ปัจจุบันธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่กำลังเติบโตขยายเครือข่าย เช่นเดียวกับเทคโนโลยีในการส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ก้าวสู่ “ยุค 4G” เพื่อรองรับปริมาณผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าปี 2559 จะมีจำนวนการลงทะเบียนผู้ใช้มือถือ(subscriber) เติบโตกว่า 1.3 พันล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้การจราจรทางข้อมูลทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 100%
ภายใต้อัตราการขยายตัวที่ว่านี้ “สถานีเครือข่าย” เพื่อเป็นต้นทางในการแพร่สัญญาณ จึงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ขณะที่การรับส่งสัญญาณยังต้องเข้าถึงทุกซอกทุกมุมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่...สิ่งที่ตามมา คือ ผลกระทบจาก “คลื่นวิทยุ” หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่กลายเป็นเรื่อง“อันตราย” ระดับสากล มีการถกเถียงในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
ข้อมูลของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. ระบุว่า “คลื่นวิทยุ”(Radio Signal) ที่ถูกปล่อยออกมาจากสถานีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Base stations ที่มีสัญญาณแรงในระดับสูงสามารถสร้างความร้อน และเป็นสาเหตุ
สำคัญที่ทำให้ “เนื้อเยื่อ” ของมนุษย์ถูกทำลายได้ ซึ่งเป็นผลกระทบทางชีววิทยา หรือ Biological Effect ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา เนื่องจากถูกกระตุ้น หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และ biological effect occurs จะกลายเป็นความ “เสี่ยง” ต่อสุขภาพ หรือ Health Hazardต่อเมื่อการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยานั้นนำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
คำถาม คือ ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อให้เกิด BiologicalEffect หรือไม่ และถ้าก่อให้เกิด Biological Effect จริง สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่แรงพอที่จะนำไปสู่ HealthHazard หรือไม่.???
ข้อมูลของ กสทช. พบว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามี 2 ประเภท คือ 1.คลื่นนอนไอโอไนซ์ (Non-ionizing radiation)ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อ หรือเซลล์ของมนุษย์ โดยให้เพียงความร้อนเท่านั้น เช่น คลื่นวิทยุ FM/AM และคลื่นจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ สถานีฐานโทรทัศน์ เป็นต้น และ2.คลื่นไอโอไนซ์(Ionizing radiation) ซึ่งมีผลกระทบต่อเซลล์ เช่น รังสีเอกซเรย์ที่ใช้ในวงการแพทย์
“อันตราย” ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นอยู่กับระดับ “กำลัง” ถ้ากำลังมากจะทำให้ความร้อนมาก ซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชนิดจะมีกำลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแตกต่างกัน เช่น คลื่นวิทยุFM รัศมี 50 กิโลเมตร มีระดับกำลัง 100 กิโลวัตต์,เตาไมโครเวฟ มีระดับกำลัง 1 กิโลวัตต์, “โทรศัพท์เคลื่อนที่” ระบบ 2G มีระดับกำลัง 2 วัตต์ แต่ระบบ 3G มีระดับกำลังประมาณ 0.8 วัตต์ ถ้าระบบ 4G ระดับกำลังจะน้อยลงอีก
ทั้งนี้ การปล่อยคลื่นสัญญาณโทรศัพท์จากสถานีฐานนั้น เครื่องรับส่งสัญญาณจะอยู่ด้านบนสุดของเสา ซึ่งระยะห่างจากเสามีผลต่อระดับกำลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้รับ-ส่งสัญญาณ ระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเสาสัญญาณ ถ้าอยู่ “ไกล” เสา ก็จะใช้กำลังมากกว่า แต่จะไม่เกินกำลังสูงสุดที่กำหนดไว้ของอุปกรณ์คือ กรณีโทรศัพท์ระบบ GSM มีกำลังสูงสุด 2 วัตต์ จะส่งสัญญาณไปยังเสาสัญญาณได้สูงสุด 2 วัตต์ แต่หากอยู่ใกล้เสาสัญญาณจะใช้กำลังส่งคลื่นไม่ถึง 2 วัตต์
อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่มักกลัว “เสาส่งสัญญาณ” ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าจะกลัว “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” จากเครื่องรับ-ส่งสัญญาณ ทั้งที่ในความเป็นจริง คือ“เครื่องรับ-ส่งสัญญาณ” มีขนาดไม่ใหญ่ แต่เป็นตัวปล่อย “คลื่นอันตราย” ส่วนเสาสัญญาณที่มีขนาดใหญ่เพราะต้องการให้เครื่องรับ-ส่งสัญญาณอยู่สูงๆ เพื่อส่งสัญญาณได้ไกล และยิ่งอยู่สูงจะยิ่งปลอดภัยจากความแรงของคลื่นอันตรายอีกด้วย
ขณะที่ “สถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ VS สถานีฐานโทรทัศน์” ที่มีระดับกำลังส่งเดียวกัน กำลังการแพร่ที่ใกล้กับสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะมีค่าน้อยกว่าสถานีฐานโทรทัศน์เป็นอย่างมาก โดยสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะมีความหนาแน่นมากกว่าเครือข่ายของสถานีถ่ายทอดสัญญาณวิทยุเป็นอย่างมาก ดังนั้นสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่จะใช้กำลังส่งน้อยกว่าสถานีถ่ายทอดสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์อย่างมาก และสามารถติดตั้งในเขตพื้นที่ชุมชนได้อย่าง “ปลอดภัย”
“ดร.เจษฎา ศิวรักษ์” เลขานุการประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. “ไขข้อข้องใจ” ในประเด็น “เสาส่งสัญญาณ” โทรศัพท์เคลื่อนที่ใกล้ตัวอันตรายจริงหรือไม่ว่า ความเข้าใจของคนทั่วไปมักกังวลว่าการอยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณจะเกิดอันตราย แต่ความจริงอันตรายไม่ได้อยู่ที่เสาส่งสัญญาณ แต่อยู่ที่ “เสาอากาศ” ที่อยู่บนเสาส่งสัญญาณมากกว่า ที่ผ่านมายังไม่พบว่าคลื่นความถี่สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตรง เป็นแต่เพียงมีความ “เสี่ยง” ต่อสุขภาพเท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความแรงของสัญญาณด้วยว่าจะมีผลทางชีวภาพกับร่างกายหรือไม่
“ข้อสงสัย” ที่พบบ่อย เช่น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ใน “พื้นที่ปิด” มีอันตรายหรือไม่ ความจริงพื้นที่ปิด เช่น ลิฟต์ หรือรถไฟฟ้า มีระยะห่างจากสถานีฐานมาก ทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องเพิ่มความแรงในการส่งสัญญาณมากขึ้น...โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสาเหตุให้เกิด “มะเร็ง” ความจริงแล้วอันตรายจากรังสี หรือสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังปลอดภัยกว่าแสงอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ และรังสีเอกซเรย์...“ห้ามใช้” โทรศัพท์เคลื่อนที่ใน “โรงพยาบาล” ความจริงห้ามใช้เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกับอุปกรณ์วัด “คลื่นหัวใจ” ไม่มีอันตรายใดๆ...ฯลฯ
“คลื่นวิทยุ หรือคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่มีผลกระทบกับร่างกายโดยตรง จุดที่มีความเสี่ยง คือ เสาอากาศที่อยู่บนเสาส่งสัญญาณหรือสถานีฐาน ในระดับสัญญาณย่านความถี่เดียวกันเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลอดภัยกว่าเสาส่งสัญญาณโทรทัศน์ ที่มีขนาดเสาเท่ากัน นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานว่าคลื่นวิทยุเป็นอันตราย มีเพียงส่งผลกระทบทางชีวภาพ ประเด็นมีความเสี่ยงยังไม่มีผลกระทบทันทีขึ้นอยู่กับการสะสมจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพต่อร่างกาย” ดร.เจษฎา กล่าว
นี่คืออีกหนึ่งข้อเท็จจริงเรื่อง “อันตราย...เสาสัญญาณมือถือ” ที่ กทค. และ กสทช. ออกมา “ไขข้อข้องใจ”เพื่อหวังให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องอันตรายจากเสาส่งสัญญาณยังเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบทางสุขภาพ หลายพื้นที่ “รุนแรง” ถึงขั้น “ต่อต้าน”และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ สวนทางกับ “โครงข่าย”ที่กำลังพัฒนาไปไกล เพื่อรองรับเทคโนโลยีระบบ 4G ซึ่งทำให้ต้องตั้ง “เสาส่งสัญญาณ” มากขึ้น และอาจนำมาซึ่งการ“ขัดขวาง” จากประชาชนในชุมชนที่มองว่าจะได้รับผลกระทบถือเป็น “การบ้าน” ที่อาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยี 4G “สะดุด” ซึ่งทุกหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกัน “ชี้แจง” ให้ประชาชนเข้าใจ ที่สำคัญเรื่องนี้ “ช้า”ไม่ได้ ต้องชี้แจงแบบ...
“เร็ว...แรง...ทะลุทะลวง”!!!
น้ำฝน บำรุงศิลป์
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี