“กลับบ้านนอก-เข้าเมืองกรุง” ภาพที่เห็นได้ชินตาตามสถานีขนส่งต่างๆ
“พ่อ!..พ่อไม่กลับไปไม่ได้หรือ?”
แม้จะเป็นเพียงประโยคคำถามสั้นๆ ที่ปรากฏในโฆษณากิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง แต่เชื่อเหลือเกินว่าคง “สะเทือนอารมณ์” สำหรับผู้ที่ได้ยินอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะกับคนวัยทำงาน “ผู้เป็นพ่อแม่” ที่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิดไปหารายได้ในเมืองใหญ่ และกับเด็กตัวน้อยๆ “ผู้เป็นลูก” ที่คุ้นเคยกับการได้เห็นหน้าพ่อแม่ของพวกเขาเพียงปีละ 2 ครั้ง คือช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่กับสงกรานต์เท่านั้น
เรื่องราวการย้ายถิ่นฐานทำนองนี้ ในทางวิชาการได้มีผู้ศึกษาผลกระทบมากมาย เช่น งานวิจัย “เด็กเล็กๆ เป็นอย่างไร เมื่อพ่อแม่ย้ายถิ่น” ผลงานของ รศ.ดร.อารี จำปากลายนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่เติบโตมาแบบห่างไกลพ่อแม่มีเพียงปู่ย่าตายายเลี้ยงดู พบว่ามีพัฒนาการตามวัยล่าช้ากว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
เช่นเดียวกับงานวิจัย “สถานการณ์การเลี้ยงดูหลานในครัวเรือนข้ามรุ่นของประเทศไทย” ผลงานของ กาญจนา เทียนฉาย, วรรณี หุตะแพทย์ ทั้ง 2 เป็นนักปฏิบัติการวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดเผยในงานประชุมวิชาการ “ประชากรและสังคม 2558” เมื่อกลางปี 2558 ณ โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กทม. สะท้อนภาพอีกด้านหนึ่ง โดยกล่าวถึงมุมมองของประชากรสูงวัย ที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กๆ แทนพ่อแม่ของพวกเขา
งานวิจัยชิ้นนี้ ทำการสำรวจโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็น “ปู่-ย่า-ตา-ยาย” อายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 42 ครัวเรือน ใน จ.พิษณุโลก ขอนแก่น และกาญจนบุรี ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2556 เบื้องต้นพบว่า เกือบครึ่งหรือ 20 ครัวเรือน
เป็นการเลี้ยงลูกของลูกสาวของตน ขณะที่หลานอายุน้อยที่สุด อยู่ที่ 7 เดือน และมากที่สุดคือ 28 ปี เฉลี่ยแล้วกลุ่มตัวอย่างต้องเลี้ยงหลาน 2 คนต่อครัวเรือน
เมื่อถามถึงรายได้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือ 19 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมา 6 ครัวเรือน ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น ขายของชำหรือขายอาหาร และ 5 ครัวเรือนทำงานจักสานหรือทอผ้า แต่ที่น่าเป็นห่วง คือมีถึง 12 ครัวเรือนที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมักมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีรายได้เพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กับเงินของลูกที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ต่างๆ ส่งกลับมาเท่านั้น
จุดเริ่มต้นของการจากบ้านเกิดไปเผชิญโชคในต่างถิ่น..ผู้วิจัยทราบจากคำบอกเล่าของกลุ่มตัวอย่างว่า ส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจเองของลูก อย่างไรก็ตาม พ่อแม่เองก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะมองแล้วว่าเป็นหนทางที่จะทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จะมีห่วงบ้างก็แต่เพียงกลัวว่าลูกจะลำบากกว่าตอนอยู่ที่บ้านเกิดเท่านั้น
“ก่อนจะไป เขาก็บอกว่าจะไปทำงานกรุงเทพฯ เพราะรายได้บ้านเรามันไม่เยอะ เขาก็จะไปทำงานมาช่วยเหลือครอบครัวนี่แหละ” กลุ่มตัวอย่างชาวขอนแก่นรายหนึ่ง ระบุ
เมื่อพ่อแม่หายหน้าไป ผู้เป็นปู่ย่าตายาย จึงต้องเลี้ยงดูประคับประคองเด็กน้อยเหล่านี้ด้วยตนเอง พ่อแม่บางรายก็ส่งเงินมาให้สม่ำเสมอ แต่บางรายหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะส่งมาไม่ต่อเนื่องบ้าง หรือแม้แต่หายไปดื้อๆ ก็มี และในจำนวนนี้ ถึงจะส่งมาสม่ำเสมอ แต่ก็ส่งมาเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับภาระที่ต้องดูแล
“เขาว่าเดี๋ยวผมได้เงินผมก็จะส่งให้ แต่เงินเขาก็ได้น้อย ไปหางานลำบาก บางทีเขาก็ขาดเงิน บางทีก็ส่งมาหนึ่งพันบ้าง สองพันบ้างอย่างนี้ ลูกตั้งสองคนอย่างนี้บางทีก็ไม่ทันกิน ยืมเขาแถวนี้อีก เราไม่มี”
“เขาไม่ได้พูดอะไรเลย เรามีแต่บอกว่าแล้วส่งสตางค์ให้แม่บ้างนะ เลี้ยงลูกให้นะ ไม่มีอะไรให้เด็กกินนะ เขาก็ว่าได้ๆ รับปากว่า
ได้ๆ แค่นั้น แล้วเขาก็นานไปอีก ไม่มีติดต่อกลับมาเลย”
ทั้ง 2 เรื่องเล่านี้มาจากกลุ่มตัวอย่างใน จ.พิษณุโลก ซึ่งเมื่อไปดูหน้าที่ของผู้สูงอายุเหล่านี้ ต้องบอกว่า “หนักอึ้ง” กว่าเม็ดเงินที่พ่อแม่ส่งมาให้มากมายหลายเท่าตัว เพราะต้องดูแลหลานทั้ง ด้านร่างกาย เช่น การกิน การนอน ไปรับไปส่งที่โรงเรียน รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาด้วย และทั้ง ด้านจิตใจ เช่น การอบรมสั่งสอนและปลูกฝังจริยธรรม
“สมัยนี้ไม่เรียนไม่ได้ ถ้าไม่เรียนจะลำบากเหมือนพ่อ พ่อเขาจบแค่ ป.6 จะจับปากกาด้ามเล็กหรือด้ามใหญ่ ด้ามใหญ่คือจับจอบ ต้องถางหญ้าต้องแบกหาม ผมพูดแค่นี้ ถ้ารักเรียนก็จับปากกาด้ามเล็กอยู่ในร่ม ถ้าไม่รักเรียนก็คือด้ามใหญ่ไปตากแดด ก็เลือกเอาคิดเอา” กลุ่มตัวอย่างรายหนึ่งจาก จ.กาญจนบุรี กล่าวถึงคำที่ตนมักพร่ำสอนหลานอยู่เสมอ
แต่ก็ใช่ว่าปู่ย่าตายายจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูอย่างเดียว ผู้วิจัยพบว่า เมื่อหลานเติบโตขึ้น ก็ทำหน้าที่ดูแลปู่ย่าตายายตอบแทนบ้าง เช่น หากมีน้องก็จะช่วยดูแลน้อง ช่วยจัดการเรื่องหุงหาอาหาร ซักผ้า พาปู่ย่าตายายที่ป่วยไปพบแพทย์ รวมถึงหากเริ่มทำงานมีรายได้แล้ว ก็จะส่งเงินส่วนหนึ่งกลับมาช่วยจุนเจือครอบครัวเช่นกัน
“เขาเก่งนะ ไปหาปลา แกงส้มได้อะไรก็ได้ ใครจ้างเขาทำอะไรเขาก็ไปขุดมันปลูกกล้วยอะไรอย่างนี้ ได้ก็เอามาให้แม่ (หลานเรียกยายว่าแม่) เขาให้มา 40, 30 เขาก็เอามาให้เรา เราก็เก็บเอาไว้ซื้อให้เขากินอีกต่อหนึ่ง” กลุ่มตัวอย่างอีกรายจาก จ.กาญจนบุรี ระบุ
และถึงแม้จะใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก “อดบ้างอิ่มบ้าง” แต่กลุ่มตัวอย่างกลับรู้สึก “มีความสุข” เพราะการได้เลี้ยงหลาน ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่รู้สึก “เหงา” จนเกินไป นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยังได้เชื่อม “คนสามวัย” เข้าด้วยกัน เช่น ผู้เป็นหลานแนะนำให้พ่อแม่ของตน ติดต่อกลับมาหาปู่ย่าตายายบ่อยๆ ผ่านโทรศัพท์ เป็นต้น
“มีหลานก็ดีอย่าง มันบอกแม่อย่าให้ยายโทร.ไป แม่ต้องโทร.มาแม่กินข้าวหรือยัง? กินกับอะไร? อย่างนั้นอย่างนี้ก็พูดไป เราก็ได้ติดต่อกับลูกบ่อยขึ้น ก็เพราะหลานนี่แหละ” คุณยายชาวขอนแก่น กล่าว
แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าในระยะยาวควรทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมืองใหญ่ แต่ก็ได้ฝากข้อเสนอแนะไว้กับผู้เกี่ยวข้อง 2 กลุ่มคือ ภาครัฐ ควรหามาตรการแบ่งเบาภาระของปู่ย่าตายายเหล่านี้ เช่น การสนับสนุนเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องเลี้ยงดูหลาน กับ พ่อแม่เด็กเองที่ต้องมีสำนึกรับผิดชอบ ด้วยการส่งเงินกลับไปให้ผู้สูงอายุเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านค่าใช้จ่าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี