไม่ลืมว่า..ไม่ว่าชีวิตนั้นจะเป็นของใคร ยากดีมีจนเพียงใด ล้วนมี “คนที่รัก” รอคอยอยู่ทั้งสิ้น!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

‘สว.โชคชัย’ ท่องไม่รู้-ไม่เห็นหมายเรียก ‘คดีฮั้วสว.’ ขอดูรายละเอียดก่อน

'รุจิระ บุนนาค' เขียนบทความ 'ความต่างของ สิงคโปร์ กับ ไทย'

'ในหลวง-พระราชินี'เสด็จฯ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2568 (ประมวลภาพ)

ผีชิงไก่!ควงคว้าชัยล่าแชมป์ยูโรป้า ลีก

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved