“..แนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือโครงการผูกปิ่นโตข้าว ที่ได้จากแรงบันดาลใจจากกิจกรรมของโรงเรียนแห่งเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ต้องการให้เด็กๆ ได้มีที่นาเพื่อเรียนรู้ถึงการปลูกข้าวและวิถีชีวิตของชาวนาไทย ผลผลิตที่ได้ ทางโรงเรียนก็รับซื้อจากชาวนาที่รับจ้างปลูกและดูแลนาข้าวมาทั้งหมดโดยนำมาขายที่สหกรณ์ของโรงเรียน..
..สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้มากมายครับ ได้แก่ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาด้วยการเชื่อมโยงลูกค้ากับผู้ผลิตโดยตรง เป็นการลดต้นทุนโดยการใช้สารธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืชและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้สามารถตัดวงจรขายข้าวได้เงินแล้วต้องเอามาใช้หนี้ในการ ซื้อปุ๋ย–ซื้อยาที่มีราคาแพง และเป็นอันตรายนะครับ..”
ความตอนหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อ 17 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา ระบุถึงแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาวนา” ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุน เป็นหนี้สินซ้ำซากมาตลอด
สาเหตุสำคัญ..ชาวนาส่วนใหญ่เป็นหนี้ “ปุ๋ย-ยา” หรือสารเคมีทางการเกษตร ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีทักษะด้าน “การตลาด” ไม่อาจหาลูกค้าได้เอง ต้องพึ่งแต่พ่อค้าคนกลาง แล้วก็ถูกกดราคาอยู่เสมอ!!!
โครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว” เกิดขึ้นได้อย่างไร? ต้องยอมรับว่าที่มานั้นเริ่มต้นจาก “พลังเล็กๆ” ของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมีสมาชิกเริ่มต้นเพียง 13 คนเท่านั้น โดยถือฤกษ์ “วันแห่งความรัก” 14 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลจาก Facebook เพจ “ผูกปิ่นโตข้าว” อธิบายที่มาที่ไปของโครงการ เริ่มต้นจากคำถามว่า “ทำไมคนไทยต้องทนกับข้าวที่ใช้สารเคมี?” ด้านหนึ่งผู้บริโภคต้องกินข้าวที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผู้ผลิตหรือชาวนาต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าวที่สูง กลายเป็นวัฏจักรหนี้สินไม่รู้จบ อีกทั้งสารเคมีเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งน้ำและดินในระยะยาว รวมถึงตัวชาวนาเองด้วย
ที่เป็นตลกร้าย..ข้าวปลอดสารเคมีคุณภาพเกรดเอ ล้วนส่งไปขายต่างประเทศ ส่วนคนไทยเจ้าของแผ่นดินที่ปลูกข้าวแท้ๆ กลับต้องทนบริโภคข้าวที่ปนเปื้อนสารเคมีครั้งแล้วครั้งเล่า!!!
แนวคิดโครงการผูกปิ่นโตข้าว คือการที่นำพา “เจ้าสาว” หรือผู้บริโภค ที่ต้องการรับประทานข้าวอินทรีย์ซึ่งปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี แต่ไม่รู้ว่าจะหาได้ที่ไหน ไปพบกับ “เจ้าบ่าว” หรือชาวนาที่ต้องการเปลี่ยนมาปลูกข้าวปลอดสารเคมี แต่ไม่มั่นใจว่าปลูกแล้วจะนำไปขายใคร
สาเหตุสำคัญที่ต้องจับคู่..1.การเปลี่ยนจากปลูกข้าวด้วยสารเคมีมาเป็นข้าวอินทรีย์ ในระยะแรกไม่ใช่งานง่าย ต้องอาศัยความกล้าหาญและมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากชาวนามีหลักประกันว่าเมื่อทำแล้วจะมีแหล่งจำหน่ายแน่นอน ก็จะมีกำลังใจในการเปลี่ยนแปลง
2.การจับคู่โดยตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เป็นการปิดช่อง “พ่อค้าคนกลาง” ทำให้ราคาข้าวอินทรีย์ไม่สูงจนเกินไป
ที่ผ่านมากระบวนการขนส่ง จัดเก็บและวางจำหน่ายทำโดยคนกลาง ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น หากเป็นการผลิตเอง สีเอง
โดยกลุ่มชาวนา ก่อนส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ประชาชนคนทั่วไปย่อมเข้าถึงข้าวคุณภาพดีได้ง่ายขึ้น
รัชนีบูรณ์ ชมภูผล ชาวนารายหนึ่งในพื้นที่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เล่าว่า ได้ยินชื่อโครงการดังกล่าวเมื่อครั้งไปอบรมเรื่องการทำนาอย่างลดต้นทุน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วได้พบกับ “กลุ่มชาวนาพาสุข” กลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวปลอดสารเคมี จึงขอเข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ได้รู้จักกับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อข้าวอินทรีย์
รัชนีบูรณ์เล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงกันได้ ผู้บริโภคจะมาสำรวจที่นาของกลุ่ม รวมทั้งข้าวที่ปลูกก็ต้องถูกส่งไปตรวจสอบยังห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อรับรองผลว่าเป็นข้าวปลอดสารเคมีจริงๆ ดังนั้นจึงให้วางใจได้ว่าข้าวในโครงการนี้เป็นข้าวปลอดภัยแน่นอน
“ม.บูรพา เขามีเครื่องมือ ที่เขาทำที่ ม.บูรพา เพราะมีคนทำวิจัยงาน ของกลุ่มพี่นะเขาจะมีดอกเตอร์อยู่คนเขาเป็นคนรวบรวมวิจัยเกี่ยวกับข้าว ข้าวพื้นเมือง ข้าวอะไรๆ ทีนี้ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่ากลุ่มพี่ก็คือ ในกลุ่มจะเอาไปตรวจที่ ม.บูรพา เพื่อให้เคลียร์ชัดว่ากลุ่มเราของใครคนไหนไปทำปลอดสารไม่ปลอดสาร กลุ่มของเขาก็ดู เขาต้องแน่ใจว่าเป็นข้าวปลอดสารจริงไหม? มาดูแปลงนาแต่ละแปลงๆ เพราะว่าต้องเป็นข้าวอินทรีย์จริงๆ ของที่ได้นะ เอาไปให้ที่ ม.บูรพา ตรวจเช็คว่ามีสารปลอมปนอยู่ไหม เพื่อเราต้องการการันตีไง” ชาวนารายนี้ กล่าว
คำถามที่น่าสนใจ..แม้จะมีชาวนาจำนวนหนึ่งที่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ยังมีชาวนาอีกมากที่ยังใช้สารเคมีปลูกข้าว ดังนั้น จะระวังไม่ให้มีการปนเปื้อนอย่างไร? หากเป็นที่นาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือแม้กระทั่งอยู่ติดกันแต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
รัชนีบูรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาใช้วิธีแบ่งพื้นที่นาเป็น 2 กรอบสี่เหลี่ยมซ้อนกัน “กรอบวงนอก” ปลูกข้าวทั่วไปไว้เป็น “แนวกันชน” (Buffer Zone) สารเคมีที่อาจมาจากนาของเกษตรกรรายอื่น โดยข้าวที่อยู่รอบนอกนี้จะเก็บไว้หรือขายในลักษณะพันธุ์ข้าวเท่านั้น ส่วน “กรอบวงใน” จะปลูกข้าวปลอดสารเคมี ไว้ขายกับโครงการผูกปิ่นโตข้าว
“ตอนนี้พื้นนาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำเป็นเหมือนไข่ดาว ข้างนอกคือเราปลูกข้าวธรรมดา อาจจะปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่มันจะเป็นกันชนของรอบนอกที่เขาฉีดยา ฉีดเคมี ส่วนเราไม่ใช้ยาทั้งหมด รอบนอกเราปลูกเป็นกันชน แต่รอบในนี้เราปลูกเป็นปลอดสารเพื่อไม่ให้สารเคมีที่มันละอองเหลือจากที่นั่นมันมาอยู่ มากระทบกับเรา ทีนี้ที่ข้างนอกเราอาจจะปลูกเป็นพันธุ์ข้าว แต่ข้างในนี้ปลูกเพื่อจะเอาไว้ขายที่ผูกปิ่นโตไง”
ชาวนาจาก จ.พิษณุโลก รายนี้ อธิบาย อนึ่ง..ในอนาคตหากเป็นไปได้ ทางกลุ่มก็อยากมีโรงสีข้าวและรถเกี่ยวข้าวเป็นของตนเองอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนจะไม่มีข้าวที่มีสารเคมีเจือปน อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่าโครงการผูกปิ่นโตข้าว อาจไม่ช่วยให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ทันตาเห็น
แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นอีกหนึ่งหนทาง สำหรับเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนมาทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี จะได้มีความเชื่อมั่นว่าทำแล้วจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค ทั้งนี้หากผ่านระยะแรกไปแล้ว เกษตรอินทรีย์ถือเป็นการใช้ทรัพยากรทั้งดิน น้ำ และพันธุ์ข้าวอย่างยั่งยืน และเป็นการลดต้นทุนได้จริงในระยะยาว
“มันอาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันก็เปิดโอกาสให้เป็นทางออกในเรื่องของราคา คือพี่จะพยายาม อันนี้ก็คือพี่ก็สีข้าวจากโรงสีที่ไว้ใจได้ ที่เขาสีเป็น เป็นโรงสีเก่า ที่ว่าคุยกันได้ ไม่ปลอมปนกับข้าวอื่นๆ และตอนนี้กลุ่มพี่เดี๋ยวจะมาทำโรงสีกันเอง แล้วก็แพ็กข้าวเอง สีเฉพาะคนในกลุ่ม แล้วกลุ่มเราก็จะซื้อรถบดข้าวเอง แล้วเหมือนกับว่ารับจ้างภายในกลุ่ม ทำโรงสีเองเพื่อจะรับสีข้าวให้คนในกลุ่ม
เพราะว่าตอนนี้ปัญหาที่เกิดก็คือว่า รถเกี่ยว พี่ไม่ต้องไปจ้างรถเกี่ยวให้ล้างท่อให้หมดก่อนเกี่ยว เพื่อที่ไม่ให้เศษข้าวในท่อ
มีสารเคมีจากที่อื่นปนมา จากนั้นพี่ก็ต้องมาทำลานตากเอง และพี่ก็ต้องไปจ้างโรงสีที่อยู่ในกลุ่มพี่ หรือโรงสีที่เขาสีแต่ข้าวปลอดสาร พอสีเสร็จพี่ก็จะมาแพ็กเอง เพราะฉะนั้นข้าวผูกปิ่นโตเนี่ย เขาก็เลยชอบกลุ่มเรา ก็คือว่าเขาอยากให้เรารวมกลุ่มกันให้มันเข้มแข็งไง เพื่อที่มันจะครบวงจรอย่างแท้จริง” รัชนีบูรณ์ ฝากทิ้งท้าย พร้อมกับบอกว่า ปัจจุบันข้าวในโครงการ ขายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-80 บาท ซึ่งก็มีผู้สนใจซื้อไปบริโภคพอสมควร
แม้โครงการผูกปิ่นโตข้าวจะเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ก็ยังเป็นเพียงโครงการเล็กๆ ของภาคประชาชนเท่านั้น เราจึงหวังว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้ามาส่งเสริมให้แนวคิดนี้แพร่หลายไปทุกพื้นที่ อนึ่ง..สถานที่ราชการหลายแห่งก็จำเป็นต้องใช้ข้าวเพื่อเลี้ยงดูคนเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยทหาร เป็นต้น ซึ่งน่าจะนำร่องเป็นแบบอย่างได้
ดูผิวเผินแม้ข้าวอินทรีย์อาจมีราคาสูงกว่าข้าวเคมีอยู่บ้าง แต่อย่าลืมว่าสุขภาพดีของคนไทย โดยเฉพาะเยาวชน เป็นสิ่งที่รัฐพึงดูแลส่งเสริมไม่ใช่หรือ? อีกทั้งถึงจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง นั่นก็เป็นไปเพื่อให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ ในฐานะอาชีพหนึ่งที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้ทำหน้าที่อย่างตั้งใจจริง โดยไม่ต้องแบมือรับการช่วยเหลืออยู่ร่ำไป
ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณกับเรื่องไม่เป็นเรื่องมาเยอะแล้ว ครั้งนี้จะใช้เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยทั้งแผ่นดิน และเพื่อให้ชาวนาไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนบ้าง..มันจะเป็นไรไป!!!
แก้วกานดา ตันเจริญ
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี